|
|
รายงานการเมือง
หลังเหตุระเบิดสังหารที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจากฝ่ายตำรวจถึงการสืบสวนสอบสวนเหตุคนร้ายยิงถล่ม และระเบิดเข้าใส่เวทีปราศรัยของ กปปส.ที่ จ.ตราด และเหตุลอบวางระเบิดที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ ที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็กสองพี่น้องเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา
เสียงประณามสาปแช่งผู้วางแผนสั่งการและผู้ก่อเหตุทั้ง 2 เหตุการณ์ดังขึ้นไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสุดท้ายตำรวจก็ยากที่จะสอบสวนหาคนผิดมาลงโทษได้
ความรุนแรงคงไม่หยุดแค่นี้ การสร้างสถานการณ์รุนแรงเพื่อให้เกิดความสูญเสียของขี้ข้าทักษิณคงยังดำเนินต่อไป คืนวันจันทร์ที่ผ่านมามีการระดมยิงปืน และระเบิดเข้าไปยังเวทีลุมพินีสนั่นตั้งแต่ช่วงดึกถึงใกล้รุ่งสาง เคราะห์ดีไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ตำรวจยังปล่อยให้คนร้ายหลบหนีไปได้เหมือนเดิม
เป็นเหตุที่บอกว่า การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.จะทวีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามออกข่าวขอเจรจา แต่อีกด้านก็ไม่หยุดทำร้ายประชาชน หรือหากมีความต้องการจะเจรจาจริงคงไม่เป็นผล เพราะความสูญเสียมากขนาดนี้ ยากที่แกนนำ กปปส.จะหักหลังประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม พบว่าฝ่ายรัฐบาลดิ้นสู้หลายกระบวนท่าเพื่อหวังให้ กปปส.ยุติการเคลื่อนไหวให้ได้ เช่น การขอให้อัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการออกข้อห้ามต่างๆ ออกมา 9 ข้อ จนทำให้ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ไปไม่เป็น ในการจัดการกับ กปปส. โดยเตรียมจะยื่นอุทรธรณ์ในสัปดาห์นี้ ด้วยการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ อีกทั้งผู้ชุมนุม กปปส.ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวที่เป็นการกระทำความผิดกฎหมายหลายเหตุการณ์ ต้องดูว่าการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งดังกล่าว ศาลจะว่าอย่างไร
ขณะเดียวกันก็น่าสนใจไม่น้อยกับข้อเสนอของว่าที่ ส.ส.เพื่อไทย-อดีต ส.ส.เพื่อไทยบางคน อย่างเช่น อำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเสนอให้รัฐบาลมีการประกาศกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรค 2 ที่ระบุว่า
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก จึงเป็นอำนาจของ ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ที่จะหารือร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ เพื่อใช้ประกาศกฎอัยการศึก
เหตุที่พวกเพื่อไทยเสนอให้ใช้ “กฎอัยการศึก” ย่อมมีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้นหวังผลเลิศแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้หลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงที่สะพานผ่านฟ้าฯ ช่วงสายวันที่ 18 ก.พ. ที่มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก ตัว พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ก็ยังให้ความเห็นไว้ว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีการประกาศกฎอัยการศึก เพราะต่างฝ่ายต่างได้ถอยกลับเข้าสู่ที่ตั้งแล้ว และอยากให้มีการเจรจากันมากกว่า
ท่าทีของผู้นำเหล่าทัพที่ไม่ต้องการให้ทหารไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการควบคุมการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ที่สุ่มเสี่ยงอาจมีการร้องขอให้ทำร้ายประชาชนได้ แต่ อำนวย คลังผา ก็ยังจะมาเสนอแนวคิดใช้กฎอัยการศึกเข้ามาอีก
จึงเห็นได้ชัดว่านักการเมืองเพื่อไทยมีเจตนาต้องการดึงทหารมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จัดการกับ กปปส. เพราะรู้กันดีว่ากำลังคนและศักยภาพของกองทัพเหนือกว่าตำรวจมาก และคงเห็นแล้วว่า ก่อนหน้านี้ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากทหารเท่าใดนัก
แต่หากใช้กฎอัยการศึกที่มีศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ และให้อำนาจทหารไว้สูงสุดเหนือกว่าฝ่ายพลเรือนในพื้นที่ ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการตรวจค้น หรือเข้ายึดสถานที่ หรือขับไล่คนออกจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง อำนายในการการระงับ ปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเมื่อทหารออกปฏิบัติการข้าราชการฝ่ายพลเรือนทุกฝ่ายต้องปฎิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
อำนาจของทหารภายใต้กฎอัยการศึกเหล่านี้ หากมีการประกาศใช้กันจริงคงทำให้ฝ่ายทักษิณต้องการให้ทหารเป็นผู้จัดการกับ กปปส.โดยที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ออกคำสั่งอีกทอดหนึ่ง
แต่ดูแล้ว ผู้นำเหล่าทัพก็คงค้านสุดตัว ด้วยมองว่าแม้สถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นทุกที แต่ก็ยังน่าจะพอมีทางออกได้โดยไม่ต้องใช้กฎอัยการศึก ที่จะทำให้ทหารต้องออกมาเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชน จนสถานการณ์ยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก
น่าคิดว่า เหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ฝ่ายที่ลงมือนอกจากสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นการประท้วงไม่พอใจคำสั่งศาลแพ่ง ที่ทำหมัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสร้างเหตุรุนแรงเพื่อให้การยื่นอุทธรณ์ของ ศรส. มีน้ำหนักมากพอ ในการให้ยกเลิกข้อห้ามของศาลแพ่งแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้สร้างเหตุรุนแรง ก็อาจทำเพื่อให้ รัฐบาลมีความชอบธรรมพอในการกดดันให้ทหารยอมเอาด้วยกับการใช้กฎอัยการศึก
ล่าสุด มีท่าทีอันสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่อ่านแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนของกองทัพบก ต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา อันเป็นการชี้แจงในนามของ ผบ.ทบ. และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เป็นห่วงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทางกองทัพบกไม่ได้นิ่งนอนใจมีการประสานไปยังนายกรัฐมนตรี-ผบ.ตร.-ศรส. และทุกกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงหาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว และอ้างว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่จะมีส่วนกับการชุมนุมในปี 2553 และเห็นว่าการใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบคลี่คลายสถานการณ์ ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ควรใช้วิธีให้ทุกกลุ่มมาพูดคุยกันจะดีที่สุด
เมื่อดูจากคำแถลงดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าหากมีการเสนอจากฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้มีการใช้กฎอัยการศึก กองทัพคงไม่เล่นด้วย
นั่นหมายถึงว่า สถานการณ์ต่อจากนี้การขับเคี่ยวระหว่าง กปปส.กับรัฐบาลเพื่อไทย ก็คงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น เพราะฝ่าย ยิ่งลักษณ์ก็แสดงท่าทีชัดผ่านเฟซบุ๊ก “Yingluck Shinawatra” เมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังไง ก็ไม่ลาออก จะอยู่ในตำแหน่งจนถึงที่สุด อย่างบางประโยค ดังนี้
“การที่หลายคนออกมาเรียกร้องให้ดิฉันลาออก จึงอยากถามกลับไปว่า การลาออกคือคำตอบหรือ เพราะถ้าดิฉันลาออกเพื่อเปิดทางให้เกิดสูญญากาศ ฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตยจะทำได้อย่างไร ดิฉันในฐานะประชาชนและผู้นำรัฐบาลต้องรักษาประชาธิปไตย ประคับประคองไปให้ถึงรัฐบาลใหม่แม้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ดิฉันขอทำหน้าที่ของตนเองจนถึงนาทีสุดท้าย”
เมื่อยิ่งลักษณ์ยังไงก็ไม่ลาออก ผู้นำเหล่าทัพอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ปัดความรับผิดชอบใดๆ ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติรอบด้านในตอนนี้ทั้งมีการใช้กองกำลังติดอาวุธออกมาเข่นฆ่าประชาชนและสมุนของทักษิณยังประกาศจะแยกประเทศ การจาบจ้วงสถาบันสูงสุดยังโหมหนักไม่ลดละแต่ทหารอย่างพลเอกประยุทธ์ยังไม่รู้สึก
ขณะที่ กปปส.ก็ยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้ของตัวเองอย่างมั่นคงส่วนฝ่ายคิดชั่วจ้องจะลอบทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็กำลังลงมือปฏิบัติการต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนจะยกพวกมาเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนในกรุงเทพฯ หากยังไม่เลิกชุมนุม
สถานการณ์จึงจะรุนแรงต่อไป มองเห็นความพินาศย่อยยับของชาติบ้านเมืองกำลังรออยู่ไม่ไกล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น