วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อหมดความไว้วางใจ 19 February, 2014

เมื่อหมดความไว้วางใจ19 February, 2014 


 ปฏิกิริยาที่ก่อเกิดกับธนาคารออมสิน และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นภาวะหมดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างสิ้นเชิง โดยในส่วนของธนาคารออมสินดูได้จากการที่ลูกค้าแห่มาถอนเงินฝากจนถึงขั้นปิดบัญชี รวมถึงการไถ่ถอนสลากออมสินที่ซื้อไว้ ส่วนของกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็สะท้อนอย่างชัดเจนจากกรณีชาวนาที่ขว้างปาสิ่งและขวดน้ำใส่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาชี้แจงถึงการจ่ายเงินค่าข้าวให้แก่ชาวนาที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จนเจ้าตัวต้องรีบแจ้นหลบเข้าไปในสำนักงาน
    กรณีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของธนาคารออมสินที่เพิ่งมีอายุครบ 100 ปีมาหมาดๆ เมื่อปี 2556 นั้น ต้องบอกว่าเกิดขึ้นเพราะการกระทำนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่สวนทางกับการชี้แจงก็ไม่ผิดเท่าใดนัก เพราะคราแรกที่เกิดข่าวว่าธนาคารออมสินจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาการขาดเงินในโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดที่อุดมไปด้วยคอร์รัปชันนั้น ทำให้มวลมหาชนประชาชน กปปส.ได้ไปล้อมสำนักงาน ขณะที่พนักงานธนาคารออมสินเองก็รวมตัวต่อต้าน นายวรวิทย์ถึงกับออกมาเจรจาและยืนยันอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าจะไม่ไปข้องเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวไม่ว่าทางตรงและทางอ้อมอย่างเด็ดขาด
    แต่คล้อยหลังไม่ถึง 1-2 สัปดาห์ดี นายวรวิทย์กลับอนุมัติสินเชื่ออินเตอร์แบงก์ให้กับ ธ.ก.ส.ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นก้อน ก้อนละ 5,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าไม่รู้ว่า ธ.ก.ส.จะนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว! ทั้งที่เป็นเวลาที่สอดคล้องกับกรณีรัฐบาลประกาศจะเริ่มจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนาเป็นวันแรกในวันที่ 17 ก.พ. และหากพินิจถึงความเป็นจริงที่ ธ.ก.ส.ยืนยันถึงสภาพคล่องที่มีมากกว่า 1.8 แสนล้านบาทมาโดยตลอด จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ ธ.ก.ส.จะกู้เงินมาเสียดอกเบี้ยเปล่าๆ 2.7% ทำไม หากไม่ใช้ในโครงการดังกล่าว ดังนั้นข้ออ้างของนายวรวิทย์ที่บอกไม่รู้ว่า ธ.ก.ส.จะนำไปใช้อะไรจึงเหมือนปัดสวะให้พ้นตัวแบบน้ำขุ่นๆ แต่อย่างน้อยนายวรวิทย์ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งให้มีผลใน 30 วัน แต่ยังยืนยันว่าการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย!!!
การปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์นั้นไม่มีใครบอกว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นธุรกรรมที่ธนาคารสามารถดำเนินการได้ แต่หากได้ฟังนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงหลักการปล่อยกู้ใน 3 ด้าน คือ 1.ถูกกฎหมายหรือไม่ 2.มีความชัดเจนโปร่งใสหรือไม่ และ 3.มีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะการที่รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้เกษตรกร ในทางบัญชีถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ก็น่าเป็นสารัตถะสำคัญให้นายวรวิทย์ได้ตะหนักรับรู้ มิเช่นนั้นเขาจะบอกหรือว่าได้คิดมาแล้ว 2-3 วันในการขอลาออก
    สวนทางด้านรัฐบาลนั้น ต้องยอมรับว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของสังคม รวมถึงชาวนานั้นหมดสิ้นตั้งแต่การปกปิดตัวเลขการขาดทุนของโครงการ ตลอดจนถึงการอ้างชั้นความลับในการเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมถึงการให้รัฐมนตรีที่ยอมรับหน้าตาเฉยว่าพูดโกหกสีขาวมาเป็นตัวหลักในการดูแลโครงการ ก็ยิ่งตอกย้ำความศรัทธาและน่าเชื่อถือของรัฐนาวา น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เสื่อมลงโดยเร็ว
    ที่สำคัญมิใช่มีเพียงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นตัวเร่งเร้าให้สังคมหมดความน่าเชื่อถือ แต่รวมไปถึงเครือข่ายหรือแขนขารัฐบาลอย่างกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการกล่าวหาชาวนาที่มาเรียกร้องเงินค่าข้าวว่าเป็นชาวนาตัวปลอม ทั้งที่รัฐบาลเองก็ประกาศปาวๆ ว่ายังคงค้างเงินชาวนาอยู่ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากนำมาคำนวณกลับเป็นตัวเลขของชาวนา ก็จะทำมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินในระดับหมื่นถึงแสนรายเลยทีเดียว ฉะนั้นการใส่ร้ายป้ายสีกระดูกสันหลังว่าเป็นตัวปลอม ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้าความหมดศรัทธาให้เพิ่มขึ้น
    นี่ยังไม่นับรวมถึงการใช้ช่วงเวลาหนึ่งในการหาแพะรับบาปอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาเป็นหนังหน้าไฟ ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชาวนา แต่เมื่อผลสรุปออกมาชัดเจนว่าไม่เกี่ยว รัฐบาลก็ยังไพล่ไปโทษ กปปส.ขาประจำหลักตามเดิม โดยมิพักได้สำรวจตรวจดูตัวเองเลยว่าเป็นต้นตอของปัญหามาตั้งแต่ต้น หากมีการเตรียมความพร้อมอย่างดีเพียงพอและไม่มีคอร์รัปชันในโครงการ?
    ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วยเสียงสั่นเครือ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการโทษกลุ่ม กปปส.เป็นด้านหลัก รวมทั้งยังผนวกไปถึงว่าเป็นเกมการเมืองที่จ้องล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยจับชาวนาเป็นตัวประกัน เรียกว่าเป็นการแถลงสร้างความชอบธรรมโดยแทบมิได้เอ่ยอ้างถึงการโกงและทุจริตในโครงการแต่ประการใด ที่สำคัญเป็นการบิดเบือนอย่างไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะข้ออ้างใช้ชาวนาเป็นตัวประกัน เพราะใครกันที่พยายามยื้อเรื่องการค้างจ่ายเงินมาอย่างต่อเนื่อง และมีการโหมประโคมว่าจะได้รับเงินหลังเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. แต่พอเอาเข้าจริงก็เป็นเพียงน้ำคำหลอกล่อไปวันๆ จึงกลายเป็นที่มาของความเดือดดาลของชาวนาในปัจจุบัน
    และยิ่งตอกย้ำได้อย่างดีจากมติของ ป.ป.ช.ล่าสุดที่เอกฉันท์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับทราบข้อกล่าวหากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยได้ยกคำท้วงติงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจาก ป.ป.ช., การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร, คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับดื้อตาใสที่จะเดินหน้าโครงการ เพียงเพราะ “ทักษิณคิด น้องสาวจึงต้องทำ” ฉะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลจึงปฏิเสธผลกรรมที่ตัวเองก่อขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะบาปที่ทำแก่กระดูกสันหลังของชาติซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวให้ทุกผู้ตัวคนได้มีชีวิตอยู่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น