|
ผู้ประท้วงหลายร้อยคนยกพลไปชุมนุมกันบริเวณด้านหน้าอาคารชินวัตร 3 ในกรุงเทพฯ อันเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทเอสซี แอสเสท |
|
|
รอยเตอร์ - สื่อต่างประเทศรายงานหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ดิ่งลงแรงในวันพฤหัสบดี (20) หลังจากผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เชิญชวนคว่ำบาตรสินค้าและการบริการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นถนนในเมืองหลวง และกดดันจนต้องปิดหน่วยงานราชการต่างๆ ได้สร้างความอ่อนแอแก่รัฐบาล และเวลานี้ผู้ประท้วงได้หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุู๊กเล่นงานผลประโยชน์ทางธุรกิจของนางสาวยิ่งลักษณ์และทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของเธอ หรือแม้แต่บริษัทที่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลนี้แล้วก็ตาม รายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันสำคัญของตระกูลชินวัตร และเอ็ม-ลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น บริษัทนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารและโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือสองบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ด้วยแค่ช่วง 2 วันที่ผ่านมา หุ้นร่วงไปแล้วเกือบร้อยละ 10 รอยเตอร์ให้ข้อมูลว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ เคยนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอสซี แอสเสท ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมืองและก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะศึกเลือกตั้งในปี 2011 ขณะที่เว็บไซต์ของเอสซี แอสเสท ระบุว่าตระกูลชินวัตรถือครองหุ้นของเอสซี แอสเสท อยู่ราวๆ 60 เปอร์เซ็นต์ นอกจากการรณรงค์คว่ำบาตรทางออนไลน์แล้ว รอยเตอร์บอกด้วยว่าในวันพฤหัสบดี(20) มีผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคนยกพลไปชุมนุมกันบริเวณด้านหน้าอาคารชินวัตร 3 ในกรุงเทพฯ อันเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท เอสซี แอสเสท สื่อมวลชนระดับโลกแห่งนี้ระบุต่อไปว่าในส่วนของ เอ็ม-ลิงค์ นั้น มีความเชื่อมโยงกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวคนรองของทักษิณ และภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงสั้นๆ ในปี 2008 ช่วงที่พันธมิตรของทักษิณอยู่ในอำนาจ ขณะที่ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร เป็นคู่สมรสของยิ่งลักษณ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานของเอ็ม-ลิงค์ หลังจากเธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทบอกว่าครอบครัววงศ์สวัสดิ์ มีหุ้นอยู่ในบริษัท เอ็ม-ลิงค์ อยู่ 28.6 เปอร์เซ็นต์ นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า “มันส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในระยะสั้น เอสซี แอสเสท ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะตระกูลชินวัตรถือครองบริษัทนี้โดยตรง” ส่วนของหุ้นตัวอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในนั้นรวมถึงชินคอร์ป ที่ ทักษิณ เป็นผู้ก่อตั้งก่อนที่เขาจะผันตัวเองเข้าสู่การเมือง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเอไอเอสและไทยคม จำกัด โดยรอยเตอร์รายงานว่าหุ้นของชินคอร์ป ปรับลดร้อยละ 1.7 เอไอเอส ลดลงร้อยละ 2.8 และไทยคม ลดลงร้อยละ 1.9 รายงานของรอยเตอร์ให้ข้อมูลเสริมอีกว่าการขายหุ้นชินคอร์ปแก่เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ ของตระกูลชินวัตรในปี 2006 และแนวทางข้อตกลงที่ไม่เสียภาษี จุดชนวนเสียงต่อต้านอย่างหนักหน่วงต่อทักษิณ ณ เวลานั้น และลงเอยด้วยการที่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของเขาในปีเดียวกัน ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ทักษิณ ก็หนีไปพำนักอยู่ในต่างแดนเพื่อหลบหลีกโทษจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ แรงต่อต้านบนโลกสังคมออนไลน์ ถึงขั้นทำให้ นางวิไล เคียงประดู่ โฆษกของชินคอร์ปต้องออกมาชี้แจงผ่านถ้อยแถลงว่าบริษัทไม่มีความเกี่ยงข้องกับตระกูลชินวัตร “บริษัทไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่ได้มีหุ้นในบริษัทของเราอีกต่อไปแล้ว” รอยเตอร์ระบุว่าในบัญชีคว่ำบาตรของผู้ประท้วงมีรายชื่อบริษัทและสถาบันต่างๆมากกว่า 40 แห่ง ไล่ตั้งแต่มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สนามกอล์ฟ ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า หนึ่งในนั้นได้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ต้องรุดออกมาชี้แจงว่าไม่มีคนในตระกูลชินวัตรถือหุ้นอยู่ และทางธนาคารมีไอเอ็นจีแบงก์ แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมยืนยันว่าทางธนาคารทหารไทยมีการกำกับดูแลกิจการและการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนมีการตรวจสอบที่ดี |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น