วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จุฬาฯเตือน‘แกมี’จมกรุง เมื่อ 4 ต.ค.55


 “พายุแกมี” ถล่มไทยก่อนกำหนด เข้า 5 ต.ค.นี้ “อีสาน-ตะวันออก” รับหน้าเสื่อก่อนเพื่อน อาจารย์จุฬาฯ ชี้ฝั่ง “ตอ.-ตต.” เสี่ยงท่วมขัง 30 ซม.ใน 2 สัปดาห์! ทั้ง “คลองสองวา-สามวา-เพชรเกษม-บางแค” ไม่รอด “กองทัพ-ปภ.-กทม.” ยันความพร้อมดูแล “ธีระ” ชี้พระพิรุณเตรียมซ้ำอีกช่วง 20 ต.ค. 
เมื่อวันพุธ มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในการเตรียมความพร้อมรับพายุโซนร้อนแกมี โดยเฉพาะล่าสุดได้ปรับการเคลื่อนไหวของพายุแกมีที่จะเข้าสู่เวียดนามและไทยเร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเข้าเวียดนามในวันที่ 6 ต.ค. เวลาประมาณ 15.00 น. ปรับเป็นเข้าเวียดนามในวันที่ 5 ต.ค. เวลา 08.00 น. และเข้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือไทยของไทยในวันที่ 5 ต.ค. เวลา 20.00 น. จากเดิมที่คาดว่าเข้าไทยในวันที่ 7 ต.ค.เวลาประมาณ 03.00 น.
         นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมื่อพายุโซนร้อนแกมีเข้าสู่เวียดนามแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และเคลื่อนเข้าไทย ในพื้นที่ตอนกลางของอีสาน,เหนือตอนล่าง, กลาง และตะวันออก ก่อนจะเคลื่อนออกจากไทยในวันที่ 7-8 ต.ค. และยังมีโอกาสที่พายุลูกอื่นจะพัดเข้าไทยเพิ่มขึ้นอีกในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่องพายุแกมี ฉบับที่ 10 ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 ต.ค. พายุโซนร้อนแกมีบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 950 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองดานัง เวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.3 องศาเหนือ และลองจิจูด 117.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 95 กม./ชม. โดยเคลื่อนตัวทางทิศใต้อย่างช้าๆ และยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทยในระยะนี้ คาดว่าพายุจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของเวียดนามช่วงวันที่ 5-6 ต.ค. จากนั้นจะเคลื่อนผ่านภาคอีสานตอนล่างและกลางของไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 5-8 ต.ค. ไทยจะมีฝนหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ กับมีลมแรง โดยเริ่มในภาคอีสาน และตะวันออกก่อน จากนั้นภาคเหนือตอนล่าง, กลาง และใต้ฝั่งตะวันตก จะได้ผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะอากาศเลวร้ายในช่วงวัน-เวลาดังกล่าว 
ในขณะที่ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้แถลงข่าวถึงเรื่องสถานการณ์น้ำและภัยธรรมชาติว่า ไม่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง แต่จะได้รับอิทธิพลทางอ้อม ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทางภาคอีสานตอนกลางและล่าง โดยจังหวัดที่มีผลกระทบและน่าเป็นห่วงคือชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผลกระทบอยู่เดิม 
แนะตั้งแต่ 4 ต.ค.ให้ระวัง
“กทม.เตรียมการรับมือ และน่าจะสามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งนายกฯ ได้ส่งเรือผลักดันน้ำเพิ่มในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ช่วยในการผลักดันน้ำลงสู่อ่าวไทยเร็วขึ้น และในวันที่ 5-15 ต.ค.นั้น ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ทำให้การผลักดันน้ำลงสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ดี” น.อ.สมศักดิ์กล่าว และว่า ขอเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและล่างให้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.อย่างต่อเนื่อง และขอเตือนประชาชนในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด กระบี่ ระนอง พังงา ภูเก็ต ที่เป็นพื้นที่เปราะบางให้เพิ่มความระมัดระวัง 
ส่วนนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ และยังมีพายุก่อตัวอีกลูกในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะใช้ชื่อของไทยที่ตั้งไว้คือพระพิรุณ ซึ่งถ้ามาไทยจะกระทบในช่วงวันที่ 20 ต.ค. คาดว่าจะเข้าแนวเดิมคือ ภาคอีสานตอนล่าง, ตะวันออก, กลาง และใต้ตอนบน 
“ที่น่ากังวลคือเขื่อนในภาคตะวันออก ทั้งอ่างเก็บน้ำประแส และอ่างเก็บน้ำบางพระที่มีปริมาณน้ำในระดับที่สูง ซึ่งได้ให้ชะลอการปล่อยน้ำจากเขื่อนขุนด่านฯ และเขื่อนป่าสักฯ น้อยลง เพราะทั้งสองเขื่อนนี้ยังสามารถรองน้ำได้อีกมาก ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่ท่วมปกติ ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่นั้น ได้มอบนโยบายให้กรมชลฯ เร่งสูบน้ำออก เพื่อระบายน้ำให้ออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด และได้เน้นย้ำไม่ให้มีการระบายน้ำเข้าทุ่ง”
เปิดจุดเสี่ยง กทม.จม
ด้านนายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ต้องเฝ้าจับตาปริมาณฝนในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ให้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีปริมาณมากขึ้น และพายุโซนร้อนแกมีมีแนวโน้มพัดผ่านเข้ามายัง กทม.โดยตรง และจากการศึกษาพบว่าขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ทำให้ กทม.เสี่ยงที่จะมีปริมาณน้ำท่วมขัง เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน โดยบริเวณที่เสี่ยงได้แก่ บริเวณคลองสองวาและคลองสามวา รวมถึงฝั่งตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ติดคลองจระเข้ใหญ่ และคลองบางโฉลง ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกนั้น คือ บริเวณบางแค และ ถ.เพชรเกษม โดยใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าน่าจะมีน้ำขังอย่างแน่นอน 
“พื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นจุดรับน้ำฝนแล้ว ยังจะมีน้ำจากบริเวณ อ.บางเลน จ.นครปฐม เข้ามาสมทบ และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำลงคลองภาษีเจริญได้ทัน ทั้งนี้ระดับน้ำอาจท่วมขังในระดับ 30 ซม. เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ กทม.อาจต้องเพิ่มปั๊ม เครื่องผลักดันน้ำจากบริเวณด้านเหนือและคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ลงสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเพียง ส่วนด้านตะวันตกนั้นต้องเร่งระบายน้ำลงคลองภาษีเจริญ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วที่สุด แต่น้ำคงไม่ท่วมสูงเท่าปี 2554 ที่ผ่านมา” นายสุจริตกล่าว
        นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่า กทม.จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุแกมี ซึ่งคาดว่าอีก 2 วันจะรู้แน่นอน โดย กทม.ได้เร่งพร่องน้ำในคลองต่างๆ ให้รองรับปริมาณน้ำฝนไว้แล้ว แต่ยังมีผลกระทบที่ควบคุมไม่ได้ จากกรณีชาวบ้านบริเวณประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ประท้วงให้เปิดบานประตูเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำในคลองลาดพร้าวมีระดับที่สูงขึ้น และยังระบายน้ำเข้าสู่อุโมงค์ยักษ์ไม่ทัน โดยจุดนี้น่าเป็นห่วงว่าหากฝนตกหนักมาก ปริมาณน้ำในคลองลาดพร้าวอาจเพิ่มสูงขึ้นจนระบายน้ำได้ไม่ทัน
ทุกหน่วยพร้อมรับแกมี
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับพายุแกมีนั้น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่า กองทัพได้เตรียมรับมือและติดตามสถานการณ์แล้ว เพราะเราถือเป็นลูกมือของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. หากฝนเริ่มตกหนัก เราจะให้ทหารออกมาปฏิบัติหน้าที่ทันที เช่นเดียวกับในต่างจังหวัด ซึ่งนายกฯ ก็ได้กำชับกองทัพให้ดูแลเรื่องพายุแกมีด้วย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้แจ้งไปยังจังหวัดที่มีความเสี่ยงให้ติดตามการเตือนภัยของกรมอุตุฯ และสั่งการเชิงนโยบายให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงหรือมีแนวโน้มพายุจะพาดผ่าน โดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่างและตะวันออกให้สำรวจจุดเสี่ยงภัย และเตรียมเตือนภัยทางเรือ จุดที่มีโอกาสเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 
     นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เผยว่า กรมได้เร่งระบายน้ำช่วย กทม.ฝั่งตะวันออกได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง จึงจำเป็นต้องมีหนังสือถึง กบอ.ให้ออกเป็นคำสั่ง โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน เพื่อให้กรมสามารถเดินเครื่องสูบน้ำฝั่งตะวันออกของ กทม.ไปออกยังแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำนครนายกได้มากกว่านี้ เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะมากับพายุลูกใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ได้
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะ กบอ. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้น้ำเริ่มลดลง จึงไม่น่าห่วงอะไรมาก แต่ที่น่าห่วงคือ กทม.ดูกังวลในการเปิดประตูน้ำ โดยพูดว่าถ้าน้ำมีมากถึงจะยกบานน้ำขึ้นอีก ก็ไม่รู้ว่ายกตอนนี้จะเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องไปรอ 
ส่วนปัญหาเรื่องการทางเงินเยียวยาที่ ปภ.ได้ทวงเงิน 753 ล้านบาทจาก กทม.นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า อย่าพยายามสร้างประเด็นทางการเมือง ขอให้ทุกอย่างเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจะดีที่สุด  
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก  รองโฆษก ครม.เงา กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่สบายใจที่กระทรวงมหาดไทยทวงเงิน 753 ล้านบาทจาก กทม.ทั้งที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับ กทม. 1.1 พันล้านบาทเพื่อนำไปเยียวยาประชาชน 
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.ในฐานะโฆษก ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการประชุม ครม.เงา ว่า ที่ประชุมกังวลใจเกี่ยวกับการทำงานของ กทม. ซึ่งเห็นว่า กทม.จำเป็นต้องประสานงานกับตำรวจนครบาลมากกว่านี้ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเฉพาะช่วงฝนตกที่ทำให้รถติด โดยอยากให้ตั้งอาสาจราจร.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น