|
|
เปิด10เมนู'ยอดฮิต-อันตราย'หน้าโรงเรียน อาหาร‘ทอด-ปิ้ง-ย่าง’แก้หิวแต่ไร้คุณภาพ จี้แก้ปัญหาจริงจัง-หวั่นสุขภาพเด็กแย่ลง
ข่าวการเสียชีวิตของเด็กหญิงชาว จ.อุดรธานี วัย 15 ปี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จากสาเหตุมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 600 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยครอบครัวระบุว่า เด็กหญิงมักดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ หวังว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก โดยไม่รับประทานอาหารอย่างอื่นเลย แต่ยังคงดื่มน้ำอัดลมและดื่มน้ำเปล่า แทนการรับประทานอาหารชนิดอื่น ทำให้เกิดอาหารปวดศีรษะ อาการทรุดหนักจนเสียชีวิตในที่สุด กลายเป็นประเด็นน่าสนใจขึ้นอีกครั้ง เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย และค่านิยมลดความอ้วน เนื่องจากที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีประชากรเด็กป่วยเป็นโรคอ้วน ที่อยู่ภาวะอันตรายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน
แม้จะมีรายงานหลายชิ้นยืนยันตรงกัน หากกลับไปสำรวจข้อมูลการเคลื่อนไหว ต่อการแก้ไขปัญหานี้ พบว่า การแก้ปัญหายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็ก ๆ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป เด็กไทยยังคงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไร้ประโยชน์อยู่เช่นเดิม ทั้งในประเภทอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารมีรสหวานจัด เค็มจัด หรือ ขนมกรุบกรอบ โดยสังเกตได้จากสินค้าที่วางขายอยู่ในร้านค้าทั้งด้านหน้าและหลังโรงเรียน ที่ยังพบขนมไร้ประโยชน์อยู่มากมาย และเมื่อสำรวจพบว่ามีถึง 10 เมนูยอดนิยม
|
|
10 เมนูอันตรายยอดนิยมหน้าโรงเรียน
อันดับที่ 1 ชานมไข่มุก ที่วางขายในราคาเพียงแก้วละ 10 บาท ภายในบรรจุเม็ดไข่มุก หรือแป้งเม็ดกลมเคี้ยวหนึบ ใส่มาในน้ำนมชาชนิดต่าง ๆ รสชาติหวานเย็น ดึงดูดเด็ก ๆ ให้ซื้อรับประทาน นับเป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีทั้งปริมาณนมและน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก ที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง และสามารถพบบริเวณร้านค้าหน้าโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียน
อันดับที่ 2 ขนมโตเกียว เป็นขนมยอดฮิตที่มีมาเป็นเวลานาน และยังคงได้รับความนิยมซื้อหามารับประทานของเด็กนักเรียน เป็นอาหารที่มีเพียงแป้ง และไส้ภายในที่ใส่ไข่นกกะทา, ไข่ไก่, ไส้กรอก, หมูสับ, ไส้ครีม, เผือก หรือครีมหวาน วางขายให้เด็ก ๆ
อันดับที่ 3 ทาโกะยากิ หรือ ขนมครกญี่ปุ่น ที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นแป้ง ผสมกับหนวดปลาหมึก และราดด้วยมายองเนส มีผักชิ้นเล็ก ๆ ผสมอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อันดับที่ 4 ซูชิ ราคาประหยัด อาหารประเภทนี้ ถือว่าไม่ดูอันตรายมากนัก หากเลือกหน้าที่มีประโยชน์ และร้านที่สะอาด เป็นเมนูอันดับ 4 ที่เด็ก ๆ นิยมซื้อรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติถูกปากแล้ว ยังเป็นอาหารง่าย ๆ ที่อิ่มท้องด้วย
ครบทุกรูปแบบ-ทอดปิ้งย่างยำ
อันดับที่ 5 ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ ที่เด็ก ๆ เรียกว่า “ยำมาม่า” นับเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เมนูอื่น ๆ เนื่องจากมีรสชาติจัดจ้านแบบไทย ๆ แต่ถือว่าเป็นเมนูที่มีประโยชน์ทางร่างกายน้อยที่สุด เพราะนอกจากผงชูรสที่มีอยู่จำนวนมากแล้ว ร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่นิยมใส่ผักให้กับเด็ก ๆ ดังนั้น สิ่งที่มีในอาหารจานนี้ จึงมีเพียง แป้ง น้ำตาล และปริมาณเกลือจากน้ำปลา มีเนื้อสัตว์ประเภท หมูสับ และอาหารทะเลบางชนิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อันดับที่ 6 เครป เป็นเมนูของว่างที่ประกอบด้วยแป้งเป็นหลัก ตามด้วยไส้ที่มีให้เลือกทั้งประเภทคาวและหวาน ซึ่งจะไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะชนิดหวาน ที่ส่วนใหญ่ร้านค้าจะมีขนมสีสดใส ประเภท เยลลี่ วุ้น หรือเม็ดน้ำตาลสี ไว้เรียกลูกค้าด้วย
อันดับที่ 7 ลูกชิ้นทอด-ปิ้ง ส่วนใหญ่แม้จะขึ้นชื่อว่าลูกชิ้นที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกชิ้นหน้าโรงเรียนล้วนมีส่วนผสมที่มีแป้งเป็นหลัก มากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้น คุณค่าที่เป็นโปรตีนจึงมีน้อยมาก นอกจากนี้วิธีการปรุงด้วยการปิ้ง หรือทอด ล้วนเป็นกรรมวิธีทำอาหารที่มีอันตรายอีกด้วย
อันดับที่ 8 มันฝรั่งเกลียวกรอบ เป็นเมนูอาหารว่าง ที่มีผงปรุงรส รสชาติต่าง ๆ ทั้งรสชีส ปาปริก้า พิซซ่า โนริสาหร่าย กระเพรา ฮอตแอนด์สไปซี่ ฯล ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมที่เป็นผงชูรส ที่มีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญเด็ก ๆ บางคนยังขอให้โรยเครื่องปรุงชนิดนี้จำนวนมากอีกด้วย
อันดับที่ 9 ผลไม้รถเข็น แม้ว่าวัตถุดิบหลักจะเป็นผลไม้ ที่มีประโยชน์ เพราะมีวิตามินหลายชนิด แต่บางชนิดก็ต้องระมัดระวังเพราะมีการแช่ส่วนผสมอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สี หรือส่วนผสมที่ทำให้ผลไม้กรอบ ดังนั้นต้องเลือกซื้อผลไม้ที่สดและสะอาดจะดีกว่า
อันดับที่ 10 ขนมปังสังขยา แม้จะเป็นอาหารที่มีพิษภัยน้อย แต่ส่วนผสมส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงคาร์โบไอเดรต และยังมีน้ำตาลสูงอีกด้วย นักเรียนระบุนิยมเพราะหาซื้อง่าย แต่ไม่รู้พิษภัย
เด็กไม่รู้ว่าอาหารหน้าโรงเรียนอันตราย
ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาหารว่างที่เด็กนิยมซื้อรับประทานส่วนใหญ่ มักจะเป็นอาหารที่มีรสชาติค่อนข้างจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด และเป็นอาหารที่ใช้กรรมวิธีในการทำง่าย โดยเฉพาะอาหารชนิดทอด หรือปิ้ง ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีที่ระบุว่า เป็นการประกอบอาหารที่อันตรายต่อสุขภาพกว่าวิธีอื่น ๆ แต่เมื่อสอบถามความคิดเห็นของเด็กนักเรียนที่นิยมซื้ออาหารเหล่านี้รับประทาน ส่วนใหญ่ได้รับคำตอบว่า ไม่ค่อยรู้ถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารเหล่านี้ หรือแม้จะมีการให้ความรู้ในบทเรียนบ้าง แต่เมื่อออกมาตามร้านค้า กลับยังพบอาหารวางขายอยู่ หาซื้อได้ง่ายกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อสุขภาพมากนัก
ในประเด็นนี้ น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เรื่องขนมที่นำมาขายเด็กบริเวณหน้าโรงเรียน เคยมีการพูดถึงเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2554 และมีการรณรงค์และทำข้อมูลปัญหามาโดยตลอด เพราะข้อมูลระบุว่า มักจะมีการนำขนมไร้ประโยชน์ หรือ บางครั้งเป็นขนมปลอมจากชายแดน นำเข้ามาบรรจุถุงขายกระจายออกไปตามร้านค้าหน้าโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากขนมปลอมแล้ว ยังมีอาหารจำพวกของหวาน ของทอด ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก และสถานการณ์กำลังน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง
“เตือนแล้วเตือนอีก อันตรายจากอาหารทอด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตือนอันตรายของอาหารประเภทของทอดทั้ง กล้วยแขก ลูกชิ้นทอด ไก่ทอด ฯลฯ ที่มีหน้าตาน่ารับประทาน และรสชาติกรอบ อร่อย แต่แฝงด้วยอันตรายที่มองไม่เห็นของสารก่อมะเร็ง เพราะน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารทั้งน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์” น.พ.อำพลกล่าว
|
|
น้ำมันทอดซ้ำตัวอันตรายที่คนมักมองข้าม
จากรายงานการวิจัยพบว่า น้ำมันที่ผ่านการทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะมีคุณภาพเสื่อมลง รวมทั้งสี กลิ่น และรสชาติก็จะเปลี่ยนไป นอกจากนี้จะมีความหนืดมากขึ้น ที่สำคัญจะเกิดสารประกอบที่สามารถสะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ได้ ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สามารถก่อให้เกิดเนื้องอกในตับ ปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในหนูทดลอง ขณะเดียวกันยังพบสารcarsinogenesis ที่ก่อให้เกิดมะเร็งบนผิวหนังของมนุษย์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ตับและไตมีขนาดใหญ่ มีการสะสมไขมันในตับ การหลั่งน้ำย่อยทำลายสารพิษในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น และยังมีโอกาสเกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
การบริโภคเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารทอดที่มีกลิ่นเหม็นหืน หรือจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งจะมีลักษณะเหนียว สีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ เวลาทอดมีควันขึ้นมาก แสดงว่าเป็นน้ำมันที่ใช้มานาน ทำให้เกิดควันที่อุณหภูมิต่ำลง
อาการ‘ติดหวาน’อีกอาการที่คุกคามสุขภาพ
ภัยของความหวานน้ำตาลและความหวาน เป็นอีกหนึ่งค่านิยมและพฤติกรรมการบริโภค ที่ผู้ใหญ่สร้างให้กับเด็ก ซึ่งโดยธรรมชาติของวัยชอบความหวานอยู่แล้ว การส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารและขนม โดยมีความหวานเป็นตัวนำ ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้โรคภัยต่าง ๆ คุกคามสุขภาพได้ง่ายขึ้นด้วย และถึงแม้น้ำตาลจะไม่ใช่สารเสพติด แต่การวิจัยก็พบว่า สมองของคนที่กินหวานจนชิน จะมีการตอบสนองแต่น้ำตาลด้วยการหลั่งสารโอปิออยด์ (Opioids) ออกมา ทำให้เกิดความพึงพอใจ และความอยากกินหวาน นักวิทยาศาสตร์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะการพึ่งน้ำตาล (Sugar dependency) หรือ “ติดหวาน” คือต้องการความหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้จะยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลของเด็กไทย แต่จากสภาพการณ์ที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ มิติ บอกเล่าชัดเจนว่า ในปัจจุบันเด็กไทยรุ่นใหม่ มีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลมาก หรือมีอาการ “ติดหวาน” เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เด็กจะยังตกอยู่ท่ามกลางแรงกระตุ้นของการตลาด และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีการกินหวานมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น นม น้ำอัดลม ขนม อาหารสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งยา ก็ล้วนแล้วแต่มีการเติมความหวานในปริมาณมากเกินความจำเป็น เฉพาะแค่โรคฟันผุ และโรคอ้วน ตลอดจนโรคที่ตามมากับความอ้วน มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคน้ำตาลอย่างแน่นอนที่เห็นได้ชัดและเร็วในเด็กที่บริโภคน้ำตาลมาก ๆ มักจะมี ฟันผุ ซึ่งเกิดจากการสูญเสียแร่ธาตุบนตัวฟัน เมื่อมีการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้ง และน้ำตาล แบคทีเรียที่อยู่บริเวณผิวเคลือบฟัน จะย่อยแป้งและน้ำตาล ให้กลายเป็นกรดละลายแร่ธาตุจากตัวฟัน
|
|
ติดหวาน-ไขมัน ต้นเหตุโรคอ้วนในเด็ก
ทั้งนี้พบว่า ความถี่ในการบริโภคเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้เกิดฟันผุ สืบเนื่องจากช่วงห่างระหว่างการบริโภคแต่ละครั้ง ไม่มากพอที่จะทำให้กระบวนการคืนกลับแร่ธาตุเกิดขึ้น ได้สมดุลกับอัตราการสูญเสียเด็กไทยอ้วนเพราะดื่มน้ำหวาน ส่วนโรคอ้วนที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นในวัยเด็ก ถึงแม้ว่าน้ำตาลจะไม่มีแคลอรี่มากกว่าแป้ง หรือโปรตีน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ติดหวาน ก็มักจะติดอาหารที่มีไขมันสูงควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย
นอกจากนี้น้ำตาลยังอยู่ในกลุ่มอาหารที่ทำให้การเผาผลาญในร่างกายช้าลง ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง และเกิดภาวะน้ำหนักเกินข้อมูลจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายวิจัยโรคอ้วนในเด็กพบว่า เด็กที่ดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นอกจากปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มดังกล่าวจะเป็นตัวเพิ่มแคลอรี่แล้ว ยังพบว่า เด็กที่ดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน มีการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่สูง ประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน มากกว่าเด็กที่ไม่ดื่มด้วย
องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า น้ำตาลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน อันนำไปสู่ภาวะโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ และยังระบุว่า โรคอ้วน เป็นปัญหาทางสุขภาพระดับโลก ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนและผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านการแพทย์ล่าสุดยังพบอีกว่า การบริโภคน้ำตาลเป็นหนึ่งในสาเหตุโดยตรง ที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรง และโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่ออีกหลายโรค
ผลไม้รถเข็นไม่สะอาดอย่างที่มองเห็นด้วยตา
นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า ผลไม้รถเข็นมีประโยชน์แต่ไม่สะอาด และยังมีอันตรายที่มองไม่เห็นที่แฝงอยู่ในผลไม้รถเข็น จากตัวอย่างผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 67.3 แสดงว่า ขั้นตอนการเตรียมผลไม้ การจำหน่าย ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้อาหารไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร และพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง ถึงร้อยละ 16.2 และพบการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิค) ร้อยละ 40.7 ในขณะที่ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในผลไม้สด
สำหรับผลไม้แปรรูปพบการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมี ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงร้อยละ 64.2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่งดองบ๊วย ที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนม่วง โดยพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ คิดเป็นร้อยละ 32.1 เช่นเดียวกับการพบการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิค) หลากอันตรายจากผลไม้รถเข็น
|
|
สารปนเปื้อนบางชนิดอันตรายถึงชีวิต
การปนเปื้อนของจุลินทรีย์และสารเคมีที่ตรวจพบในผลไม้รถเข็นนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ดังนี้ 1.อันตรายจากการปนเปื้อนของโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้จุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรค มีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาเจียน เวียนศีรษะ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
2.อันตรายจากการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ มีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร เพราะสีสังเคราะห์ที่ได้รับจะเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ขัดขวางการดูดซึมอาหาร เกิดอาการท้องเสีย และหากได้รับเป็นประจำ จะทำให้น้ำหนักตัวลด ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และร่างกายไม่เจริญเติบโต
3.อันตรายจากการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิค) มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้อาเจียน หูอื้อ มีไข้ และอาจถึงตายได้ หากร่างกายได้รับกรดซาลิซิลิค จนมีความเข้มข้นของสารในเลือดถึง 20-35 มิลลิกรัม/เลือด 100 มิลลิลิตร แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณน้อย เป็นประจำ ก็จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
4.อันตรายจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจขัด และหัวใจอาจหยุดเต้นได้ ร่างกายอ่อนแอ ขาดความต้านทานโรค ส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เช่น ทำให้เป็นหมัน การผลิตอสุจิมีจำนวนน้อยลงในเพศชาย และอาจก่อให้เกิดมะเร็ง
|
|
‘ขนมขบเคี้ยว’ทำลายอาหารมื้อหลัก
อันตรายที่มาพร้อมกับขนมขบเคี้ยว ขนมขบเคี้ยวซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแป้ง น้ำตาล น้ำมัน และผลชูรส โดยเฉพาะแป้งจะถูกขัดสีจนขาวและมีน้ำตาลสูง มีกากใยน้อย เมื่อกินเข้าไปแล้วจะอิ่มง่าย เมื่อถึงอาหารมื้อหลักก็จะทำให้เด็กกินได้น้อย นอกจากนี้หากเด็กกินขนมขบเคี้ยวบ่อยครั้งเป็นเวลานาน ส่วนประกอบต่าง ๆ โดยเฉพาะแป้งและน้ำตาลก็จะเปลี่ยนเป็นไขมัน และสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและซึ่งจะทำให้เกิดโรคอื่นตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรืออาจเป็นโรคขาดสารอาหารเนื่องจากการรับประทานอาหารไม่ครบห้าหมู่ และขนมขบเคี้ยวไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
‘ลูกโป่งวิทยาศาสตร์’แหล่งรวมสารอันตราย
นอกจากภัยจากอาหารอันตรายต่างๆแล้ว ยังมีของเล่นที่ส่งผลผลกระทบต่อสุขภาพอีกหลายอย่าง อาทิ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ถึงแม้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีคำสั่งห้ามขายลูกโป่งวิทยาศาสตร์ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังพบว่า ตามโรงเรียนประถมหลายแห่งในต่างจังหวัด ของเล่นชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมและเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ
ภัยที่แฝงมาพร้อมกับความสนุกสนานนั้นก็คือ ทินเนอร์และสีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีสารระเหยเป็นส่วนประกอบ รวม 19 ชนิด ตามพระราชบัญญัติกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533 มาตรา 31 ซึ่งรวมถึงลูกโป่งวิทยาศาสตร์หรือลูกโป่งพลาสติก ที่ลักษณะการเล่นของเด็กในขณะที่เป่าต้องมีการสูดลมหายใจเข้าออกหลายครั้ง ทำให้เด็กมีโอกาสสูดดมทินเนอร์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
โดยการเกิดพิษแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การเกิดพิษระยะเฉียบพลัน เด็กจะร่าเริง ตื่นเต้น ต่อมาจะมีอาการคล้ายเมาสุรา พูดจาอ้อแอ้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุภายในปากและจมูก ทำให้น้ำลายไหลออกมาก มีผลกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนไม่หลับ ต่อมาจะมีฤทธิ์กด ทำให้ง่วงซึม หมดสติ ถ้าเสพขนาดสูง สารระเหยจะไปกดศูนย์หายใจ ทำให้ตายได้ หารระเหยบางชนิดทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าสูดดมในสภาวะตึงเครียด หรือเห็นเหนื่อยจากการออกกำลังกาย การสูดดมเป็นเวลาสั้นๆ ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบอาการจาม ไอ คลื่นไส้ ท้องเดิน สั่นและชักแบบลมบ้าหมู สำหรับพิษระยะเรื้อรังเนื่องจากการสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพ
แม้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับอันตรายที่มาจากขนมหน้าโรงเรียนเหล่านี้จะถูกพูดถึงอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกกล่าวเพียงชั่วขณะ และยังไม่มีการรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีเพียงการจัดทำโครงการในโรงเรียนบางแห่ง จึงทำให้ยังไม่เกิดความตระหนักถึงพิษภัยของขนมเหล่านี้มากนัก เด็ก ๆ ยังคงสามารถเลือกซื้อขนม หรืออาหารไร้ประโยชน์จากร้านค้าหน้าโรงเรียนได้อย่างอิสระ ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมารณรงค์เรื่องนี้ให้เป็นประเด็นระดับชาติเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่สถานการณ์สุขภาพเด็กไทยจะตกต่ำรุนแรงมากไปกว่านี้
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น