หนึ่งในหัวข้อวิจารณ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ หลังน้ำมันรั่วดิบปริมาณมหาศาลรั่ว และเคลื่อนเข้าสู่อ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด
ตลอด 6 วันที่ผ่านมา หนีไม่พ้นมาตรการจัดการ “ซับ” น้ำมัน ตลอดแนวชายหาด โดยภาพที่ปรากฎออกสื่อ จะเห็น พนักงานชุดขาว จำนวนมาก ช่วยกันทำความสะอาดหาดแห่งนี้ ให้กลับมาเป็นปกติเร็วที่สุด วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักอุปกรณ์ช่วยชีวิต “เสม็ด” เหล่านี้กัน
เริ่มกันที่ แผ่นซับน้ำมัน ที่ปรากฎในภาพข่าวอยู่บ่อยครั้ง เรียกว่า Oil Absorbent เป็นผลิตภัณฑ์ดูดซับน้ํามันกรณีรั่วไหลทางน้ำและทางทะเล โดยปกติ จะใช้สำหรับดูดซับของเหลวชนิดที่มีองค์ประกอบเป็นปิโตรเลียม หรือน้ำมันเท่านั้น มีทั้งแบบแผ่นซับและแบบม้วน โดยจะมีรอยปรุในแนวขวาง และแนวตั้ง สามารถฉีกใช้ในปริมาณที่เหมาะสมได้ โดยราคาแต่ละแผ่น ปกติจะตกอยู่ประมาณแผ่นละเกือบ 100 บาท และกล่องละประมาณ 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคัล ยืนยันว่า จัดหาได้ในราคาถูกกว่านั้น เพราะซื้อเป็นจำนวนมาก
สำหรับวิธีใช้ จะใช้ประกอบกับ Oil absorbent boom หรือทุ่นดูดซับ โดยเจ้าหน้าที่ ปตท. จะนำทุ่นดูดซับ วางไว้ก่อนชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อกั้นแนวคราบน้ำมันได้แล้ว จึงนำแผ่นดูดซับ ค่อยๆ วางเรียงกัน จนสามารถซับได้หมด ส่วนวิธีนำไปกำจัดนั้น แผ่นเหล่านี้จะถูกนำไปเผารวมกัน ทั้งนี้ น้ำมัน และปิโตรเลียมมีคุณสมบัติติดไฟง่ายอยู่แล้วโดย ปตท. ยืนยันว่า การเผารวมกันนั้น จะนำไปเผาในโรงเผาที่มีมาตรฐาน และก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศน้อยที่สุด
ส่วนชุดที่ใช้ในการทำงานบนอ่าวพร้าว มีลักษณะเป็นผ้าโปร่ง ชั้นนอกใช้วัสดุสังเคราะห์คล้ายถุงส่วนข้างในเป็นชั้นพลาสติกป้องกันสารซึมผ่านคเข้าสู่ผิวหนัง โดยชุดนี้สามารถกันน้ำได้ และใช้ครั้งเดียวทิ้ง เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า อยู่ที่ราว 90 – 100 บาท เช่นเดียวกัน หากซื้อเยอะ ก็จะมีราคาพิเศษให้ โดยผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน จำเป็นต้องใส่ถุงมือ และใส่หน้ากาก กันไม่ให้ไอระเหยของสารประกอบ “ไฮโดรคาร์บอน” ในน้ำมันดิบเข้าสู่ปอด
ทั้งนี้ หากสูดดมเข้าไป สารประกอบของไฮโดรคาร์บอน บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางเดินหายใจ เกิดอาการแสบตา แสบจมูก น้ำตาไหล น้ำมูกไหล
ขณะที่ องคาพยพ ของอาสาสมัคร สำคัญบริเวณอ่าวพร้าวนั้น เริ่มจาก พนักงาน ปตท. เอง ที่ระดมกำลังกัน จากทุกบริษัทลูก เพื่อเข้าพื้นที่ โดยนโยบายจากปตท.ใหญ่ ให้พนักงานทุกคนสามารถเข้ามาเป็นอาสาสมัครได้ โดยไม่คิดเป็นวันลา ขณะที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลกว่า 200 นาย จากศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เข้าพื้นที่ สอบถามข้อมูลพบว่า ได้เบี้ยเลี้ยงทั้งสิ้น 250 บาท โดยปตท.จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมี อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จาก จ.ระยอง รวมถึงมีอาสาสมัคร นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมกู้อ่าวพร้าวด้วย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น