วันพฤหัสบดี ที่ 29 สิงหาคม 2556
ทั่วโลกกำลังหวาดผวากับเหตุการณ์ฆ่าหมู่ด้วยอาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรีย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า ช่วงตี 2 ของวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการใช้ก๊าซพิษสังหารผู้คนในเขตกูตา ใกล้กรุงดามัสกัส ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีไม่ต่ำกว่า 1,300 คน
แม้สำนักข่าวซานาของรัฐบาลซีเรียออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่สภาพศพของผู้คนจำนวนมากนอนเสียชีวิตโดยไม่มีบาดแผลนั้น ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นยืนยันเสียงแข็งให้ทุกฝ่ายเปิดทางสำหรับผู้เชี่ยวชาญเข้าไปพิสูจน์เรื่องนี้อย่างละเอียด ล่าสุดทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและฝ่ายรัฐบาลต่างโยนความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า สารเคมีพิษร้ายพุ่งออกมาจากจรวดที่ยิงตกลงมาหลายลูก มีเด็กเล็กและผู้หญิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเพราะหนีไม่ทัน โรงพยาบาลหลายแห่งแน่นขนัดไปด้วยผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอทำให้หลายคนเสียชีวิตในโรงพยาบาล รัฐบาลฝรั่งเศสโกรธแค้นเรื่องนี้มากเป็นพิเศษเพราะส่งข่าวเตือนหลายครั้งแล้วว่า พบแหล่งผลิตอาวุธเคมีในซีเรียจำนวนมาก แต่ยูเอ็นเพิกเฉยที่จะเข้าไปตรวจสอบจนกระทั่งมีเหยื่อเสียชีวิตไปกว่าพันราย
หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงว่าการใช้อาวุธเคมีในสงครามการเมืองครั้งนื้ ถือเป็นกลยุทธ์การสู้รบอย่างโหดเหี้ยม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาวุธเคมีถูกใช้ในสงครามทำลายล้างระหว่างประเทศ หรือผู้ก่อการร้ายข้ามชาติมากกว่าที่จะนำมาใช้เข่นฆ่าเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกันแบบนี้ และถ้ามีพฤติกรรมเลียนแบบการใช้อาวุธเคมี สงครามกลางเมืองในหลายประเทศอาจกลายเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ที่ร้ายแรงไปโดยปริยาย
ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมีชีวภาพ แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสารเคมีที่ใช้เป็นอาวุธครั้งนี้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ต้องรอฝ่ายนิติเวชเข้าไปผ่าพิสูจน์ศพอย่างละเอียด แต่สภาพของผู้เสียชีวิตหมู่มากที่ตายพร้อมกันทันทีด้วยระบบหายใจล้มเหลว ไม่มีบาดแผล คาดว่าน่าจะเป็นอาวุธเคมีที่มีสภาพเป็นแก๊สพิษหรือไอพิษ เมื่อ 25 ปีที่แล้วประเทศอิรักสมัย "ซัดดัม ฮุสเซน" เคยใช้ก๊าซพิษโจมตีชาวเคิร์ดที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นการสังหารหมู่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2-3 พันคน ที่เมืองฮาลับจา ในรัฐเคอร์ดิสสถาน
ม.จ.เฉลิมศึก อธิบายเพิ่มว่า อาวุธเคมีจำนวนมากไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างหรือประกอบขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้ห้องแล็บทันสมัยและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ถ้าเป็นอาวุธเคมีของกลุ่มกบฏหรือผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ผลิตได้จำนวนน้อย การนำมาใช้ไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในครั้งเดียวแบบนี้ ดังนั้นอาวุธเคมีที่ใช้ในสงครามกลางเมืองซีเรียคราวนี้อาจมีต้นตอมาจาก 3 ทางคือ 1.รัฐบาลเป็นผู้แอบผลิตและนำมาใช้ทำลายฝ่ายต่อต้าน 2.ฝ่ายกบฏหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลแอบขโมยหรือยึดมาได้จากกองทัพของรัฐบาลเอง 3.มีการต่อสู้ใกล้กับแหล่งหรือคลังที่ใช้เก็บสารเคมีทำให้เกิดระเบิดเป็นอาวุธเคมีขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ
“ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นอาวุธเคมีอะไรกันแน่ แม้แต่กระแสข่าวที่ออกมาว่าเป็นแก๊สพิษซารินก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน อาจมีสารเคมีหลายอย่างผสมกันได้ ที่น่าสนใจคือวิธีการใช้สังหาร เพราะสมัยซัดดัมใช้ผสมลงไปในลูกกระสุนปืนใหญ่แล้วยิงออกไประยะไกล ทำให้ผู้ยิงปลอดภัยจากสารพิษ หรือบางครั้งอาจมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ใช้เครื่องบินพ่นละอองอาวุธเคมีให้ตกลงสู่พื้นดิน หรือประกอบเป็นวัตถุระเบิด ฯลฯ กรณีที่เกิดขึ้นในซีเรียมีคนตายเยอะเป็นหลักพันคน แสดงว่าการใช้สารเคมีพิษต้องกินพื้นที่วงกว้าง รายงานยังไม่ระบุชัดเจนว่าถูกโจมตีอย่างไร” ม.จ.เฉลิมศึกกล่าว
ด้านเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ วิเคราะห์ให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่ากลุ่มอัล-ไกดามีการพัฒนาอาวุธเคมีชีวภาพและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้โจมตีอเมริกา แต่ยังไม่รู้ว่าขีดความสามารถของอาวุธเหล่านี้ทำลายล้างได้มากขนาดไหน แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อิรักสามารถจับกุมสมาชิกกลุ่มอัล-ไกดาได้พร้อมเปิดโปงแผนการลักลอบขนถ่ายอาวุธเคมีไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ
“กรณีของซีเรีย หลายคนเชื่อว่าเป็นแก๊สซาริน เพราะผลิตง่ายและใช้ง่าย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานข่าวเรื่องการแอบผลิตอาวุธเคมีหรือการลักลอบนำอาวุธเคมีเข้ามา แต่อดเป็นห่วงไม่ได้เพราะเทรนด์หรือกระแสการใช้อาวุธเคมีอาจกลายเป็นที่นิยมของผู้ก่อการร้ายสมัยปัจจุบัน เราคงต้องหาวิธีป้องกันและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556
กระทรวงกลาโหมอิรัก แถลงข่าวจับกุมเครือข่ายอัล-ไกดาได้ 5 คน ระหว่างการลับลอบขนอาวุธเคมีจากอิรักไปยุโรปและอเมริกาเหนือ
สายลับเฝ้าติดตามกลุ่มนี้นานกว่า 3 เดือน ก่อนจะเข้ายึดของกลางได้จำนวนมาก เป็น แก๊สซาริน แก๊สมัสตาร์ด และเครื่องมือที่ใช้ในห้องแล็บสำหรับผลิตอาวุธเคมี รวมถึงเครื่องบินบังคับวิทยุที่สามารถใช้ปล่อยแก๊สพิษได้ในระยะไกลเกือบ 2 กิโลเมตร
สายลับเฝ้าติดตามกลุ่มนี้นานกว่า 3 เดือน ก่อนจะเข้ายึดของกลางได้จำนวนมาก เป็น แก๊สซาริน แก๊สมัสตาร์ด และเครื่องมือที่ใช้ในห้องแล็บสำหรับผลิตอาวุธเคมี รวมถึงเครื่องบินบังคับวิทยุที่สามารถใช้ปล่อยแก๊สพิษได้ในระยะไกลเกือบ 2 กิโลเมตร
พิษร้าย.. ซาริน
แก๊ส (Sarin Gas) เป็นสารทำลายประสาท ลักษณะเป็นของเหลว ไร้สี ไร้กลิ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการดูดซึมทางลมหายใจหรือผิวหนัง ความเร็วในการออกฤทธิ์รวดเร็วและรุนแรง หากสูดดมเข้าไปโดยตรง เพียงแค่ 70 มก.ทำให้เสียชีวิตได้ หากเหยื่อบางคนได้รับเข้าไปไม่มากอาจจะรอดชีวิตแต่จะกลายเป็นอัมพาต
อาการเบื้องต้นเมื่อร่างกายรับสารพิษซารินเข้าไป จะมีอาการน้ำมูกไหล ม่านตาหด แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ชักกระตุก ระบบควบคุมของร่างกายใช้การไม่ได้ ระบบหายใจล้มเหลว
ประเทศไทยให้สัตยาบันต่อ "อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี" ตั้งแต่วันที่10 ธันวาคม 2545 ในฐานะรัฐภาคี ไทยจะต้องดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณี และข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ เช่นมีหน้าที่รวบรวม เฝ้าตรวจและติดตามการนำเข้าสารเคมีที่กำหนดในบัญชี และควบคุมดูแล แผนการทำลายอาวุธเคมีต่างๆ
ประเทศซีเรียไม่เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ มีข่าวลืออ้างว่ารัฐบาลซีเรียมีหัวเชื้อแก๊สพิษซาริน แก๊สพิษมัสตาร์ดไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก
รายงานพิเศษ
คมชัดลึก 26/08/2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น