วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ม็อบยางอีสาน-เหนือฮือจ่อปิดถนน!28 August 2556

ม็อบยางอีสาน-เหนือฮือจ่อปิดถนน!

28 August 2556
 รัฐบาลงัดสารพัดวิธีสลายม็อบ “ยาง-ปาล์ม” ใช้กำนัน-ผู้ใหญ่กล่อม พร้อมออกใบปลิวป้ายสีผู้ชุมนุมไม่ใช่คนในพื้นที่! “ผู้ว่าฯ นครศรีฯ” ร้องศาลขอคืนพื้นที่ ทะแม่ง! อดุลย์สั่งทีมบริหารวิกฤติ-ตร.เต็มพิกัดลงชะอวด พ่วงออกหมายจับ 6 แกนนำ “ยิ่งลักษณ์” ยันขอ 120 บาทหนักเกินไป อ้างต้องอิงตลาดโลก ไปโผล่รัฐสภาพร้อมรับเรื่องดูแล แต่สุดท้ายหายจ้อยไม่เคลียร์เรื่องทุบ ฝ่ายค้านสับ 2 มาตรฐานเทียบข้าว “ประยุทธ์” แนะรัฐต้องดูแลอย่าโยงเป็นการเมือง
การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันภาคใต้ ที่ปิดถนนสายเอเชีย บริเวณแยกควนหนองหงษ์ รวมทั้งเส้นทางรถไฟบริเวณบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 นั้น   เริ่มส่อเค้าความรุนแรงและสับสนเพิ่มขึ้น
เมื่อตลอดคืนวันที่ 26 ส.ค. ได้เกิดกระแสข่าวการสลายการชุมนุม การทำร้ายและจับกุมผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่า นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ พล.ต.ต.รณพงศ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช ได้ประชุมเครียดถึงแนวทางดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม และมีคำสั่งจากรัฐบาลให้เร่งเปิดเส้นทางให้ได้ ในขณะที่ พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวาณิช ผบช.ภ.8 ก็ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. โดยมีคำสั่งด่วนที่สุด ให้กองร้อยปราบจลาจลจากจังหวัดภาคใต้ตอนบน ในเขตตำรวจภูธรภาค 8 นำกำลังกองร้อยปราบจลาจลเข้าพื้นที่ ซึ่งได้ทยอยมาถึงตั้งแต่ช่วงย่ำรุ่ง และพักผ่อนในจุดต่างๆ เพื่อรอการสั่งการปฏิบัติการ ขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
และเมื่อเวลา 11.30 น. นายวิโรจน์ได้สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมหารือแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมานางเพ็ญศรี ช่วยบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ อ.ชะอวด ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านชะอวดและผู้นำท้องถิ่น ได้ออกแถลงการณ์ขอร้องให้ผู้ชุมนุมเปิดถนนบริเวณแยกบ้านตูล และเปิดทางรถไฟ พร้อมทั้งให้ชุมนุมจุดเดียวคือที่แยกควนหนองหงษ์ รวมทั้งขอร้องให้ประชาชนที่เข้าร่วมกลับบ้าน เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่คนในพื้นที่ และมีใบปลิวออกมาต่อต้านการชุมนุม โดยระบุว่าพอใจราคายางที่รัฐบาลประกันกิโลกรัมละ 80 บาท และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม โดยชาวชะอวดพร้อมขับไล่การชุมนุม แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อ.ชะอวดถึง 80% และการใช้ใบปลิวดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น
    ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. นายวิโรจน์ได้มอบอำนาจให้นายอรุณ รสจันทร์วงศ์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราช ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อไต่สวนฉุกเฉิน และขอคำสั่งศาลเพื่อขอบังคับคืนพื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นเดียวกัน พล.ต.ต.รณพงศ์ ที่ได้เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจ สภ.ชะอวด เพื่อสรุปข้อมูลก่อนขออนุมัติหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมอย่างน้อย 5 ราย ก่อนใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 ส.ค. เพราะได้มีการเคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลมาพักอยู่ที่สำนักงานเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าบ้านบ่อล้อ ห่างจากจุดชุมนุมประมาณ 20 กิโลเมตรแล้ว   
      พล.ต.ต.รณพงศ์ระบุถึงกรณีนำภาพผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมแชร์กันต่อๆ ไปในสังคมออนไลน์ว่า  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ได้ติดตามผลการตรวจทางการแพทย์ที่ รพ.มหาราช พบว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก และพบข้อมูลว่าสาเหตุบาดเจ็บมาจากอุบัติเหตุก่อนชุมนุม และอาจดำเนินคดีกับพี่สาวที่ใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ว่าถูกใช้ไฟฟ้าชอร์ตด้วย
สำหรับการชุมนุมของชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน นอกจากทำให้ขบวนรถไฟ 4 ขบวนต้องหยุดให้บริการแล้ว ยังส่งผลให้โรงเรียนประถม 2 โรงต้องปิดเรียนชั่วคราว คือ รร.บ้านควนเงิน และ รร.บ้านตูล เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์อาจบานปลายหากมีการสลายผู้ชุมนุม
ขึ้นราคายางลดกระแสม็อบ
ขณะเดียวกัน มีความน่าสนใจเมื่อสำนักงานตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ สถาบันวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการปรับราคารับซื้อราคายางขึ้น ซึ่งนักวิชาการยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มองว่าเป็นการขยับราคาเพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยา ลดแรงเสียดทานจากม็อบเท่านั้น
ส่วนความเคลื่อนไหวของเกษตรกรผู้ปลูกยางในพื้นที่ต่างๆ นั้น ล่าสุด นายอัครวัฒน์ กิตติพงษ์ภากรณ์ กรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง จ.บุรีรัมย์ พร้อมตัวแทนยืนยันว่า เกษตรกรในพื้นที่กว่า 2,000 คนจะไปร่วมชุมนุมผู้ปลูกยางในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในวันที่ 3 ก.ย.นี้แน่นอน โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งภาคอีสานร่วมชุมนุมไม่น้อยกว่า 30,000 คน  เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลหลังได้เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือมาแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยมานานกว่า 2 เดือน
ด้าน พล.ต.ต.พิเชษฐ วัฒนลักษณ์ ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์ ยอมรับว่า ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วในกรณีองค์กรชาวสวนยางพารา 17 จังหวัดภาคเหนือราว 5,000 คน จะมาชุมนุมและปิดถนนสายทางหลวงหมายเลข 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลก ที่ จ.อุตรดิตถ์ ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ โดยจะใช้ชุดควบคุมฝูงชน 3 กองร้อยดูแล และเชื่อว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแน่นอน
      ด้านความเคลื่อนไหวในส่วนกลางนั้น พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. เผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ได้ประชุมสรุปข้อสั่งการในที่ประชุม ศปก.ตร. โดยสั่งให้ติดตามสถานการณ์เต็มรูปแบบตลอด 24 ชม. ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ที่เดือดร้อนจริงๆ และ 2.กลุ่มคนนอกพื้นที่และกลุ่มหวังผลทางการเมือง วัยรุ่นที่พร้อมก่อเหตุรุนแรง แต่ยืนยันว่า สตช.ไม่มีนโยบายใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จะเน้นเจรจาอย่างสันติวิธี ใช้ความอดทนละมุนละม่อม ยึดหลักกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องนำกฎหมายพิเศษมาใช้ดูแล
ออกหมายจับ 6 แกนนำ
พล.ต.ต.ปิยะระบุอีกว่า สตช.ได้สั่งทีมเชี่ยวชาญการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ, หน่วยบินตำรวจ และฝ่ายเทคโนฯ ไปสนับสนุนการปฏิบัติ ณ พื้นที่เกิดเหตุแล้ว ส่วนเบื้องต้น ศาล จว.นครศรีธรรมราช ได้ออกหมายจับแกนนำก่อเหตุรุนแรง 6 คน คือ 1.นายชญานิน คงลัง 2.นายก้องเกียรติ ชูทอง 3.นายสมภาษณ์ ขวัญทอง 4.นายสัมมิตร จุ้ยปลอด 5.นายประภาส ภักดีรัตน์ และ 6.นางวนิดา แก้วมณี ข้อหากระทำการใดๆให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จราจร และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ได้จับกุม 9 คน ในข้อหาร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางไว้บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานปัญหาราคายางพารา รวมถึงข้อเรียกร้องเกษตรกร โดย ครม.มีมติให้กระทรวงเกษตรฯ รับเรื่องและนำไปหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองโดยเร็ว และต้องขอความร่วมมือประชาชน ถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเกษตรกร ขอความกรุณาอย่าไปชุมนุม เพราะอาจมีเหตุความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลพยายามใช้หลักความอดทน ทำอย่างละมุนละม่อมอย่างเต็มที่ดูแลประชาชน แต่ถ้ามีเหตุเลยขอบเขตกฎหมายก็คงจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย
    เมื่อถามว่า เรื่องของราคารับซื้อยาง กระทรวงเกษตรฯ แจ้งหรือไม่ว่าเพดานที่รับได้อยู่จุดไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ตรงนี้ต้องพูดคุยกัน เรายินดีโดยหลักการต้องวิเคราะห์ต้นทุนด้วย ถ้าต้นทุนเป็นอย่างไร อย่างน้อยต้องดูแลเกษตรกรให้อยู่ได้และมีรายได้ระดับหนึ่ง ขอกราบเรียนว่าตามราคาที่ขอมันหนักจริงๆ และตลอดเวลากระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามติดตามและดูแลพี่น้องชาวสวนยางอยู่แล้ว ซึ่งมีหลายมาตรการด้วยกัน รวมถึงการพัฒนาระยะยาว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ทั้งนี้ อยากให้มีตัวแทนมาพูดคุยกับกระทรวงเกษตรฯ ด้วยการนั่งจับเข่าคุยกัน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี
     เมื่อถามว่า มีการนำไปเปรียบเทียบกับราคาข้าว นายกฯ กล่าวว่า การรับจำนำข้าวถ้าดูจากการช่วยเหลือด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับการดูแลภายใต้โครงการรับจำนำข้างเพียงปีละ 1 หน แต่เรื่องราคายางมีหลายมาตรการที่ดูแลตลอดเวลา มีเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่เก็บจากผู้ส่งออก (เงินเซส) มีอะไรต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว ยืนยันเราดูแลอย่างเสมอภาคอยู่แล้ว เราไม่เคยมาเปรียบเทียบ เพราะเราต้องดูแลเกษตรกรทุกกลุ่มอยู่แล้ว
ปูลั่นต้องอิงตลาดโลก!
    เมื่อซักว่า เรื่องข้าว 1.5 หมื่นบาทรัฐบาลทำได้ ทำไมเรื่องยาง 120 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลทำไม่ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ความจริงแล้วราคายางมีความต่าง เพราะราคายางต้องอิงราคาตลาดโลก เราอยากเห็นราคายางที่ดีขึ้น แต่เราคงไปได้ระดับหนึ่ง ต้องกราบเรียน บางครั้งเราช่วยในหลายๆ วิธี เช่นให้ปุ๋ยหรือแทรกแซงราคา ซึ่งบางอย่างมีข้อจำกัด แต่สิ่งที่เราควรพูดคุยกันคือกลับมาแก้ไขระยะยาวว่าความเหมาะสมเรื่องโซนนิ่งภาคการเกษตร
    นอกจากนี้ ในการประชุม ครม.ได้มีการประเมินผลกระทบจากการชุมนุมของเกษตรกรเป็นตัวเงินอย่างละเอียดด้วย ทั้งในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ขนส่ง จำกัด
    ต่อมาในช่วงเย็น ในการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มา ส.ว. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ได้ลุกขึ้นหารือถึงเรื่องดังกล่าวว่าสถานการณ์การชุมนุมอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด อาจมีการสลายการชุมนุม รัฐบาลควรส่งคนมีอำนาจเต็มไปเจรจา และยืนยันว่าพวกตนเองไม่ได้อยู่เบื้องหลังของการชุมนุม แต่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจริงๆ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่า นายกฯ ได้บัญชาโดยตรงว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมหรือใช้ความรุนแรง ทุกอย่างจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งนายกฯ ได้สั่งให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เชิญแกนนำเกษตรกรยางพาราทั้ง 4 ภาคหารือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 28 ส.ค.นี้
เวลา 17.50 น. นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นหารือว่า ได้รับโทรศัพท์จากผู้ชุมนุม และขอถามใน 2 เรื่อง คือ 1.จะมีการสลายการชุมนุมคืนนี้หรือไม่ และ 2.เรื่องประกันราคายางพารา ที่ต้องการให้รับประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ได้หรือไม่
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยกมือก่อนลุกขึ้นชี้แจงว่า ยินดีรับเรื่องนี้ไว้ และจะรับประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลต่อไป ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงเสร็จ นายนิคมได้พยายามตัดบทและกล่าวบอกให้นายจุฤทธิ์กล่าว “ขอบคุณ” นายกฯ ที่ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย รีบลุกขึ้นประท้วงนายจุฤทธิ์ว่าทำผิดข้อบังคับ เพราะไม่อยู่ในประเด็น นายจุฤทธิ์ก็ได้พยายามซักถามถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอีกครั้ง โดยขอให้นายกฯ รับปาก แต่นายนิคมได้ตัดบทและดำเนินการอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญต่อไป โดยระบุให้ไปสอบถามกันเอง ทำให้นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องนายกฯ ว่าได้อยู่ในที่ประชุมแล้วก็ควรชี้แจง ซึ่งนายนิคมก็ตัดบทไป
ภายหลังจบการหารือดังกล่าว นายจุฤทธิ์และนายกฯ ต่างคนต่างเดินเข้ามาหารือกัน โดยนายจุฤทธิ์ได้เข้าไปสอบถาม โดยมี ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยยืนประกบตลอดเวลา นายกฯ ได้บอกว่าให้ไปคุยกันข้างนอก แต่พอเดินออกจากห้องประชุมนายกฯ กลับเดินเข้าห้องรับรองนายกฯ ไป
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ซึ่งได้เดินทางไปเจรจากับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ระบุว่า การเจรจาไม่ได้ล้มเหลว โดยตอนตัวแทนยอมรับได้ในราคา 80 บาท แต่ต่อมากลับมีกลุ่มอื่นไม่เห็นด้วยจะเอา 120 บาท จึงมองว่านี้อาจเป็นเรื่องของการเมือง เพราะมีข่าวว่าขณะที่มีการปราศรัย มี ส.ส.พรรคการเมืองพรรคหนึ่งไปเยี่ยมไปสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา
    “พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางนครศรีธรรมราชยืนยันว่าไม่รู้จักกลุ่มวัยรุ่นที่มาชุมนุม มาจากไหน มาจากพัทลุง กระบี่ สุราษฎร์ฯ มาจากไหนไม่รู้ จัดตั้งมาโดยที่เราก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องมาชุมนุมที่นี่ หากเดือดร้อนจริงเขาต้องชุมนุมที่บ้านเขาครับ” นายสุภรณ์กล่าว
เหลิมเชื่อม็อบยาว
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ประเมินว่า ม็อบนี้จบยาก เพราะเป็นม็อบจัดตั้ง และการข่าวส่วนตัวนั้นบอกว่า 3 ก.ย.ม็อบมาแน่นอน
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเช่นกันว่า กังวลใจว่าจะบานปลาย เพราะปัญหาเดือดร้อนค่อนข้างหนักพอสมควร ตัวเลขที่เกษตรกรเรียกร้องมีระยะห่างพอสมควร แต่ยังไม่ถึงขั้นใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ควบคุม
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้สงสัยว่าน่าจะมีการวางแผนเป็นขั้นตอน รวมถึงน่าจะมีการระดมคนมาร่วมชุมนุมกับม็อบสวนลุมฯ ด้วยหรือไม่
ด้านพรรคฝ่ายค้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าราคายางต้องปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาดว่าสะท้อนหลักคิดชัดเจนว่าเลือกปฏิบัติ เพราะข้าวราคาตลาดโลกอยู่ที่ 450 ดอลลาร์ แต่รัฐบาลจำนำที่ 800 ดอลลาร์ สูงกว่าราคาตลาดโลกได้
    นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ปลูกยางพาราร่วม 20 คน ร่วมแถลงข่าวยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เพราะหากมีส่วนจริงก็เปิดเผยชัดแล้วไม่อยู่เบื้องหลังแน่นอน และขอเตือนรัฐบาลว่าอย่าคิดเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการปราบปรามผู้ชุมนุม เพื่อให้ชาวสวนยางพาราที่นัดชุมนุมสี่ภาควันที่ 3 ก.ค.นี้ เกิดความกลัวจนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว เพราะเชื่อว่าจะไม่ได้ผล
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลกล่าวหาว่ามีนักการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลังการชุมนุม เป็นการดูถูกประชาชน ทั้งที่การชุมนุมเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่ขอวิเคราะห์วิจารณ์ว่า เรื่องการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่คิดว่าทุกฝ่ายพยายามช่วยกันดำเนินการอยู่ หากต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน และมีการยั่วยุกัน คิดว่าจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและเป็นผลเสียต่อประเทศไทยในภาพรวม
    “ผมเข้าใจดีในความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสวนยาง แม้กระทั่งชาวนา ผมรักเกษตรกรรมและรักเกษตรกรทุกคน ต้องดูว่าจะไปแก้ไขกันตรงไหน คงไม่ใช่เรื่องที่ผมจะพูดออกไป เพราะไม่ใช่หน้าที่ของผม  ฝ่ายที่รับผิดชอบเขาคงดูแลอยู่แล้ว ถ้าเรานำปนกันไปมา เอามาเกี่ยวกับการเมือง ความขัดแย้ง ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ประเทศก็ถอยหน้า ถอยหลังอยู่อย่างนี้ทุกวัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    วันเดียวกัน องค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) อาทิ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอย่าใช้ความรุนแรง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น