วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ศอ.รส. คาดม็อบต้านรบ.อย่างต่ำ 4 พัน อาจถึง 7 หมื่นเมื่อ 4 ส.ค.56



ศอ.รส. คาดม็อบต้านรบ.อย่างต่ำ 4 พัน อาจถึง 7 หมื่น
ในขณะที่ฝ่ายภาคประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการชุมนุมวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ฝ่ายของเจ้าหน้าที่ผ่านการควบคุมสถานการณ์โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ในวันนี้ก็มีการแถลงข่าวเป็นครั้งแรกพร้อมกับระบุถึงขั้นตอนในการใช้กำลังเอาไว้ด้วย
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) แถลงข่าวสถานการณ์การปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อยศอ.รส.  ซึ่งเป็นการแถลงเป็นครั้งแรก ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ เขตพระนคร ดุสิต และ ป้อมปราบฯ ระหว่าง 1-10 ส.ค.         
พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้ประเมินจำนวนผู้ชุมนุมอย่างต่ำที่ประมาณ 4 พัน และสามารถเติมเข้ามาได้เรื่อยๆ เป็น 1 หมื่น, 2 หมื่น หรือ 7 หมื่น แต่ต้องดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ
         
ทั้งนี้ ศอ.รส. ได้ออกประกาศคำสั่งปฏิบัติการ 3 ฉบับ ในการห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา และถนน 12 เส้นทางโดยรอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และ ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
สำหรับการจัดการกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายนั้นจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องยึดถึงหลัก 4 ประการ คือ
1.หลักแห่งความจำเป็น คือให้จนท.ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น โดยต้องพยายามใช้วิธีการอื่นก่อนการใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม
2.หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ต้องเลือกวิธีจากเบาที่สุดและเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุดก่อน โดยต้องยึดหลักแห่งความได้สัดส่วน คือต้องใช้วิธีการและกำลังด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับพยันตรายที่คุกคาม เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองและของผู้อื่น
         
3.หลักความถูกต้องตามกฎหมาย คือการพิจารณาใช้กำลังเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามหลักสากลกำหนดไว้
4.หลักความรับผิดชอบ ให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง โดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ หรือการปฏิบัติ และให้มีการจัดเตรียมบรรเทาผลร้ายหรือเยียวยาหลังใช้กำลังเสร็จสิ้นไว้ด้วย
สำหรับหลักการใช้กำลังสากลในการใช้กำลังปฏิบัติการควบคุมฝูงชน จะมีทั้งหมด 10 ขั้นจากเบาไปหาหนัก ประกอบด้วย 1.วางกำลังในเครื่องแบบปกติ 2.การจัดรูปขบวน 3.การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 4.เคลื่อนไหวกดดัน 5.ใช้คลื่นเสียง 6.แก๊สน้ำตา 7.บังคับร่างกาย 8.ฉีดน้ำ 9.กระสุนยางและอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และ 10.อาวุธปืนเฉพาะบุคคล(จะใช้เพียงกระสุนยางเท่านั้น) ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มขั้นตอนที่ 5 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประกาศแจ้งเตือนต่อผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง
การแถลงข่าวของศอ.รส.ในวันนี้ ได้มีการนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่จะใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม อาทิ ปืนยิงกระสุนยาง / แก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์ที่จะใช้เป็นไปตามหลักสากล
สถานการณ์ที่ผ่านมาได้มีแกนนำหลายกลุ่มมีการประกาศขับเคลื่อนชุมนุมครั้งใหญ่ ในวันที่ 4 ส.ค.ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าอาจมีการยกระดับความรุนแรงได้ เพื่อให้สถานการณ์ควบคุมได้ ครม.มีมติ 1 ส.ค.ออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งกฎหมายนี้ออกมาเพื่อป้องกันเหตุให้การชุมนุมเป็นด้วยความเรียบร้อย ประชาชนสามารถมาชุมนุมได้ปกติ แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ พร้อมทั่งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย และหลักสากล
จากการข่าวที่ได้ประเมินคาดว่า อย่างต่ำมาประมาณ 4,000 คน และสามารถเติมเข้ามาเรื่อยๆ ถึง 2 หมื่น - 7 หมื่นคน แต่ต้องดูสถานการณ์เรื่อยๆ และอยู่ที่ปัจจัยสถานการณ์ และความพร้อมของเจ้าหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ตาม เราพร้อมรับมือหากผู้ชุมนุมใช้วิธีดาวกระจายไปตามจุดต่างๆ และตามแผนจะใช้ตำรวจอย่างเดียวก่อน แต่ก็มีกำลังของหน่วยความมั่นคงที่สามารถเข้ามาเสริมได้
มาตรการบังคับใช้กฎหมายของศอ.รส.ในยุคที่พล.ต.อ.อดุลย์เป็นผู้อำนวยการ เราจะลองไปเปรียบเทียบกับการบังคับใช้กฎหมายในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อปี2553 ที่ต้องตั้งรับการชุมนุมของคนเสื้อแดง
ศูนย์ศอ.รส.ตามการประกาศใช้พรบ.ความมั่นคงใน ขณะนั้น มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผอ.ศอ.รส.
15 มีนาคม2553 มีการประกาศใช้ขั้นตอนของการใช้กำลัง 7 ระดับ คือ
1 .จัดรูปขบวนตั้งแนวแสดงกำลังที่อาจทำให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนแนวความคิด
2 .การใช้โล่ดัน หากผู้ชุมนุมจะบุกรุกเข้ามา
3 .ใช้น้ำฉีด
4 .ใช้เครื่องกระจายเสียงระดับสูง
5 .แก๊สน้ำตา
6 .ใช้กระบอง
และสุดท้ายหากจำเป็นจริงๆ อาจต้องใช้กระสุนยางเพื่อป้องกันผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามา โดยแต่ละขั้นตอนจะเรียนชี้แจงผ่านเครื่องขยายเสียงให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอะไร และจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจิตวิทยาคอยพูดคุย เพื่อให้จิตใจของผู้ชุมนุมเย็นลง ในขั้นตอนของการใช้แก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยาง จะต้องได้รับการอนุมัติจากนายสุเทพก่อน
อย่างไรก็ตามในศอ.รส.ยุคปัจจุบันยังได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการตำรวจนครบางที่มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยนครบาล ที่กำกับดูแลโดยพล.ต.ท.คำรณวิทย์
โดยในวันนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้กำหนดแผนดูแลความสงบเรียบร้อยภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการส่งกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและพื้นที่ต่อเนื่องวางผังการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไว้แน่นหนา 11 จุดคือ
1.รัฐสภา
 2.แยกราชวิถี
3.แยกขัติยานี
4.แยกการเรือน
5.โค้งปตท.ถนนอู่ทองใน
6.ทำเนียบรัฐบาล
7.สะพานชมัยมรุเชษฐ์
8.แยกสวนมิกวัน
9.สะพานมัฆวานรังสรรค์
10.สะพานอรทัย
และจุดที่11.กองบัญชการตำรวจนครบาล 
รวมกำลังตำรวจที่ใช้ 35 กองร้อย
ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผย ว่าถึงกรณีที่  น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช.ออกมาระบุว่า กองทัพประชาชนจะจับกุมตัวนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเพียงการวิเคราะห์สถานการณ์ เพราะขณะนี้ ยังไม่มีอะไรผิดปกติ และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้ ซึ่งวันดังกล่าวสถานการณ์จะรุนแรงหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่า คุมเกมได้
         
ทั้งนี้ ในส่วนการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ได้มีการเตรียมการดีอยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะมีการปลุกปั่นการชุมนุมเกิดขึ้น และทำไปเพราะความไม่ประมาท พร้อมยืนยัน รัฐบาลไม่ได้ 2 มาตรฐาน ต่อผู้ชุมนุม
ขณะที่กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณยังคงยืนยันการชุมนุมในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ แต่ยังคงอุ๋บไต๋รายละเอียดการนัดหมายชุมนุมเอาไว้
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ ผู้แทนกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณและคณะเสนาธิการร่วม พร้อมคณะ รวม10 คน  ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนางอมรา  พงศาพิชญ์ ประธานกสม. เพื่อขอดำเนินการตรวจสอบกรณีรัฐบาลมีมติให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ประกาศใช้มาตรการตามพ.ร.บ.ความ เนื่องจากเห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเจตนาข่มขู่ มุ่งสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเดินทางมาร่วมชุมนุมกับกองทัพประชาชนโค่นระบบทักษิณในวันที่ 4 ส.ค.นี้
ทั้งนี้นายพิเชษฐ กล่าวว่า การชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งถือเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ซึ่งการจะประกาศใช้พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน  กฎหมายได้กำหนดถึงความจำเป็นในการที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวได้นั้นต้องเห็นว่าการชุมนุมจะมีเหตุชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการชุมชุมเกิดขึ้น เป็นเพียงแค่การนัดหมาย อีกทั้งการชุมนุมยังไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับใคร จึงไม่น่าจะเข้าข่ายให้มีการออกประกาศฯ อีกทั้งในวันพุธที่ 31 ก.ค.โดยปกติรัฐบาลไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ก็อ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ซึ่งตามกฎหมายแล้วคณะรัฐมนตรีมีเพียงชุดเดียวที่ประกอบด้วยรัฐมนตรี 35 คน ไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดเล็กอย่างที่อ้าง จึงเป็นไปได้ว่าการออกประกาศดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมุษยชนฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าการออกประกาศดังกล่าวกระทำขึ้นโดยมีเจตนาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ คุกคาม ต่อต้าน ขัดขวาง สร้างอุปสรรคในการเดินทางมาชุมนุมของประชาชนหรือให้ประชาชนเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม และเพื่อสกัดกั้นประชาชนที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือไม่
ด้านนางอมรา กล่าวว่า เบื้องต้นถ้าตรวจสอบแล้วเข้าประเด็นละเมิดสิทธิก็จะส่งให้อนุกรรมการที่ดูแลด้านกฎหมายมาศึกษาและหาข้อสรุป  ส่วนการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นั้นขณะนี้ยังไม่มีหนังสือขอให้กรรมการสิทธิฯลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์ แต่หากกรรมการฯคนใดจะลงพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน
ขณะเดียวกันเวลา 10.30 น. นายพิเชฏฐยังได้เข้ายื่นคำร้องเดียวกันนี้ให้กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายกีรป กฤตธีรานนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเร่งด่วน ซึ่งนายกีรป ได้ชี้แจงต่อนายพิเชฏฐว่า จะเร่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดูว่าจะต้องทำหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือไม่
พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ว่า ขณะนี้กำหนดการเคลื่อนไหวชุมนุม ของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มธรรมาธิปไตยเลิกการชุมนุมที่สนามหลวง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติยังไม่ออกมาเคลื่อนไหว และพรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาฯ อย่างไรก็ตามจะพิจารณาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด        
ด้าน พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี เสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนฯ กล่าวว่า ในวันที่ 3 ส.ค. จะมีการเปิดเผยสถานที่ชุมนุมของวันที่ 4 ส.ค.
ขณะที่องค์การพิทักษ์สยาม ระบุบนเฟซบุ๊คว่า ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลาย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ออกมาช่วยต้านรัฐบาลทรราช ปล้นชาติ ขายแผ่นดิน พบกันวันที่ 4 ส.ค. 56 วัน ว. เวลา ณ. และสถานที่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น