วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปชป.ลั่นกลองรบ ‘เทือก’สั่งสส.สู้ยิบตาในสภาแพ้วาระ3นัดหยุดงานล้มปู! เมื่อ 1 August 2556

ปชป.ลั่นกลองรบ ‘เทือก’สั่งสส.สู้ยิบตาในสภาแพ้วาระ3นัดหยุดงานล้มปู!


เปิดสภา 1 สิงหา.ส่อเดือดแน่ ครม.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 3 เขต "ดุสิต-พระนคร-ป้อมปราบฯ" 1-10 ส.ค.นี้ "ภราดร" อ้างป้องกันไม่ให้กลุ่มที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน มอบ "อดุลย์" เป็น ผบ.เหตุการณ์ มติ พท.-พรรคร่วม ให้พิจารณา "ฉบับวรชัย" ตามปกติ ยันไม่มีการลักไก่ "พงศ์เทพ" แบะท่าจะมีการแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย "ทักษิณ" จะเป็นแกนนำสั่งการหรือไม่โยนให้อัยการและศาลชี้ขาด กองทัพ ปชช.ไม่หวั่น ลั่นเดินหน้าชุมนุม "เทพเทือก" ยังไม่เป่านกหวีด อ้างขอสู้ในสภา 3 วาระก่อน หากแพ้จึงจะร่วมกับทุกกลุ่มล้มรัฐบาล
    การเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ส่อเค้าว่าจะมีความดุเดือด หลังจากรัฐบาลยืนยันจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 7 สิงหาคม และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อสกัดกั้นประชาชนหลายกลุ่มที่นัดชุมนุมต่อต้าน
    โดยเมื่อวันพุธ เวลา 12.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็ก เพื่อพิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย, นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม, นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม., นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
    จากนั้น พล.ท.ภราดรแถลงว่า เนื่องจากจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยที่ประชุมมีการกำหนดระเบียบวาระประชุมกฎหมายที่สำคัญ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนว่ามีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มประกาศชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยกับการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการจัดตั้งมวลชนหลายกลุ่ม โดยการชุมนุมของกลุ่มมวลชนต่างๆ มีแนวโน้มจะระดมมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจชุมนุมยืดเยื้อ รวมทั้งอาจลุกลามไปถึงการยึดพื้นที่สำคัญใน กทม.หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุแทรกซ้อนเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การขัดขวางการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและระบบบริหาร
    ดังนั้นเพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันและป้องปรามภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน หากเกิดขึ้นแล้วอาจสามารถแก้ไขได้ หรือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง อีกทั้งไม่ให้ความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล มีความหลากหลาย รวดเร็ว สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัติ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ป้องกัน 2 ฝ่ายเผชิญหน้า
    “สมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามนัยมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตพื้นที่ดังนี้ คือ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตปร้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนด 10 วัน ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.56 หลังจากที่มีมตินี้แล้วจะมีการประชุมคณะกรรมการ กอ.รมน.เพื่อเห็นชอบแผนมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะเสนอให้ที่ประชุม กอ.รมน.เห็นชอบ จากนั้น กอ.รมน.จะออกคำสั่งให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติ โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็น ผบ.เหตุการณ์ทั้งหมด”
    พล.ท.ภราดรระบุว่า มาตรการนี้เป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้กลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาเผชิญหน้ากัน ซึ่งกลุ่มไม่เห็นด้วยน่าจะมี 3-4 กลุ่ม ขณะที่กลุ่มเห็นด้วยมี 1 กลุ่ม ส่วนที่มีกลุ่มสนับสนุนพรรคการเมืองจะเข้ามาร่วมด้วยนั้น เป็นข้อพึงระวัง เพราะมีการสื่อสาร พูดคุย และจัดกิจกรรมการเมืองที่จะมาคัดค้านกฎหมาย เพราะหากกลุ่มที่ชุมนุมอยู่มาผสมกับภาคการเมืองจำนวนจะมาก
    เลขธิการ สมช.ปฏิเสธว่า ไม่ใช่เป็นการสกัดกั้นผู้ชุมนุม เพราะเราไม่ได้จำกัดสิทธิการชุมนุม แต่รัฐบาลทำเพื่อจัดระเบียบสถานที่และอำนวยความสะดวกป้องกันเหตุไม่คาดคิด สิ่งที่เจ้าหน้าที่ห่วงใยที่สุดคืออาจจะเกิดมือที่ 3 เข้ามาทำให้เกิดเหตุการณ์ได้ และตอนนี้เรามีมาตรการป้องกันแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี รับทราบมติแล้ว โดยประสานไปยังนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทางโทรศัพท์ไปแล้ว
     ส่วนกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมหน้ารัฐสภานั้น พล.ท.ภราดรกล่าวว่า หลังมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว จะมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอร้องให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ถ้าวันที่ 7 ส.ค. การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย วันที่ 8 ส.ค. ก็สามารถยกเลิกได้ ส่วนเหตุที่ประกาศใช้วันที่ 1-10 ส.ค. เพราะ ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการประกาศจะชุมนุม แต่ก็คิดว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ เพราะในวันที่ 12 ส.ค. จะมีงานพระราชพิธีสำคัญ
    นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวว่ า ไม่ได้สั่งการให้ทางจังหวัดสกัดกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมชี้แจงกับนายอำเภอ จากนั้นให้ประชุมทำความเข้าใจกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการใช้กลไกปกติทางราชการ
       ภายหลังที่ประชุม ครม.นัดพิเศษที่สำนักงาน สมช. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้เรียกประชุม กอ.รมน. เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จากนั้น พล.ท.ภราดรเปิดเผยว่า แผนการดำเนินการของ ศอ.รส.นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยมี ผบ.ตร.เป็น ผอ.ศอ.รส. มีศูนย์อยู่ที่ สตช. โดยจะมีการประชุมและแถลงข่าวทุกวัน และหลังจากนี้ สตช.จะเป็นผู้ไปกำหนดรายละเอียดว่าพื้นที่ไหนเข้าได้หรือไม่ได้อย่างไร
แจงรวมการเฉพาะกิจ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศจะชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง จะเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่ เพราะมีการประกาศพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว พล.ท.ภราดร ตอบว่า ยังเชื่อว่าคงจัดระเบียบได้ คงไม่ถึงขั้นเข้าไปสกัดกั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่จะมาจากต่างจังหวัด หรือที่อยู่ใน กทม. หากมีการชุมนุมอยู่ในกรอบและจัดระเบียบให้เรียบร้อยก็ไม่ว่ากัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานกับทางแกนนำผู้ชุมนุมบ้างแล้ว ทั้งนี้ นายกฯมีความเป็นห่วง ซึ่งได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับ พล.ต.อ.ประชาแล้ว โดยได้กำชับให้ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม
    ต่อมา พล.ท.ภราดรเปิดเผยว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ได้ประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาในช่วงเย็นวันเดียวกันแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1-10 ส.ค. ซึ่งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม นอกจากนี้ กอ.รมน.ยังได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ทำหน้าที่แถลงการณ์ทำความเข้าใจกับประชาชน ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 2 ส.ค. เวลา 10.00 น. โดยตนร่วมแถลงการณ์ด้วย ทั้งนี้ จะประกาศใช้กฎหมาย 18 ฉบับควบคู่ พ.ร.บ.ความมั่นคง
    พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า การชุมนุมเป็นเรื่องปกติ ทหารต้องติดตามสถานการณ์ตามปกติ และเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานหากมีการร้องขอกำลังพลสนับสนุน
    นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เป็นเรื่องของรัฐสภา ซึ่งได้มีการประสานงานกับทางรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ยังไม่มีการขอเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด
    ช่วงเย็น พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ลงพื้นที่เจรจากับกลุ่มผู้ชุมชุมสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. บริเวณหน้ารัฐสภา ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการพูดคุย แกนนำ กวป.ได้แถลงการณ์ยุติการชุมนุมหน้ารัฐสภา ภายในเวลา 24.00 น.
พท.ด้นร่างวรชัยฉบับเดียว
    ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย  แถลงผลการประชุมพรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมมีมติว่า ในการประชุมสภาวันที่ 7-8 ส.ค.นี้ ขอให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำกฎหมายฉบับอื่นมาพิจารณารวมด้วย และไม่มีการเอื้อประโยชน์ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และแกนนำคนอื่น โดยขอให้สมาชิกที่เป็นเจ้าของร่างกฎหมายอื่น อย่าเสนอกฎหมายเข้ามาประกบ รวมทั้งให้ประธานวิปรัฐบาลไปประสานนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหาคล้ายกับร่างกฎหมายฉบับนายวรชัย ให้ถอนร่างกฎหมายออกไป เพื่อป้องกันความสับสน รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ก็รับปากต่อที่ประชุมจะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาประกบเช่นกัน โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย จะพิจารณาไปตามขั้นตอนปกติ ไม่พิจารณา 3 วาระรวด และไม่มีการลักไก่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค.เด็ดขาด
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ได้นัดหมายแกนนำ นปช.ทั่วประเทศมาชุมนุมที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ในวันที่ 3 ส.ค. เพื่อรับรู้สถานการณ์อย่างเท่าเทียมกัน และจะร้องขอให้คนเสื้อแดงอย่าได้ออกไปที่ชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เพราะสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการคือการปะทะที่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายหนัก ถ้าก้าวพลาดจะเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา หากตัดสินใจตามลำพังเมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสีย จะเท่ากับการบีบให้ทัพใหญ่ของคนเสื้อแดงออกมา จะเข้าทางสถานการณ์ที่อีกฝ่ายหนึ่งรออยู่แล้ว
    ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มีการประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค. มีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมงานครบทุกพรรค ภายหลังการประชุม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรณ แถลงว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ และคณะ มีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทุกสีทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นวาระปกติ พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป ไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
    ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ  กล่าวว่า ในการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คงแก้ไขถ้อยคำบางประเด็นเล็กน้อยให้ชัดเจนขึ้น แต่จุดยืนยังเหมือนเดิมคือ ให้ช่วยเหลือเฉพาะประชาชน ยกเว้นคนสั่งการ ซึ่งนิยามของคำว่า ผู้สั่งการ จะดูจากข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและตัดสินใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนขึ้นเวทีทุกคนจะเป็นแกนนำทุกคน ถ้าเป็นผู้สั่งการจะไม่ได้รับนิรโทษกรรม
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถือเป็นแกนนำสั่งการหรือไม่ นายพงศ์เทพ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม โดยผู้ที่จะชี้ขาดว่าใครเป็นผู้อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรมหรือใครเป็นแกนนำนั้น จะมีทั้งอัยการและศาลยุติธรรม โดยจะพิจารณาพฤติกรรมที่ผ่านมาว่าเข้าข่ายเป็นแกนนำหรือไม่ 
 ทหารแก่ลั่นไม่กลัว
    วันเดียวกัน นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย  มาปฏิบัติราชการที่ จ.นครราชสีมา เพื่อมอบนโยบายปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และการมอบชุดนักเรียน ซึ่งในงาน พ.ต.ท.ทักษิณได้สไกป์มาร่วมงานว่า ยอมรับสังคมไทยในปัจจุบันมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ในทุกองค์กร องค์กรของตนเองก็มีเช่นกัน แต่หากอยู่ในชาติ อยากให้มององค์กรประชาชนเป็นหลัก ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้ และในตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลยังทำไม่ได้ ตนเองก็จะนำประสบการณ์ของตนเองมาแนะนำ แต่ในวันนี้ทำได้ยากกว่าเดิม เพราะรัฐธรรมนูญของประเทศเปลี่ยนแปลงไป แค่แก้กฎหมายนิรโทษกรรมให้คนที่ติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม ยังจะฆ่ากันตายอยู่แล้ว หวังว่าทุกคนปล่อยวางให้ได้ก็จะดีขึ้น
      ที่ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ อาทิ นายไทกร พลสุวรรณ, พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ, พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ, นายพิเชฐ พัฒนโชติ ร่วมแถลงการณ์เชิญชวนประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเพื่อโค่นระบอบทักษิณว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหุ่นเชิด ไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารบ้านเมือง จึงขอให้รัฐบาลนี้ลาออก และคืนอำนาจให้ประชาชน โดยนัดชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค. ซึ่งเวลาและสถานที่จะแจ้งอีกครั้ง และในวันที่ 5-6 ส.ค. จะดำเนินการยื่นหนังสือต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสหประชาชาติและสถานทูตประเทศต่างๆ จากนั้นในวันที่ 7 ส.ค. จะนัดชุมนุมคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร
     พล.อ.ปรีชากล่าวถึงกรณีรัฐบาลออก พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า ไม่เกินความคาดหมายที่รัฐบาลจะจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่มีกฎหมายคุ้มครอง รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลโจรที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคุกจากคำตัดสินของศาลอยู่เบื้องหลัง และสร้างกลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นเกราะป้องกัน และเผาบ้านเผาเมืองเพื่ออำนาจตัวเองกลับคืน ทั้งนี้เราไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดมา ถ้าเรากลัวเราก็จะไม่ออกมา เราจะไม่หนีไปไหนจนกว่าคนไทยคนสุดท้ายจะตื่นออกมาขับไล่รัฐบาลออกไป
    ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่ายังไม่เคลื่อนไหวมวลชนด้วยการชุมนุมในช่วงเวลานี้ เนื่องจากศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไข เป็นข้อจำกัดจนไม่สามารถทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือประสบผลสำเร็จได้จริง
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเย็น ที่บริเวณสกายวอล์ก สถานีบีทีเอส ช่องนนทรี  ได้จัดเวทีผ่าความจริง ตอน “หยุดกฎหมายล้างผิด คิดล้มรัฐธรรมนูญ เงินกู้ผลาญชาติ อำนาจฉ้อฉล” โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ปราศรัยว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่ได้ใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ ม.63 ที่ระบุว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ  ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายล้างผิดครั้งนี้ ให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ต่อสู้กับรัฐบาลทรยศนี้ ข้าราชการแผ่นดินทั้งหลายฟังไว้ ท่านต้องปกป้องเรา ที่เป็นคนปกป้องพระราชา   และแผ่นดินนี้ เมื่อไหร่ที่ท่านไม่ปกป้องเรา เราจะสู้กับท่าน เพราะบ้านเมืองนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม ให้เลือกข้างเสีย เนื่องจากไม่มีความเป็นกลาง
"เทือก" เป่านกหวีดหลังวาระ 3
    จากนั้นนายสุเทพกล่าวปราศรัยโดยชี้ให้เห็นว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยออกมาใช้บังคับเมื่อไหร่ การกระทำผิดของคนเสื้อแดงด้วยวาจา ฆ่าคน วางเพลิงเผาทรัพย์ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 49-54 จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และมาตรา 7 นั้น บอกว่ามีนายกฯ เป็นผู้รักษาการ และใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ดังนั้นการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าไม่เกี่ยว หรือหนูไม่รู้นั้น มึงเลิกพูดได้แล้ว
    นายสุเทพกล่าวว่า ตนอยากบอก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ว่าอย่าทำร้ายประชาชน เพราะการออกมาชุมนุมของประชาชนครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่มีอาวุธ แต่หากประชาชนบาดเจ็บแม้แต่คนเดียว พวกคุณจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
    “ในวาระรับหลักการนั้น พวกเราจะอธิบายอย่างละเอียดว่ากฎหมายนี้ไม่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งเราจะสู้ทั้งวันทั้งคือ หากสู้แล้วแพ้ ก็จะตามไปสู้ใหม่ในวาระ 2 ซึ่งเป็นขั้นแปรญัตติ ต่อให้พวกเขาไปแปรญัตติเอาฉบับสุดซอย กลางซอยอะไรก็ช่าง เราก็จะตามไปสู้แปรญัตติทุกมาตรา ทุกตัวอักษร ถ้าต่อสู้ในสภาในวาระ 3 ก็แพ้อีก ถึงวันนั้นก็จะมีเสียงเป่านกหวีดว่าเอาเลย ซึ่งผมจะไม่รอให้ใครสั่ง ซึ่งหากถึงวันนี้จริงก็ไม่มีคำถามอะไรแล้ว เพราะคนพวกนี้มันระยำจริงๆ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.จนถึงการพิจารณาวาระ 2-3 เรายังไม่โค่นล้มรัฐบาล เพราะจะให้โอกาสรัฐบาล หากยอมถอยก็ถือว่าเจ๊ากัน แต่หากรัฐบาลยังดึงดันต่อไปถึงวันนั้นเราก็จะล้มรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่สมควรเป็นรัฐบาลแล้ว” นายสุเทพกล่าว
    นายสุเทพกล่าวอีกว่า หากวันใดที่กฎหมายดังกล่าวผ่านวาระ 3 ในสภา วันนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนเราก็จะเข้าร่วม เพราะถึงวันนี้เราก็ถือเป็นคนไทยในประเทศคนหนึ่ง มีคนมาเสนอกับตนว่า หากวันใดที่แพ้วาระ 3 ควรนัดหยุดงานให้หมดทั้งประเทศ ให้ข้าราชการทุกคนลาป่วยพร้อมกันทั้งประเทศ เพื่อไม่รับใช้รัฐบาลชั่วต่อไป ทั้งนี้ ตนไม่เคยคิดให้ทหารออกมาปฏิวัติ แต่ขอให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลชั่ว และหากเราแพ้โหวตในสภาวาระ 3 ถึงเวลานั้นข้าราชการทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ ต้องมายืนข้างประชาชน
    ด้านนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยว่า จะสู้ในสภาในวาระ 2-3 เต็มที่ ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในวันที่ 1-10 ส.ค.นั้น เชื่อว่าถึงวันที่ 10 ส.ค. กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ มีหนทางเดียวคือถอนกฎหมายออกจากสภาทั้งหมด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็จะจัดเวทีปราศรัยเพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนไปสู่รัฐบาลต่อไป
    ก่อนหน้านั้น ช่วงเช้า เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่า ที่บริเวณบ้าน พล.ร.อ.พะจุณณ์  ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี และคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ภายในหมู่บ้านร่มรื่น เขตตลิ่งชัน เกิดเหตุผู้ไม่หวังดีขว้างระเบิดน้อยหน่าเข้ามาภายในบ้าน แต่ระเบิดไม่ทำงาน โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด 
    โดย พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าวว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 30 ก.ค.  เวลาประมาณ 03.39 น. ขณะที่ตนและภรรยากำลังพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน ได้ยินเสียงกระถางต้นไม้แตกที่บริเวณหน้าบ้าน แต่ไม่ได้ลุกขึ้นมาตรวจสอบ จนกระทั่งช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงพบวัตถุระเบิดที่ถูกปามาถูกกระถางต้นไม้แตก แต่ระเบิดไม่ทำงาน เพราะไม่ได้ถอดสลัก จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ตลิ่งชัน มาตรวจสอบ เชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของบุคคลที่ไม่หวังดีรับงานมาให้ก่อกวนบ้านตน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนจะเกี่ยวกับการที่ตนไปชุมนุมร่วมกับกลุ่ม อพส. ก็แล้วแต่จะคิด  แต่วันที่ 4 ส.ค.นี้ ตนในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งก็คงจะเดินทางไปร่วมชุมนุมด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น