ต้องยึดหลักสันติ-ใช้เหตุผล ที่หวั่นเกิดเหตุรุนแรง ก็จะไม่เกิดขึ้น
เบื้องต้นยังมีคำยืนยันจาก แกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ภายใต้การเคลื่อนไหวในชื่อ 'คณะเสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ' ว่ายังคงนัดชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2556 นี้ ตามเดิม แม้รัฐบาลจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนด 10 วัน ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.56
โดยในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ประธาน อพส. ย้ำว่า การนัดชุมนุมดังกล่าวทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ด้าน พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี แกนนำ อพส. บอกเช่นกันว่าจะเปิดเผยสถานที่ชุมนุมในวันเสาร์ที่ 3 ส.ค.นี้ และเห็นว่าการที่มีตำรวจตั้งด่านในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยที่ยังไม่มีการชุมนุม เรื่องนี้ทาง อพส.จะใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นหนังสือร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน คาดว่าจะยื่นภายในวันที่ 2 ส.ค. เพื่อเอาผิดกรณีรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะทางกลุ่มเคลื่อนไหวในกรอบสิทธิรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 แต่รัฐบาลกลับใช้กฎหมายลูก ซึ่งต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ จึงเป็นการปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ในช่วงตั้งแต่ 4-7 สิงหาคม 2556 การเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาจะเป็นอย่างไร แต่ละฝ่ายจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีผ่านแกนนำพรรคอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศแล้วว่า จะดำเนินการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วยวิธีการคัดค้านในระบบรัฐสภา ทั้งในวาระ1 ที่เป็นวาระรับหลักการไปจนถึงวาระ 3 ที่เป็นวาระเห็นชอบ โดยพรรคจะไม่มีการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาในลักษณะเช่นการตั้งเวทีปราศรัยคัดค้านหน้ารัฐสภา ในช่วงวันที่ 7 สิงหาคม ที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แต่หากสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยไม่ฟังเสียงท้วงติงคัดค้านของฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางอย่างในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แล้วมีการผ่านสภาวาระ 3 โดยไม่มีการแก้ไข พรรคก็พร้อมจะเดินหน้าออกมาเคลื่อนไหวกับประชาชนเพื่อล้มรัฐบาล
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะใช้ระบบรัฐสภา คัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แม้จะรู้ดีว่า ต่อให้ค้านอย่างไรทั้งในวาระแรกไปจนถึงวาระสาม ก็ยากที่จะคัดค้านหรือต้านทานได้สำเร็จ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาไปจำนวนมาก ตรงนี้ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ แม้อาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่มที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเป็นแถวหน้าในการเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วยการตั้งเวทีคัดค้าน หรือนัดชุมนุมหน้ารัฐสภาในช่วง 7 สิงหาคม 2556 เพราะแต่ละฝ่ายก็ต้องมีเหตุผลของตัวเอง บางฝ่ายอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีท่าทีแบบนี้ แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีเช่นนี้ คนที่อาจไม่เห็นด้วยก็คงต้องรับฟังการตัดสินใจดังกล่าว
ซึ่งเมื่อประชาธิปัตย์เลือกที่จะคัดค้านในวิถีทางของระบบรัฐสภา ก็ทำให้บางฝ่ายมองว่าน่าจะทำให้อุณหภูมิการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในช่วง 7 สิงหาคม น่าจะลดทอนอุณหภูมิอันร้อนแรงไปได้บ้าง แม้อาจมีเสียงแย้งว่าแม้ประชาธิปัตย์ไม่ออกหน้าแต่ก็อาจหนุนอยู่ข้างหลังได้ หากมีการนัดรวมตัวหน้ารัฐสภา 7 ส.ค. อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนกันไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของ อพส.ในวันที่ 4 สิงหาคม หรือจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มไหนๆ ในช่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ สิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการเห็นก็คือ การเผชิญหน้ากันของฝ่ายผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ - การใช้แผนควบคุมการชุมนุมที่รุนแรงเกินเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ การจัดตั้งมวลชนมาเผชิญหน้ากัน - การสร้างสถานการณ์ของบุคคลบางกลุ่ม เพื่อหวังให้เกิดเหตุรุนแรงหรือการเผชิญหน้ากัน
ดังนั้น เมื่อจะมีการนัดชุมนุมของฝ่ายผู้ชุมนุม หรือมีการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือการชุมนุมของฝ่ายตำรวจ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ แต่ละฝ่ายต่างต้องยึดหลักว่าต้องไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรทำรุนแรงกับประชาชน ทั้งสองฝ่ายควรต้องใช้การพูดคุยเจรจากันด้วยเหตุผล และเฝ้าระวังไม่ให้มีมือที่สาม หรือมีการสร้างสถานการณ์อะไรกันเกิดขึ้น
หากทุกฝ่ายยึดหลักตรงนี้ ก็เชื่อว่า ที่หลายคนหวั่นจะเกิดเหตุอะไรขึ้นหรือไม่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น