วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จับตาสถานการณ์รถยนต์คันแรก ค้างหนี้-ไฟแนนซ์ไล่ยึด 09-08-13 12:05


จับตาสถานการณ์รถยนต์คันแรก ค้างหนี้-ไฟแนนซ์ไล่ยึด

นโยบายประชานิยมตามระบอบทักษิณอย่างรถยนต์คันแรก เริ่มส่งสัญญาณไม่สู้ดี   โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้และการยกเลิกสัญญาซื้อ  เพราะภาวะค่าครองชีพที่บีบรัดในช่วงครึ่งปีหลัง 2556
โดย ข้อมูลจาก ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนี้สถานการณ์สินเชื่อเริ่มเป็นที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในครึ่งปีแรก ที่มียอดคงค้าง 260,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้น 8,800 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่มีอัตราหนี้ค้างชำระสูงขึ้นมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังไม่มีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ที่เกินปกติ แต่ ธปท จะจับตาอย่างใกล้ชิด ส่วนระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2
ขณะที่ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมายอมรับก่อนหน้านี้ว่า จากยอดจองใช้สิทธิ์รถยนต์คันแรกจำนวน 1.25 ล้านคัน จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดพบว่า จะมีการยกเลิกใบจองรวมประมาณ 2 แสนคัน เนื่องจากแรงซื้อของคนไทยหดตัวไปมาก ในส่วนของตลาดรถยนต์มือสองเองก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งในด้านยอดขายและราคาขายที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้แล้วการที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาก ก็มีส่วนทำให้ปีนี้  จำนวนรถยึดจากไฟแนนซ์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กประเภท 1500cc ลงมา ส่วนข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง 2556 ว่าจากผลของนโยบายที่ทำให้มีการดึงอุปสงค์ล่วงหน้ามาใช้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ส่วน ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ก็บอกว่า ขณะนี้มีลูกค้าที่ได้รับเงินคืนตามสิทธิ์ในโครงการรถยนต์คันแรกไปแล้ว  และกลายเป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้ต้องยึดรถเพื่อนำออกประมูลขายทอดตลาดแล้วเกือบ 300 คัน โดยขณะนี้สถาบันการเงินอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการขอยกเลิกการถือครองรถ 5 ปี กับกรมสรรพสามิตตามกระบวนการ ซึ่งลูกค้าต้องนำเงินที่ได้รับสิทธิ์ไปคืนให้กรมสรรพสามิตทั้งจำนวน ส่วนรถยนต์ที่ถูกยึดประมูลขายทอดตลาด ก็ต้องดูว่ามีมูลค่าเพียงพอกับมูลหนี้ที่เหลือหรือไม่  
ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า หากบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้นำรถไปขายทอดตลาดแล้ว  แล้วได้เงินไม่พอกับมูลหนี้ที่เหลืออยู่กับสถาบันการเงิน ขั้นตอนต่อไปสถาบันการเงินก็ต้องไปเรียกเก็บหนี้ส่วนที่เหลือกับลูกหนี้ และหากลูกหนี้ไม่มีจ่ายก็ต้องถูกดำเนินการฟ้องร้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนเงินคืนตามสิทธิ์ และหากลูกหนี้ไม่คืนเงินภาษีรถคันแรกกลับมาให้กรมสรรพสามิต  กรมสรรสามิตที่ต้องไปไล่เบี้ยกับผู้ซื้อรถยนต์เองต่อไป ด้านผู้ซื้อรถคันแรกก็อย่าหวังว่า ให้ยึดรถไปแล้วจะได้เงินแสนไว้นอนกอด... งานนี้บอกได้คำเดียวว่า หากผ่อนไม่ไหว ก็มีแต่เสีย กับเสีย!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น