‘ปู’ผวาท่วมกรุง เร่งสกัดน้ำเหนือ จับตางัดข้อกทม.
"ปู" ยันดูแลน้ำเหนือไม่ให้ท่วมกรุง เผยทำงานประสาน กทม.ตลอด ชี้กระทรวงน้ำแค่แผนอนาคต "ปลอด" ปัดยังไม่เริ่มต้น "ศศิน" แฉ ครม.อนุมัติเขื่อนแม่วงก์ทั้งที่อีเอชไอเอไม่สมบูรณ์ เลขาฯ สบอช.เสียงอ่อยจำนน ชาวนาสุโขทัยสุดทน ขับอีแต๋นปิดสนามบิน รองผู้ว่าฯ เคลียร์เปิดทางน้ำให้พอใจยอมสลาย
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปีนี้ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำรวจความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว เบื้องต้นหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบ ปภ. โดยเทียบกับความเสียหายจริงด้วย ส่วนจะจ่ายครัวเรือนละ 5,000 บาท เหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น ต้องขอดูรายละเอียดความเสียหายอีกครั้ง เพราะปี 2554 บางเกณฑ์เป็นการให้กรณีพิเศษ แต่บางเกณฑ์เป็นขั้นตอนปกติ
ส่วนกรณีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุน้ำเหนือที่จะไหลลงมาอยู่นอกเหนือการควบคุม หากเกิดปัญหาการระบายน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อ กทม.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ได้ประสานงานกันอยู่แล้ว และทำงานร่วมกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำ โดยพยายามมองน้ำเป็นองค์รวมในการบริหารจัดการ และจากการติดตามการแก้ปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยปี 2554 ได้ทราบความสามารถและประสิทธิภาพในการระบายน้ำของ กทม.ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลพยายามบริหารจัดการในส่วนของน้ำเหนือให้มากที่สุด เพื่อให้ระบบการระบายน้ำของ กทม. ไม่เกินขีดความสามารถที่รองรับ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งกระทรวงน้ำว่า เป็นแผนที่อยากเห็นในอนาคต แต่ทั้งหมดต้องเกิดจากการบูรณาการในภาคปฏิบัติให้เป็นระบบก่อน แล้วถึงจะนำเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นทุกหน่วยงานมีแนวคิดที่ตรงกัน ดังนั้นคงขอให้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ก่อน แล้วค่อยมาดูว่าข้อมูลต่างๆ มีความพร้อม แค่ไหนอย่างไร
เมื่อถามว่า จะรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำมาไว้ด้วยกันใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อยากเห็นอย่างนั้น อยากเห็นการบูรณาการในภาพรวมให้เป็นเอกภาพมากกว่า ซึ่งต้องพิจารณาว่าอยู่ส่วนไหนแล้วทำให้การตัดสินใจและการทำงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ คงต้องดูว่าขั้นตอนกฎหมายจะใช้เวลาแค่ไหนอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ด้วย ซึ่งต้องให้ทุกหน่วยงานออกความเห็นกันอย่างชัดเจน ดังนั้นคงยังไม่ได้เห็นในเวลาอันใกล้นี้
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมีกระทรวงน้ำ จะเป็นเรื่องการรวมกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำเข้ามาจัดหมวดหมู่ใหม่เท่านั้น โดยจะต้องพิจารณาว่าจะมีการดูแลน้ำอย่างไรบ้าง รวมถึงจะมีกรมไหนที่เข้ามาอยู่ ซึ่งรายละเอียดขึ้นอยู่กับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. ที่จะต้องศึกษารายละเอียดก่อนหากจะตั้งกระทรวงน้ำจริง หมายถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดจะมาอยู่ภายใต้กระทรวงนี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดตั้ง
ขณะที่นายปลอดประสพกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า กระทรวงน้ำยังไม่ได้มีการเริ่มต้นใดๆ ทั้งสิ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 32 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 840,728 ครัวเรือน 2,862,758 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ พะเยา และแม่ฮ่องสอน แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 25 จังหวัด
อธิบดี ปภ.กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังในชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บมากนัก เนื่องจากได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกกระจายในจังหวัดพื้นที่รอยต่อภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลใน 10 จังหวัดภาคเหนือและอีสานจำนวน 57 แห่ง ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมจากพายุหวู่ติ๊บเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ และเตรียมแผนการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ที่รัฐสภา มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจให้ก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (อีเอชไอเอ) กรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์
โดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 ครม.อนุมัติการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทั้งที่อีเอชไอเอยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งรายงานของอีเอชไอเอปี 40 สนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนบริเวณพื้นที่เขาชนกัน แทนพื้นที่ปัจจุบัน เพราะจะช่วยรองรับน้ำได้มากกว่าถึง 70% หรือ 500 ล้านลูกบาศ์กเมตร อีกทั้งการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะกระทบระบบนิเวศ เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจำนวนมาก และประโยชน์ที่จะได้รับในการกักเก็บน้ำมีเพียง 100,000 ไร่ ไม่ใช่ 300,000 ไร่ตามที่เข้าใจกัน เพราะจุดประสงค์เดิมของเขื่อนแม่วงก์สร้างเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่น้ำท่วม
ขณะที่ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ซึ่งมาให้ข้อมูลแทนนายปลอดประสพ ยืนยันว่า เขื่อนแม่วงก์สามารถลดผลกระทบปัญหาน้ำท่วมได้ โดยลดอัตราการไหลสูงสุดของน้ำจาก 1,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที เหลือ 490 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ นายกฯ และนายปลอดประสพให้นโยบายว่า พร้อมจะเชิญนายศศินและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ สื่อมวลชน มาให้ข้อมูล และพร้อมนำไปพิจารณาเพิ่มเติม
"รายงานของอีเอชไอเอที่เสนอให้ ครม.รับทราบนั้น เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ของกรมชลประทานเท่านั้นที่เสนอมายัง สบอช. แต่ยังไม่มีการสรุปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" นายสุพจน์ระบุ
ที่ จ.สุโขทัย ชาวนาในพื้นที่ 4 ตำบล 16 หมู่บ้านของ อ.สวรรคโลก กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันนำรถอีแต๋นมาจอดปิดทางเข้า-ออกสนามบินสุโขทัย เพื่อกดดันให้ทางสนามบินสุโขทัยเร่งเปิดทางระบายน้ำที่ท่วมขังนาข้าวกว่า 6,000 ไร่ หลังพบบริเวณใต้สะพานที่เป็นจุดระบายน้ำเส้นทางหลักของสนามบิน ได้มีการทำประตูตาข่ายแล้วนำกระสอบทรายไปปิดกั้นขวางทางน้ำไว้
จากนั้น นายปิติ แก้วสลับสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และ พล.อ.คมกฤช ศรียะพัน รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสนามบิน ได้มาเจรจาและรับปากที่จะช่วยเร่งแก้ปัญหาให้ทันที กลุ่มชาวนาจึงตั้งตัวแทนจำนวน 14 คน ร่วมกันลงชื่อในสัญญาข้อตกลง 5 ข้อ กับตัวแทนสนามบินสุโขทัย โดยต้องเปิดทางน้ำให้อย่างถาวรทางด้านทิศเหนือและฝั่งตะวันออก ซึ่งมีนายปิติ และนายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ส.ส.สุโขทัย พรรคภูมิใจไทย ร่วมเป็นพยาน สร้างความพอใจจึงยอมเปิดทางเข้า-ออกสนามบิน
ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ ชาวบ้านบ้านสวรรค์น้อย หมู่ 6 และบ้านสวายสอ หมู่ 8 ต.ชุมแสง อ.กระสัง ซึ่งถูกน้ำชีเอ่อท่วมขังบ้านเรือน วัด โรงเรียน ถนน ไร่นาล้อมรอบหมู่บ้าน ต้องติดเกาะมานานเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ล่าสุดนางพูน มีโชค อายุ 72 ปี ชาวบ้านบ้านสวรรค์น้อย ได้เสียชีวิตด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน ญาติต้องเคลื่อนศพใส่เรือท้องแบนของทหารฝ่ากระแสน้ำเกือบ 3 กม. เพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจยังวัดสวายสอ ซึ่งอยู่อีกฟากของหมู่บ้านด้วยความทุลักทุเล.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น