วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศาลนัด4ตค.ชี้ชะตางบ57 เมื่อ 3 ต.ค.56

ศาลนัด4ตค.ชี้ชะตางบ57


ศาล รธน.ยกคำร้อง "พล.อ.สมเจตน์" และคณะ ไม่ห้ามนายกฯ นำร่าง รธน.ฉบับที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ระบุยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องสั่งคุ้มครองชั่วคราว ปชป.เฉ่งนายกฯ มีเจตนาเร่งรัดทั้งที่ยังไม่ถึงเวลา 20 วัน จี้ให้ทบทวน เตือนหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ "ยิ่งลักษณ์" ท่องตามบท ต้องทำตามขั้นตอน รธน. ถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดีใจศาลไม่สั่งชะลอทูลเกล้าฯ ถวาย ส.ส.แดงเดินหน้าชง พท.ยกเลิก ม.309  ลุ้นระทึก! ศาลรธน.นัดตัดสินร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 วันที่ 4 ตุลา.นี้
    เมื่อเช้าวันพุธ ตุลาการศาลรัฐธรรนูญได้มีการประชุมพิจารณาคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ และคำร้องของนายสาย กังกเวคิน กับคณะ ที่ขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยให้มีคำสั่งห้ามไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อไม่ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตรา 117, มาตรา 118, มาตรา 120, มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
    จากนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยแพร่ผลประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ยกคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ ผู้ร้องที่ 1 และคำร้องของนายสาย กังกเวคิน กับคณะ ผู้ร้องที่ 3 ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2556 เนื่องจากเห็นว่ากรณีเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับประเด็นที่ศาลเคยพิจารณา และมีคำสั่งยกคำขอแล้วในคราวประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 และวันที่ 27 กันยายน 2556 ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำร้องในขณะนี้ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรีและให้แจ้งผู้ร้อง
    นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้รับคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะที่ขอให้ศาลวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ รวมไว้ในสำนวนเดียวกัน และมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำสำเนาจำนวน 312 ชุด ส่งต่อศาลเพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและให้แจ้งผู้ร้อง
    ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ยับยั้งนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อนายกฯ ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาแล้ว ก็ชอบที่นายกฯ จะทบทวนเรื่องนี้ โดยวิธีการก็คือว่าสามารถที่จะขอเรื่องคืนกลับมาในขณะที่ยังไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งความจริงนายกฯ ก็เพิ่งส่งเรื่องไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ดังนั้นวันนี้ (2 ตุลาคม) ยังอยู่ในฐานะที่สามารถที่จะดำเนินการได้
    นายจุรินทร์กล่าวถึงอำนาจหน้าที่กำหนดให้นายกฯต้องทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน นับแต่ลงมติผ่านวาระ 3 ว่า ความจริงเรื่องเงื่อนไขเวลา 20 วัน จะเริ่มนับวันแรก คือวันที่ 28 กันยายน และครบ 20 วันในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งขณะนี้เพิ่งจะเป็นวันที่ 1 ตุลาคม นายกฯ ก็ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ทั้งที่สามารถรอไปจนถึงวันที่ 16-17 ตุลาคม ตรงนี้แสดงให้เห็นว่านายกฯ มีเจตนาต้องการเร่งรัด ไม่สำเหนียกหรือไม่สนใจต่อคำทักท้วงของฝ่ายต่างๆ
นายกฯ หนีไม่พ้น
    "นายกฯ จะอ้างอย่างไรก็ได้ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา นายกฯทราบว่ามีผู้ไปยื่นตามรัฐธรรมนูญ แต่นายกฯ ยังดึงดันรีบร้อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในร่างที่มีข้อสงสัยและมลทิน ดังนั้นในอนาคตหากเกิดอะไรขึ้น นายกฯ ต้องรับผิดชอบ" นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่แยกกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ  
    ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวต่อว่า วิปฝ่ายค้านจะทำหนังสือถึงนายกฯ อีกครั้ง เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และนายกฯ ก็ยังสามารถขอเรื่องกลับคืนมาได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ยังไม่ได้ส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ถือว่าเป็นเส้นตายของรัฐบาล แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็จะตกไป
    ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า พวกตนไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การเห็นด้วยหรือไม่เป็นสิทธิโดยชอบ เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิด ตรงกันข้ามการกระทำของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นการข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน
    ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังขาของฝ่ายค้านว่าทำไมรัฐบาลไม่ชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังศาลรัฐธรรมนูญรับตีความว่า ขอย้ำอีกครั้งว่ากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและได้มีหนังสือแจ้งมาว่ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ซึ่งถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของรัฐบาลโดยฝ่ายเลขานุการ ครม.ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ได้ดำเนินการตรวจสอบในข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว 
    น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยไม่สามารถไปยึดตามหลักอื่นได้ ต้องยึดหลักตามข้อกฎหมาย ในส่วนของความเห็นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องยึดตามหลักของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ถือว่าเสร็จสมบูรณ์             
    “อย่างที่เรียนว่าอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคืออำนาจของประชาชนและรัฐสภา อำนาจของฝ่ายบริหารก็ต้องแยกกัน ดิฉันเองก็มีหน้าที่ทำตามของรัฐธรรมนูญเท่านั้น” นายกฯ กล่าวว่า               
ปูโล่งอกศาลไม่สั่งชะลอ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ 40 ส.ว.เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราวชะลอไม่ให้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายระหว่างรอการตีความว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลยึดหลักตามข้อกฎหมายทั้งหมดว่าในส่วนของรัฐสภาได้ยืนยันมาแล้วว่าได้มีการโหวตวาระ 3 ขณะเดียวกันฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็ได้ตรวจสอบแล้ว ก็คงต้องทำตามในแง่ของรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ        
    “เราก็ยึดการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนดไงคะ” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว เมื่อถามว่าเป็นห่วงผลพวงที่จะตามมาหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด
    ต่อมาช่วงเย็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงความดีใจหลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องขอให้นายกรัฐมนตรีชะลอการทูลเกล้าฯ ถวายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่า "แสดงว่าดีใช่มั้ยคะ" พร้อมระบุว่าในส่วนอื่นก็ต้องรอฟังต่อไป
    วันเดียวกัน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางเอมอร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ยื่นหนังสือขอเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... เพื่อยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 พร้อมด้วยสำเนาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... ต่อนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เพื่อส่งเรื่องเสนอกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคยกเลิกมาตรา 309
      โดย นพ.เหวงกล่าวว่า ได้ปรึกษากรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยหลายคน มีความเห็นชอบในการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 309 เนื่องจากพวกตนเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นเรื่องอันตราย และเป็นการล้มล้างระบอบระบอบประชาธิปไตยด้วยกำลังอาวุธจากการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ล้มสภา ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นการกระทำที่เป็นกบฏ และเป็นโจรปล้นอำนาจประชาชน ทั้งยังสถาปนารัฐธรรมนูญปี 2540 ฉบับชั่วคราว ที่เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 309 ที่เห็นว่าเป็นการคุ้มครองการรัฐประหารทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต
    ส่วนนายเชิดชัยกล่าวว่า มาตรา 309 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม และขัดต่อหลักวิชาการในกรณีที่เป็นการปกป้องสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการถอยหลังเข้าคลอง จึงสมควรที่จะยกเลิกไป
    ขณะที่นายอำนวยกล่าวว่า ยินดีที่จะรับข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพื่อศึกษารายละเอียด ฟังความคิดเห็น และดำเนินการในการยกเลิกมาตรา 309 ตามเจตนารมณ์ของ นพ.เหวง
    ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 309 ควรยกเลิกอยู่แล้ว เพราะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร แต่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ยังไม่มีการหารือกัน คงต้องรอให้หารือและเห็นพ้องกันก่อน เพราะเกรงว่าจะมีการมองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่โดยหลักการควรจะยกเลิกอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูความคิด ความรู้สึกของสังคมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตนคิดว่ายังไม่ถึงเวลา
4 ตุลา.ตัดสินงบปี 57    
    นอกจากนี้ ช่วงเช้าวันเดียวกัน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 สภาผู้แทนราษฏร และผู้แทนสำนักงบประมาณ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าชี้แจงข้อมูล ตามคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับพวก รวม 50 คน และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับพวก รวม 62 คน อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ช. มีข้อความขัดหรือแย้งหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ซึ่งช่วงเช้า นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2557 และข้าราชการ ผู้แทนสำนักงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าห้องชี้แจงข้อมูลต่อศาล 
    โดยนายวราเทพเปิดเผยว่า ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากอาจจะมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันตอนแรก พร้อมทั้งคำร้องเขียนเหมือนกับว่ามีการไปตัดงบประมาณขององค์กรอิสระ โดยการพิจารณาของ กมธ. เราไม่ใช้คำว่าตัด แต่เป็นการพิจารณาในรายละเอียด และมีการปรับลดงบประมาณ ซึ่งปรับลดน้อยมาก 
    จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยแพร่ โดยระบุว่า โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำของผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว และศาลกำหนดให้มีการแถลงด้วยวาจาก่อนการลงมติและลงมติในวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 10.00 นาฬิกา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น