วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ครั้งแรกของโลกนิรโทษคนโกง เมื่อ 31 ต.ค.56



ครั้งแรกของโลกนิรโทษคนโกง
เนื้อหาของร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยมีเนื้อหาที่จะนำไปสู่การลบล้างคดีทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งคุณผู้ชมรู้หรือไม่ว่า ถ้าหากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงก็จะเป็นครั้งแรกของโลกที่เกิดการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอรัปชั่น หรือเรียกว่า First time on earth : Amnesty “Thecheat”
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้ที่กระทำการตามมาตรา 3 ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ในกรณีที่บุคคลใดอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวให้ผู้นั้น ทั้งนี้ ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อกระทำการตามมาตรา 3 ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดต่อไป
ที่ผ่านมาสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความ ร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม จากภัยทุจริต จนนำมาสู่การมีมติให้พิจารณากำหนดเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่มาของอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 และรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องจัดให้มีมาตรการที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารเพื่อให้มีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ
โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้เดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงข่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 2 โดยนายคำนูณ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะมีการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย รวมถึงผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน2549 และครอบคลุมไปถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันและการทุจริตการเลือกตั้งนั้น เกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้

ด้านพล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า ต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชันเป็นพิเศษ การที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันนั้น อาจจะทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในสายชาวโลกได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้
ขณะที่น.ส.รสนา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทำลายหลักนิติธรรม ขยายขอบเขตการนิรโทษไปถึงคดีทุจริตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เมื่ออำนาจบริหารร่วมกับอำนาจนิติบัญญัติจะกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำสิ่งผิดให้ถูกได้ ดังนั้นขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป เพื่อลดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณามาถึงขั้นของวุฒิสภา จะเรียกร้องเพื่อนสมาชิกไม่ให้ยอมรับร่างดังกล่าว เพราะส่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น