วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดปมพิสูจน์ไทย-กัมพูชาหารือ...บรรลุประโยชน์ทักษิณ?เมื่อ 30 ต.ค.56



เปิดปมพิสูจน์ไทย-กัมพูชาหารือ...บรรลุประโยชน์ทักษิณ?
 ลุ้นคำพิพากษาคดีข้อพิพาท"เขาพระวิหาร"  11 พ.ย.นี้ - "ทีนิวส์" แฉหลักฐานข้อเท็จจริงให้เห็นจะๆ ว่ารบ.ยิ่งลักษณ์ โดย "ทักษิณ" จะยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งจริงหรือไม่???
เริ่มต้นรายการในวันนี้ ไปติดตามผลการหารือระหว่างฝ่ายไทยกับกัมพูชา เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่ศาลโลกจะมีคำพิพากษาคดีข้อพิพาทเรื่องดินแดนเขาพระวิหารในวันที่ 11พ.ย.2556
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย - กัมพูชา หรือ JC ร่วมถึงแนวทางปฏิบัติก่อนที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินคดีตีความปราสาทพระวิหาร โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า หากผลการตัดสินของศาลโลกออกมาเป็นอย่างไร ทั้งสองประเทศจะไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ทั้งนี้ จะต้องมีมาตรการรักษาความสงบสุขตามแนวชายแดนในระดับรัฐบาและทหารในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นพ้องให้ทั้งสองประเทศยึดการเจรจา และเน้นให้เกิดให้เกิดความสงบเรียบร้อย ภายหลังที่ศาลตัดสินออกมา ซึ่งให้กระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศ เป็นหน่วยงานคอยให้ข้อมูลป้องกันความคลาดเคลื่อนของข่าวสาร โดยให้ใช้กรอบ JC การแก้ไขปัญหาชายแดน
ด้านนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ได้มีความพร้อมรับมือคำตัดสินของศาลโลก ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร พร้อมเปิดเผยว่า กรณีที่กัมพูชาได้ขึ้นศาลโลกเมื่อปี 2551 นั้น เป็นเพราะรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สร้างปัญหาให้กับประเทศกัมพูชา ดังนั้น จึงได้นำเรื่องขึ้นศาลโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าสิ่งที่กังวล คือ ท่าทีที่รัฐบาลไทยแสดงออกเหมือนพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนไทย รับคำพิพากษาของศาลโลก ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด ที่ผ่านมาเราปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกตั้งแต่ปี 2505
แต่วันนี้ กัมพูชาพยายามขยายคำพิพากษาให้มากกว่าเดิม โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เพื่อหวังฮุบพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือ การหาทางรองรับคำพิพากษา และศึกษาแนวทางต่างๆที่อาจเป็นไปได้ในเรื่องของการตัดสิน แต่การเดินทางไปประเทศกัมพูชาของนายสุรพงษ์นั้น ไม่ทราบว่าไปทำอะไรหรือพูดคุยเรื่องอะไร ทั้งที่เวลานี้ควรที่จะหารือกับหน่วยงานภายในประเทศ รัฐบาลต้องคำนึงถึงสูงสุดคืออธิปไตยและพื้นที่ของประเทศ ต้องไม่เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว รวมทั้งความปลอดภัยของประชาชนตลอดแนวชายแดนด้วย    
อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลคงไม่เอาผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศ ไปแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์รัฐบาลและกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อถูกกล่าวอ้างหลายครั้งว่า จะไปลงทุนสัมปทานทางทะเลระหว่าง 2 ประเทศ และหวังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะกำกับดูแลเพื่อรักษาดินแดนประเทศ ให้มีความชัดเจน
นอกจากผลคำพิพากษาของศาลโลกที่เป็นการเดิมพันอธิปไตยของไทยแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์การชุมนุมในประเทศอีกด้วย
เมื่อวานนี้(27)นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมด้วยเครือข่ายจำนวนหนึ่ง พยายามเดินทางไปที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นทวงถามเรื่องที่ต้องการให้ไทยถอนตัวออกจากภาคีศาลโลก
อย่างไรก็ตามการเดินทางมาในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีอ้างว่าติดภารกิจอยู่ด้านนอกทำให้นายไชยวัฒน์ขอให้ได้คำตอบภายในสัปดาห์นี้ และหากไม่มีความชัดเจน จะนัดรวมตัวเพื่อมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักในซอยโยธินพัฒนา ในวันอาทิตย์ ที่ 3 พฤศจิกายน อีกครั้ง
ในขณะที่ผลการประชุมเครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด ระบุถึงหนึ่งในเงื่อนไขของการเป่านกหวีดใหญ่ ก็คือการตัดสินคดีพระวิหารที่จะเป็นการพิสูจน์ว่า รัฐบาลคบคิดกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่
วันเป่านกหวีดการชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ จะเกิดขึ้นจาก 2 เงื่อนไข คือ1.หากวันที่ 11 พ.ย. ศาลโลก มีคำตัดสินว่าไทยเสียอธิปไตยหรือดินแดนให้กับกัมพูชา ก็จะเดินหน้าเคลื่อนไหวทันที
2.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร จะชุมนุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น ไม่รอการพิจารณาของวุฒิสภา
ในขณะที่กองทัพ นำโดยผู้บัญชาการทหารบกก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าพร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่าไม่มีใครอยากจะรบกัน วันนี้คนไทยหลายกลุ่มแสดงความเป็นห่วง ผมเข้าใจและร้อนใจเหมือนกัน แต่จะหาหนทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดสันติสุขมากที่สุด อยากให้ทุกคนตั้งสติ ก่อนหน้านี้เราเคยปะทะกับกัมพูชามาแล้ว ทุกคนเห็นว่า รุนแรง อย่ามาบอกว่า ทหารกลัว ไม่มีทหารประเทศไหนกลัวการรบ แต่กลัวความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบกับประชาชน ในประเทศอื่นๆ ก็มีความขัดแย้งแต่ไม่มีการรบกัน เพราะใช้การพูดคุยกัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรบ ทหารพร้อมรบเสมอ แต่ถ้ารบกันจะลามไปตลอดแนวชายแดนจนกลายเป็นการรบกันระหว่างประเทศ ทหารคงไม่เป็นไร แต่ประชาชนจะอยู่อย่างไร ผมมุ่งหวังไม่อยากให้รบกันเคยจำคำพูดของ นายพลแม็ค อาเธอร์ ได้หรือไม่ว่า บุคคลที่กลัวการรบมากที่สุดคือทหาร เพราะรู้ว่า รบกันแล้วจะต้องเจ็บหรือตายแค่ไหน ยืนยันว่า ทหารไทยทุกคนพร้อมรบ ทั้งนี้ไม่อยากให้คาดการณ์ล่วงหน้า ทุกสถานการณ์สามารถแก้ปัญหาได้ ขั้นตอนแรก คือ พูดคุยกันให้รู้เรื่อง แล้วรอให้ถึงวันนั้น และคอยดูว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไร คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่า กลุ่มไหน หรือสีไหน ทุกคนรักชาติด้วยกันทั้งนั้น คงไม่มีใครไม่รักชาติ การไปวิเคราะห์ วิจารณ์ว่า จะเกิดเหตุการณ์บริเวณนั้น จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและประชาชนจะสับสน จนส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหา โดยเฉพาะทหารที่อยู่ตามแนวชายแดน อยากให้สงบสติอารมณ์บ้าง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหา
ผบ.ทบ. กล่าวว่า เราอย่าเอาเรื่องพรมแดนมาเป็นความขัดแย้งจนอยู่กันไม่ได้ เราควรมาสร้างประโยชน์ร่วมกัน ถ้ารบกันก็มีแต่สูญเสีย ถ้าร่วมมือกันจะได้ทั้ง 2 ประเทศ ตนได้เสนอกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมว่า ควรกำหนดพื้นที่ชายแดน บริเวณช่องทางถาวรเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งท่านรับในหลักการ ตนมองว่า หากกำหนดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้จะเป็นการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรได้ และจะเป็นการลดปัญหาเขตแดน ทั้ง 2 ประเทศต้องพูดคุยกันว่า จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ ตนไม่อยากให้ใช้อาวุธกัน เพราะการรบกันวันนี้ อาวุธมันรุนแรง ทหารไม่ได้กลัว แต่ห่วงว่าจะหยุดไม่อยู่ ระหว่างนี้อยากให้ทุกคนรอว่า หลังการพูดคุยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ในสายตาทั่วโลกมองว่า ประเทศไทยใหญ่กว่า ทันสมัย กองทัพมียุทโธปกรณ์เข้มแข็ง ถ้าเราทำอะไรเกินเลยมากไปจะเสียเปรียบ ส่วนที่เราติดลำโพงตามแนวชายแดนก็มีบางสื่อบอกว่า เราไปกลัวเขา อันนี้เรียกว่า ไม่เข้าใจ และทำลายพวกเดียวกันอีก สิ่งที่ผมต้องการ คือ การสร้างความเข้าใจ เพราะบางครั้งเวลาเกิดเหตุติดต่อกันไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ติดลำโพงเพราะเรากลัวเขา อยากให้ทุกคนเข้าใจผม ขนาดคิดละเอียดอ่อนขนาดนี้ ยังมีคนโจมตีว่ากลัวกัมพูชา อยากบอกว่า ไม่มีใครกลัวใคร สื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้บ้านเมืองไปได้ วันนี้ยังแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้สักเรื่อง เพียงก้าวแรกจะรบกันเสียแล้ว ทุกอย่างต้องเริ่มทีละขั้นจนพูดคุยกันไม่ได้แล้วถึงจะรบกัน คิดว่า ทุกปัญหามีวิธีแก้ไข อยากให้คนไทยแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ทั้งการพูดคุย หรือ กระบวนการกฎหมาย ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ก่อนแล้วรบกัน ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้ ล้มเหลวกันหมดแล้วเราจะไม่มีใครเขาคบ        
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่า ทั้งสองประเทศจะนำความขัดแย้งทางการเมืองภายในมาจุดกระแสจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต่างฝ่าย ต่างต้องดูแลประชาชนของตัวเอง ต่างฝ่ายก็ต่างห่วงประเทศของตัวเอง อย่างประเทศไทยถือว่าหนักแล้ว ต่างคนต่างแก้ปัญหากันไป
อีกประเด็นร้อนเรื่องเขาพระวิหาร ที่ในวันนี้ สำนักข่าวทีนิวส์จะได้พิสูจน์หลักฐานข้อเท็จจริงให้เห็นจะจะว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งจริงหรือไม่
แม้นายกรัฐมนตรีจะยืนยันถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่เมื่อไล่ดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของพ.ต.ท.ทักษิณ กลับทำให้ต้องสงสัยว่า รัฐบาลโดยพ.ต.ท.ทักษิณจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวจริงๆหรือไม่
เมื่อปี 2552 รัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กับไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
หลังจากนั้นพ.ต.ท.ทักษิณก็เข้านอกออกในกัมพูชาได้อย่างสบายๆ หลายต่อหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในระดับที่แน่นแฟ้น ท่ามกลางข้อสงสัยเรื่องการมีผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝง
และที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศถึงกับต้องตกตะลึงก็คือ การเดินทางไปฉลองสงกรานต์ที่กัมพูชาเมื่อปี 2554 พร้อมกับคนเสื้อแดง ก่อนจะร่วมกันขับร้องบทเพลงยกย่องสมเด็จฮุนเซน อย่างออกรสออกชาด รวมไปถึงบทเพลงที่แปลงมากจาก เลท อิท บี เพื่อใช้กัมพูชาเป็นฐานโจมตีทางการเมือง
ไม่แค่เพียงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งเหล่านี้เท่านั้น ว่าด้วยเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ กับสมเด็จฮุนเซน ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย
ย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริง ครม.ทักษิณอนุมัติเงินกู้  567.8 ล้านบาทให้รัฐบาลกัมพูชา ดำเนินการก่อสร้างถนนสาย 48  ตราด-เกาะกง-สะแรอัมเปิล ก่อนเพิ่มเติมวงเงินให้อีก 300 ล้าน ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 
ไม่แค่นั้นครม.ทักษิณยังอนุมัติวงเงินกู้อีก 1,300 ล้านบาท ให้รัฐบาลสมเด็จฮุนเซน ดำเนินการก่อสร้างทางหลวง R 67 อัลลองเวง-เสียมราฐ  ไม่รวมเงินงบประมาณแบบให้เปล่าอีกราวกว่า 500 ล้านตามโครงการช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน   เป็นการช่วยเหลือที่คนไทยวันนี้อยากรู้ว่าสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณทำให้กับรัฐบาลกัมพูชาในวันนั้นเป็นไปเพื่อมนุษยธรรมหรืออะไรกันแน่      
เพราะขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกจะหนีโทษทัณฑ์ด้วยการเร่ร่อนไปที่ประเทศต่าง ๆ อย่างไร้ซึ่งแผ่นดินอยู่เป็นหลักแหล่ง ก็ปรากฎว่าในวันที่  14 พ.ค. 2551 วันเดียวกับการทำพิธีเปิดใช้ถนนสาย 48  ตราด-เกาะกง-สะแรอัมเปิล
พล.อ.เตีย บัณห์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กัมพูชา ได้ออกมาประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีแนวคิดจะลงทุนสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มูลค่ากว่าหลายแสนล้านบาท ที่เกาะกง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้ทุ่มเทงบประมาณช่วยเหลือไปนั่นเอง และรัฐบาลกัมพูชาก็พร้อมเสนอแผนเช่าที่ดิน 99 ปีให้เป็นการตอบแทนความตั้งใจดีของอดีตผู้นำไทย
ซึ่งนี่ก็เป็นการตอบคำถามข้อสงสัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนั้น ความเป็นจริงแล้วใครกันแน่ที่ได้รับผลประโยชน์แท้จริง ผลประโยชน์เชิงทับซ้อนของพ.ต.ท.ทักษิณและสมเด็จฮุนเซนไม่ได้จบเท่านั้น  เรื่องราวยิ่งบานปลาย ข้อเท็จจริงก็ยิ่งถูกเปิดเผยมากยิ่งขึ้น และจากกรณีที่กัมพูชาได้แต่งตั้งให้พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซน จนเกิดผลกระทบกันอย่างรุนแรง
พี่เด้ง---และที่น่าตระหนักกันแบบสุดๆ ก็คือการเปิดเผยของมูลชิงลึกของวิกิลีกส์ สื่อนอกที่คนเสื้อแดงให้การเชื่อถือเป็นอย่างมาก ว่าพ.ต.ท.ทักษิณมีความพยายามอย่างหนักทั้งตอนเป็นนายกและหลังจากการถูกรัฐประหาร ในการเดินหน้าผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา
ในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ มีการเปิดเผยโดยวิกิลีกส์ ว่ามีการตกลงทางลับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 โดยได้กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่า ผู้แทนบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย โดยระบุว่าบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี
ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหารยึดอำนาจ
นายเกากล่าวว่า ทั้งสองเห็นพ้องกัน ในหลักการแบ่งรายได้ในพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด สัดส่วนไทย 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50 และสัดส่วนไทย 20 กัมพูชา 80 สำหรับพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา
ในเวลานั้น นายเกาคิดว่า การเจรจาเพิ่มเติมอีก 6 เดือนน่าจะตกลงในประเด็นนี้ได้ อย่างไรก็ตามความสำคัญของเขตแดนซับซ้อนทางทะเลต่ออนาคตของภูมิภาค ถูกตอกย้ำในเอกสารที่รั่วอีกฉบับ ซึ่งให้รายละเอียดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา กับนายแกรี ฟลาเฮอร์ตี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเชฟรอน ในปี 2550 เช่นกัน
เอกสารระบุว่า เชฟรอน บริษัทที่ขุดเจาะและสำรวจบ่อน้ำมันส่วนที่เรียกว่า "บล็อค เอ" นอกชายฝั่งของกัมพูชา มีความสนใจอย่างมากในการได้รับสิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน โดยนายฟลาเฮอร์ตี้ กล่าวว่า พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการสำรวจ และอาจเปลี่ยนแปลงกัมพูชาแบบพลิกโฉม ส่วนบล็อค เอ นั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะสำรวจและทำกำไรได้โดยลำพัง
แม้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณจะถูกยึดอำนาจไปแล้ว แต่ความปรารถนาของพ.ต.ท.ทักษิณในการหาประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาก็ยังคงมีอยู่ ดังที่ปรากฎในความเคลื่อนไหวผ่านรัฐบาลนอมินีในสมัยรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช โดยรัฐมนตรีต่างประเทศคือ นายนพดล ปัทมะก็ได้มีการพบกับ นาย ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อเดือนมีนาคม 2551
และเสนอให้มีการประชุมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเรื่องเขตทับ ซ้อนทางทะเล แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่สะดวกเพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะภายหลังที่มีการออกแถลงการณ์ร่วมจากฝ่ายไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ที่ถูกคนไทยต่อต้านอย่างหนัก และยังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190
ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ เวชชาชีวะ มีความพยามยามจะดำเนินการต่อในการพบปะระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมกราคม 2552
แต่ระหว่างการเจรจาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะกัมพูชาตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องประกาศลดระดับความสัมพันธ์ เรียกทูตกลับ และ เมื่อรัฐบาลกัมพูชาท้าทายด้วยการเชิญพ.ต.ท.ทักษิณไปเยือนและปฏิเสธการส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณให้ทางการไทยตามคำขอ รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยกเลิกเอ็มโอยูปี 2544
ฉะนั้นคงต้องรอดูท่าทีจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ว่าจะมีท่าทีต่อประเด็นพระวิหารอย่างไร อีกทั้งต้องจับตาเป็นพิเศษคือปฏิกิริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อการที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินในวันที่ 11 พ.ย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น