วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จวก‘สุรพงษ์’ปากพล่อย ยอมรับคำตัดสินศาลโลก เมื่อ 30 ต.ค.56

จวก‘สุรพงษ์’ปากพล่อย ยอมรับคำตัดสินศาลโลก


โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยันรัฐบาลไทยปฏิเสธอำนาจศาลโลกได้ หากคำตัดสินนอกเหนือคำตัดสินเมื่อปี 2505 กังขา “ปึ้งศักดิ์” รู้คำพิพากษาล่วงหน้า ถึงได้อี๋อ๋อเฒ่าฮอร์ นัมฮง ถามจะปฏิบัติตามศาลโลกใช่หรือไม่หากคำพิพากษาออกมาแล้วไทยเสียดินแดน ขณะที่ “สุรพงษ์” ด่ากราดกลุ่ม “ไชยวัฒน์” สร้างความรำคาญให้ปู 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันอังคาร ถึงกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศกัมพูชา เพื่อหารือกลไกทำงานร่วมกันหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ว่าการแถลงของนายสุรพงษ์เป็นมุกเดิม ที่มุ่งโจมตีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอย้ำว่ารัฐบาลชุดที่แล้วกับกัมพูชาไม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กิจการค้าขายตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ยินยอมให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว 
“คือจุดยืนที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กับรัฐบาลที่เป็นต้นตอสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ฉะนั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเด็กดีในสายตาของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสมอ แล้ววันนี้ก็ไปจับมือกันมัดมือมัดเท้าคนไทยทั้งประเทศ และบอกว่าคำพิพากษาศาลโลกจะออกมาเป็นอย่างไร ประเทศไทยต้องยอมรับ ถามว่าเอาอำนาจอะไรมาตัดสินแทนคนไทย”
นายชวนนท์ย้ำว่า การเจรจาของทั้งสองประเทศเป็นวิธีที่ถูกต้อง และการรักษาความสงบตามแนวชายแดนเป็นเรื่องสำคัญ แต่คำพิพากษาที่จะออกมาในครั้งนี้ ไม่มีช่องไหนเลยที่ประเทศไทยจะได้อะไรเพิ่มเติม มีแต่เสมอตัวกับเสียมากขึ้น ทำไมนายสุรพงษ์ต้องออกมาบอกว่าเราต้องยอมรับคำพิพากษา เมื่อไม่มีช่องทางได้เลย ตนกังวลและไม่อยากจะคิดว่ามีคนที่คาดเดาหรือเก็งข้อสอบรู้คำพิพากษาล่วงหน้า และถ้าคำพิพากษาออกมาในลักษณะให้ไทยปฏิบัติการเพิ่มเติมในเรื่องเขตแดนหรือเสียเขตแดน รัฐบาลไม่มีอำนาจไปดำเนินการ ไม่ว่าจะผ่านคณะกรรมาธิการความร่วมมือไทย-กัมพูชา (เจซี) เพราะถ้าเป็นเรื่องเขตแดนหรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ต้องนำเรื่องเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เท่านั้น
“ผมแปลกใจมากที่นายสุรพงษ์พูดเหมือนกับดูง่ายสบายๆ ถ้าคำพิพากษาออกมาอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้น ซึ่งอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าคำพิพากษาออกมาให้ไทยเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียวเรื่องนี้ต้องเข้าสภาฯ และผมก็กังวลเพราะรัฐบาลเร่งรีบลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ แล้วคำพิพากษาของศาลโลกออกมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน ถ้ากฎหมายผ่านออกมาใช้ได้ แผนการของรัฐบาลจะสำเร็จหรือเปล่า คือฮั้วกันได้ ตกลงกันได้ เสียดินแดนได้โดยไม่ต้องบอกรัฐสภา”
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า จากวันนี้ถึง 11 พฤศจิกายน คนไทยจะต้องจับตาดูเรื่องนี้ เพราะคิดว่าขณะนี้กระแสสังคมยังไม่ตื่นตัวเรื่องปราสาทพระวิหาร ทั้งที่เราสุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดน ดังนั้นเรียกร้องให้ประชาชนกดดันรัฐบาล ให้ตั้งหน้ารักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ มากกว่าการไปก้มหัวและน้อมรับคำพิพากษาเป็นเบี้ยล่างประเทศกัมพูชาแบบนี้ และเรื่องนี้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เพราะจุดเริ่มต้นทุกอย่างมาจากพรรคพลังประชาชน มีคนบอกว่าพลังประชาชนเป็นคนเปิดดิว แล้วพรรคเพื่อไทยจะมาปิดดิวนี้ให้สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ไทยจะปฏิเสธอำนาจศาลโลก นายชวนนท์กล่าวว่า เราไม่ได้รับอำนาจศาลโลกตั้งแต่ปี 2505 แต่คำฟ้องไปฟ้องก่อนปี 2505 ศาลจึงตีความว่ามีอำนาจในการตัดสิน ซึ่งในขณะนี้ไทยไม่ได้รับอำนาจศาลโลก ฉะนั้นคำพิพากษาใดก็แล้วแต่ ที่นอกเหนือจากคำพิพากษาปี 2505 ไทยมีสิทธิ์ปฏิเสธอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่กัมพูขาอ้างขณะนี้คือ ให้ตีความคำพิพากษาเดิมในปี 2505 ว่าให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งคำถามคือบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารอยู่ตรงใด ดังนั้นต้องดูคำพิพากษาที่ออกมาต้องไม่เกินคำพิพากษาเดิม
    ทางด้านนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายกฯ ได้มอบหมายให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ สรุปการหารือร่วมกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ในการกำหนดกลไกความร่วมมือหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำพิพากษาคดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ที่เห็นสอดคล้องกันในการรักษาความสัมพันธ์ ความสงบสุขสองประเทศ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร ใช้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) ไทย-กัมพูชา และคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและความเชื่อมโยง (เจซีบีดี) ในการหารือหลังศาลโลกมีคำสั่ง 
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายกฯ ถึงกรณีนายไชยวัฒน์ สินธ์สุวงศ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ให้เวลา 7 วัน โดยให้นายกรัฐมนตรีรับหนังสือการคัดค้านคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก ว่านายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับเรื่อง และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงให้ประชาชนทราบ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงชี้แจงกรณีที่มีกลุ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีศาลโลกว่า เรื่องนี้สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยขอชี้แจงว่าประเด็นการเป็นภาคีศาลโลก และการยอมรับอำนาจศาลโลกหรือไม่นั้น ต้องแยกออกจากกัน ทั้งนี้ ข้อ 93 วรรค 1 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ระบุว่า สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติเป็นภาคีธรรมนูญแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยพฤตินัย ย่อมหมายความว่าไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ย่อมมีผลให้ไทยเป็นภาคีศาลโลกโดยปริยาย
"การชี้แจงนี้ไม่ใช่เป็นการโต้แย้งกลุ่มใด หรือบุคคลใด กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบต้องเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ครบถ้วน และให้การต่อสู้คดีนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใสที่สุด เข้าใจดีว่ามีกลุ่มต่างๆ มีข้อกังวลและข้อห่วงใย ถือเป็นสิทธิ์การแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ในช่วงที่ศาลโลกกำลังจะประกาศคำตัดสินในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เรื่องทั้งหมดจึงควรเป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะคำตัดสินมีผลต่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของไทยในสังคมโลก มีผลต่อความสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้านและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งความผาสุกของประชาชนคนไทยและกัมพูชาตลอดแนวชายแดน" นายสีหศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ได้เขียนเอกสารบันทึกข้อความถึงนายสีหศักดิ์ เพื่อให้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วย โดยมีเนื้อหาระบุว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝากมาว่า ถ้านายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ฟังคำชี้แจงจากท่านปลัดสีหศักดิ์ในวันนี้แล้วยังไม่รู้เรื่องหรือยังไม่เข้าใจ และยังยืนยันที่จะไปเรียกร้องกับท่านนายกฯ ที่บ้านพักอีกล่ะก็ ขอให้นายไชยวัฒน์มายื่นเรื่องกับ รมว.กต. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทุกเวลา ไม่ต้องไปวุ่นวายสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนตามท้องถนน”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น