ลุยทะลุซอย สภาฯนัดพิจารณานิรโทษกรรม 31ตค.นี้
เรียกว่าเดินหน้ากันแบบสุดซอยแน่นอนแล้วสำหรับการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะล่าสุดได้มีการยกเลิกการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ก่อนที่จะมีการสั่งโดยกำหนดให้เป็นการประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมเป็นกรณีเฉพาะ เพียงอย่างเดียว
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน นัดสุดท้าย ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยสาระสำคัญในวันนี้เป็นเพียงการพิจารณาศึกษาตรวจสอบความถูกต้องของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนนำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ภายหลังการประชุม นายสามารถ กล่าวว่า ตนได้เซ็นชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่ประธานสภา ในการบรรจุวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งในวาระที่ 2 นั้น มี ส.ส.ขอแปรญัตติ จำนวน 197 คน จะพิจารณาเป็นรายมาตรา และโหวตทีละมาตรา จนครบ 7 มาตรา จากนั้น เข้าสู่วาระที่ 3 เมื่อเสร็จสิ้นจะส่งให้วุฒิสภา กลั่นกรองต่อไป
จากนั้นมีการตรวจสอบพบว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามเห็นชอบที่จะบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ วันที่ 31 ต.ค. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว และแจ้งวาระการประชุมดังกล่าวให้ ส.ส. ทราบแล้ว
สำหรับหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 สมัยสามัญทั่วไป เป็นพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 09.30 นาฬิกา โดยบรรจุระเบียบวาระไว้เป็นวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีหนังสืองดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 ต.ค.2556ไปแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 7 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ที่ให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมแค่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและมีความผิดตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้แก้ไขให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นายเจริญระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีผลกระทบและได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ก็จะคืนความสงบ ความชอบธรรมให้ประชาชน ส่วนการที่ฝ่ายค้านเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องดังกล่าวนั้น ตนยืนยันว่า การบรรจุวาระการประชุมได้ดำเนินการตามข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะอธิบายว่า มีผลกระทบหรือมีความจำเป็นอย่างไร และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ พร้อมเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ผ่านสภาฯ ได้ จะไม่เป็นตราบาปของสภาผู้แทนราษฎร และการที่จะทำเพื่อใครก็เป็นเรื่องอนาคต
นายเจริญระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีผลกระทบและได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ก็จะคืนความสงบ ความชอบธรรมให้ประชาชน ส่วนการที่ฝ่ายค้านเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องดังกล่าวนั้น ตนยืนยันว่า การบรรจุวาระการประชุมได้ดำเนินการตามข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะอธิบายว่า มีผลกระทบหรือมีความจำเป็นอย่างไร และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ พร้อมเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ผ่านสภาฯ ได้ จะไม่เป็นตราบาปของสภาผู้แทนราษฎร และการที่จะทำเพื่อใครก็เป็นเรื่องอนาคต
พร้อมๆ กันกับที่ในวันนี้ ทางด้านของพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุม ส.ส. พรรค ซึ่งก็แน่นอนว่า ประเด็นสำคัญ ก็คือการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะกับส.ส.เสื้อแดง ในการร่วมมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระ 2 และ 3
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ร่วมประชุมพรรคในครั้งนี้แต่อย่างใด โดยได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาโดยระบุถึง ร่างกฎหมายดังกล่าวว่าเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยระบุว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล แต่เป็นร่างของส.ส. ซึ่งต้องมองว่าอำนาจฝ่ายบริหารกับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัตินั้นทำงานกันคนละส่วน แต่เชื่อว่าการถกเถียงในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้นยังมีอีกหลายขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของส.ส. และส.ว. โดยในระหว่างนั้นความกระจ่างหรือข้อมูลต่างๆ คงมีความชัดเจนมากขึ้น
เมื่อถามว่านายกฯ เห็นด้วยกับคำว่า "set zero" หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การที่จะเดินไปข้างหน้าได้คงต้องใช้เวลาในการพูดคุยกัน ซึ่งส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายมองในมิติของประเทศ และมองว่าส่วนไหนบ้างที่จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ ก็ต้องพยายามปรับแก้กันไป เพราะวันนี้เราพูดวนกันถึงเรื่องเดิมมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกด้วยว่า ส่วนตัวไม่ได้บอกว่าการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังกล่าวจะนำไปสู่การหาทางออกให้กับประเทศ แต่เห็นว่าการจะเดินไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการพูดคุย โดยมองที่มิติของประเทศเป็นสำคัญในการหาทางออกร่วมกัน
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่านางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้นัดพูดคุยและร่ำไห้กับนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง เพื่อทำความเข้าใจ ถึงความต้องการนำพ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่รู้เรื่อง"
สำหรับกระแสข่าวที่ว่า นางเยาวภา ได้นัดพูดคุยกับส.ส.เสื้อแดงนั้น มีออกมาหลังจากที่แกนนำเสื้อแดงได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ทำให้ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยไม่สบายใจ
ซึ่งรายงานระบุว่า นางเยาวภา ได้พยายามขอร้องให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง เข้าใจ โดยแหล่งข่าวอ้างคำพูดของนางเยาวภา ที่ระบุว่า อยากให้พี่ชายซึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับบ้าน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เจ็บปวดมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ แหล่งข่าวยังระบุอีกด้วยว่า ระหว่างที่พูดคุยกัน นางเยาวภา ถึงกับหลั่งน้ำตา และขอร้องให้ทั้งสองช่วย
ขณะที่นายจตุพร และนายณัฐวุฒิ อธิบายว่า ที่ต้องเตือน เพราะเรื่องนี้อาจทำให้เหตุการณ์บานปลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งก็เป็นการเตือนด้วยความปรารถนาดีและยืนยันว่าทุกคนก็อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านทั้งนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น