วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เดิมพันไล่ทรราช ‘เทือก’ลั่นยืดเยื้อสู้ถวายชีวิต‘พะจุณณ์’ปลุกทหาร เมื่อ 31 ต.ค.56

เดิมพันไล่ทรราช ‘เทือก’ลั่นยืดเยื้อสู้ถวายชีวิต‘พะจุณณ์’ปลุกทหาร


ปรี๊ดจุดติด “สามเสน” ชุมนุมหลายหมื่นต้านเซตซีโร “สุเทพ” ประกาศสู้ยืดเยื้อด้วยชีวิต เทหมดหน้าตัก ลั่นหากประชาชนเจ็บแม้คนเดียว ครอบครัวรัฐบาลอยู่ไม่ได้แน่ “พระจุณณ์” โผล่ม็อบ คปท.ปลุกทหารออกมาร่วม! เวทีสภาฯ ระอุไม่แพ้กัน งัดข้อบังคับชิงเหลี่ยม “อภิสิทธิ์” ประกาศขอสู้ถึงจำคุก-ประหารชีวิต เพื่อแม้วแสลงถูกด่าทรราช ใช้มุกปิดประชุมรูดซิปปาก สั่งปิดเกมก่อน 1 พ.ย. “ปู“ อายเอื้อครอบครัวคาดไม่โหวต “อดุลย์” ขอ 3 วันประเมินขยายกฎหมายติดหนวด
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันพฤหัสบดีมีความร้อนแรงทั้งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและบนท้องถนน
โดยก่อนเข้าวาระ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้เรียกร้องให้ถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่องเอ็นบีที พร้อมทั้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมประชุม เพราะเคยระบุว่า อยากให้ทุกฝ่ายต่อสู้กันในสภาฯ อย่านำการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.ลพบุรี มาหลบเลี่ยง เพราะในวันที่ 31 ต.ค.ไม่มีการประชุม
    นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการถ่ายทอดผ่านช่อง 11 แต่ถ่ายทอดสดผ่านวิทยุโทรทัศน์และของสภาฯ ส่วนกรณีนายกฯ ได้มีหนังสือมาว่าขอลาประชุม เพราะเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ลพบุรีและสิงห์บุรี ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. ถึงวันที่ 1 พ.ย.
    นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปัดความรับผิดชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ติดภารกิจ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะเข้าร่วมตามปกติในวันที่ 2 พ.ย. ส่วนจะร่วมโหวตหรือไม่นั้นต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายฝ่ายมองเป็นการช่วยคนในครอบครัว และหากท้ายที่สุดสภาฯ ไม่สามารถออกกฎหมายได้ ก็ต้องหาวิธีอื่น แต่รัฐบาลจะไม่พิจารณาออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมหรือยุบสภาฯ แน่นอน  
จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างยังอภิปรายและทักต่อเนื่อง ทั้งกรณีถ่ายทอดสด, น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าร่วม, การเป็นกฎหมายการเงิน และการเลื่อนประชุม แต่สุดท้ายนายสมศักดิ์ได้ตัดบทเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และได้ลงมติญัตติการเลื่อนพิจารณากฎหมายหรือไม่ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณากฎหมายต่อไปด้วยคะแนนเสียง 308 ต่อ 112  
เพื่อไทยแสลงทรราช
 ในเวลา 12.00 น. การอภิปรายยังคงไม่สามารถเข้าสู่เนื้อหาได้ เนื่องจากมีการทักท้วงในรายงาน กมธ.ที่มีความบกพร่อง รวมถึงข้อสังเกตการบรรจุคำแปรญัตติของ กมธ. โดยการอภิปรายมาร้อนแรงขึ้นเมื่อนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในเรื่องชื่อร่างกฎหมาย ที่มีการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกากับไทยในเรื่องทรราช ทำให้นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงให้ถอนคำพูดก่อนจะมีการแย่งไมค์นายนิพิฏฐ์ แต่สุดท้ายประธานก็ให้นายนิพิฏฐ์อภิปรายจนจบก่อนไปตรวจสอบในการกล่าวคำว่าทรราช
ในเวลา 16.00 น. ระหว่างนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กำลังอภิปรายชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ก็ได้เสนอปิดอภิปราย ท่ามกลางการประท้วงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่ในที่สุดที่ประชุมมีมติ 305 ต่อ 103 เสียง เห็นชอบให้ปิดอภิปราย จากนั้นได้ลงมติ 306 ต่อ 109 เสียง รับชื่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....
    ต่อมาได้เข้าในส่วนของคำปรารภ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านที่ได้สงวนความเห็นอภิปรายว่า มีจุดยืนมาตลอดว่านิรโทษกรรมจะออกได้ ต้องมีเส้นแบ่งว่าความผิดที่สมควรได้รับนิรโทษ แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาต้องไม่นิรโทษกรรมให้ เพราะไม่ใช่การแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การชุมนุมตามสิทธิ์ทางการเมืองและรัฐไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ที่จะบอกว่าชีวิตที่สูญเสียไปนั้นถือว่าไม่ผิดอีก การเอาอาวุธออกจากบ้านมายิงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง
มาร์คลั่นสู้ถึงประหาร
“ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากกระบวนการระบุว่าผมผิด ผมพร้อมยอมรับ จะสั่งให้ประหารชีวิตหรือจำคุก ก็ดำเนินการได้ เพราะถือว่าระบบใหญ่กว่าตัวบุคคล ยืนยันว่าประเทศนี้ต้องมีการพิสูจน์เพื่อเป็นบรรทัดฐาน แต่บางคนที่มาจากตระกูลที่มีสันดานเอาแต่ได้คงไม่คิดแบบนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ดูอย่างไรก็ไม่ถึงคนโกง การโกงเป็นการชุมนุม แสดงออกทางการเมืองหรือไม่ ถ้าแสดงออกการกินเมืองล่ะใช่ จะมารวมได้อย่างไร ไม่ต้องถอยไปเซตซีโรหรอก ใครมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ผมต้องการต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อพิเศษ ขจัดคราบเลือดด้วยเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท บ้านเมืองไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อนี้
ต่อมานายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธาน ซึ่ง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ทวงถามถึงการให้ถอนคำว่ารัฐบาลทรราช โดยนายเจริญได้อ่านชวเลข และได้สั่งให้นายนิพิฏฐ์ถอน แต่นายนิพิฏฐ์ยืนยันว่าไม่ถอน ทำให้นายเจริญต้องสั่งให้ออกจากห้องประชุมไป
    ต่อมาเวลา 18.05 น. นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เสนอปิดอภิปรายในส่วนคำปรารภอีกครั้ง ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคนไม่พอใจลุกขึ้นประท้วง และชี้ว่าไม่สามารถทำได้ แต่สุดท้ายที่ประชุมก็มีมติปิดอภิปรายด้วยเสียง 307 ต่อ 88 เสียง และลงมติ 307 ต่อ 91 เห็นด้วยกับร่างเดิมในคำปรารภ
    จากนั้นเวลา 18.30 น. นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ได้ขอเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ ส.ส.เพื่อไทยได้ลุกขึ้นทักท้วงว่าไม่สามารถเสนอญัตติซ้อนได้ ซึ่งประธานในที่ประชุมจึงตัดบทเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่าง โดยมีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสงวนความเห็นคนแรก แต่ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขอปิดการอภิปรายของนายจิรายุบ้าง จนเกิดการทักท้วงไปมาจนทำให้นายเจริญต้องขอสั่งพักการประชุม 10 นาที
    สำหรับความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธกระแสข่าวพรรคส่งสัญญาณถอยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า พรรคยังชัดเจนสนับสนุนร่างที่ กมธ.แก้ไขตามข้อเสนอของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธาน กมธ. และจะโหวตในทิศทางนี้ทุกคน ส่วนความเห็นของคนเสื้อแดงเราเคารพและเห็นใจ แต่เมื่อพรรคมีมติก็ต้องปฏิบัติตาม
ลั่นลุยให้จบไม่เกิน 1 พ.ย.
    รายงานข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันเช่นกันว่า ไม่มีสัญญาณให้ถอยหรือล้มเลิก เนื่องจากเป็นแผนที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว หากถอยจะเสียเปล่าในสิ่งที่ทำมาทันที ส่วนกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณโพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณพร้อมถอยนั้น เป็นเพียงการหลบกระแสต่อต้าน เอาใจมวลชนเสื้อแดงเท่านั้น เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ยังส่งสัญญาณให้เดินหน้าให้จบไม่เกินวันที่ 1 พ.ย.
“ก่อนเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งคนใกล้ชิดไปพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายทหารที่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมทุกฝ่าย เพราะทหารทั้งที่อยู่ในราชการหรือนอกราชการ ไม่ต้องการให้ปากคำในชั้นศาล”
    ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ นั้น ที่แยกอุรุพงษ์ บรรยากาศการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เริ่มคึกคักในช่วงเย็น ประชาชนทยอยมาชุมนุมกันมากขึ้น ในขณะที่กิจกรรมบนเวทียังคงปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลสลับการแสดง โดยนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท. แถลงว่า จะปักหลักที่แยกอุรุพงษ์ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ส่วนแม่น้ำร้อยสายจะเวียนบรรจบตรงไหน เป็นเรื่องอีก 2-3 วันข้างหน้า และยืนยันว่าจะไม่ไปร่วมชุมนุมที่สามเสน
     นายวัชรินทร์ เรื่องฤทธิ์กุล อดีตนายกสโมสรนักศึกษา ปี 2554 มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน ประกาศจะจัดตั้งเวทีสนับสนุน คปท. ซึ่งขณะนี้ได้ล่าชื่อมีคนลงนามแล้ว 3,000 คน และคาดว่าจะมีนักศึกษามาร่วมชุมนุม คปท. ไม่น้อยกว่า 1,000 คนแน่นอน
    ในเวลา 17.00 น. ที่หน้ามูลนิธิช่วยคนตาบอดเเห่งประเทศไทย ฝั่งตรงข้ามอาคารเทพรัตน์ รพ.รามาธิบดี กลุ่มแพทย์ไทยหัวใจรักชาติ นำโดย ศ.นพ.ประมวล วรุตมเสน อดีตนายกแพทยสภา อดีตศาตราจารย์แผนกสูตินรีเวช จุฬาฯ ได้จัดตั้งขบวนเข้าร่วมเดินรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยแต่งชุดขาว-ดำ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คน และได้เดินทางไปสมทบกับ คปท.ที่เเยกอุรุพงษ์ ก่อนเดินทางไปร่วมกับผู้ชุมนุมที่สามเสน ซึ่ง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เเกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ก็ได้เดินทางเข้ามาร่วมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย
    สำหรับด้านหลังเวที คปท. ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งอดีตนายทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการ และนักการเมืองเดินทางมาให้กำลังใจแกนนำคึกคัก ทั้ง พล.ร.อ.พระจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี, พล.อ.อ.สามารถ โสดสถิตย์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทอ., พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรอง ผบช.ภ.9, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว., นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา
พระจุณณ์ปลุกทหาร
“ขอเชิญชวนพี่น้องทหารที่ยังไม่ปรากฏตัวทั้งที่เกษียณแล้ว และยังรับราชการอยู่ขอให้ออกมา อย่ามั่วแต่คิดว่าออกมาไม่ได้ เพราะนี่เป็นหน้าที่เพื่อปกป้องสถาบัน” พล.ร.อ.พระจุณณ์เรียกร้อง
     พล.อ.อ.สามารถกล่าวเช่นกันว่า มาให้กำลังใจการชุมนุม เพราะประชาชนได้ออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้องขจัดความไม่ดีของผู้ปกครอง ซึ่งได้ชวนเพื่อนๆ ทหารออกมา แม้จะแก่และเกษียณแล้วก็ตาม
    พล.ต.ต.วิสุทธิ์กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาผู้บริหารประเทศใช้ไม่ได้ ออกกฎหมายให้ผู้กระทำผิด ให้คนคดโกงพ้นผิด เอาเงินที่โกงไปกลับคืนให้คนโกง ตนเป็นตำรวจมีสีเดียวคือ สีกากีที่ต้องดูแลประชาชน จึงขอแนะนำตำรวจว่าถ้ารัฐบาลชนะ คนที่ได้ความดีความชอบคือพวกเจ้านายพวกหัวหน้า ดังนั้นตำรวจที่เป็นฝ่ายปฏิบัติก็อย่าจริงจังทำพอเป็นพิธี เรากินเงินประชนชน ไม่ใช่ขี้ข้าผู้บริหารประเทศที่ใช้อำนาจพวกมากลากไปออกกฎหมายและเหลิงอำนาจ
ที่เวทีสามเสนนั้นได้มีการตั้งเวทีปราศรัยหน้าร้านอาหารชูจันทร์ บริเวณ ถ.เศรษฐศิริตัดกับ ถ.กำแพงเพชร 5 และมีการปิดถนนตั้งแต่ปากซอยหน้าที่ทำการพรรค ปชป.จนถึงทางตัดรางรถไฟก่อนถึงสถานีรถไฟสามเสน พร้อมกางเต็นท์ให้ผู้ชุมนุมใช้นั่ง รวมทั้งเต็นท์ปรุงอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุม ที่มีทั้งครัวภาคต่างๆ และมีการขนข้าวสารกว่า 300 กระสอบ มาตั้งไว้บริเวณหน้าลานแม่พระธรณีบีบมวยผม โดยผู้ชุมนุมยังคงทยอยเดินทางมาร่วมคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น และในช่วงค่ำมีปริมาณกว่า 3 หมื่นคน
โดยบนเวทีปราศรัยได้เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. โดยมี ส.ส.ปชป.สลับกันขึ้นปราศรัย ทั้งนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเวทีว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาประกาศว่ายอม และถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากสภาฯ ก็จะกลับบ้าน แต่ถ้าไม่ถอนก็สู้จนกว่าจะถอน และจะยืดเยื้อหรือไม่ต้องถามประชาชน เพราะทำงานร่วมกับประชาชนเต็มตัวแล้ว
“ครั้งนี้ผมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อตัดสินใจว่าจะลงสู่ถนนก็ไม่กังวลอะไร ได้กลายสภาพเป็นแกนนำม็อบเต็มตัว จึงอยากบอกประชาชนว่าไม่มีใครใหญ่กว่าประชาชน ถ้าทั้งประเทศร่วมใจเป็นหนึ่งเราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ และรักษาบ้านเมืองได้” นายสุเทพกล่าว
ต่อมาเวลา 18.45 น. นายสุเทพได้ขึ้นเวทีปราศรัย โดยได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า จะต่อสู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนถึงที่สุดจนกว่าจะชนะ หากไม่ชนะก็ไม่เลิก และขอให้ประชาชนทั่วประเทศลุกขึ้นมาร่วมกันต่อสู้ คนที่อยู่ต่างจังหวัดให้นั่งรถไฟฟรีมาลงที่สถานีรถไฟสามเสน หรือไปชุมนุมที่หน้าศาลากลาง
“การที่ผมต้องประกาศเป็นแกนนำ เพราะรัฐบาลกำลังหาจำเลย จึงขอประกาศว่าจะสู้ด้วยชีวิตเทหมดหน้าตัก ต่อสู้เคียงข้างประชาชนทุกคืนทุกวันจนกว่าจะชนะ ทั้งนี้ ขอเตือนรัฐบาลว่าให้เลิกคุกคามข่มขู่ผู้จะเข้าร่วมชุมนุม และข่มขู่เรื่องมือที่สาม หากใครทำร้ายประชาชนคนนั้นต้องรับผิดชอบ และถ้ามีผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายแม้แต่คนเดียว คนในครอบครัวรัฐมนตรีจะไม่มีใครปลอดภัยและอยู่ประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป วันนี้มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5 หมื่นคน วันที่ 1 พ.ย. ขอให้ได้ 1 แสนคน และวันที่ 2 พ.ย. ให้ได้ล้านคน”
ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ผู้ร่วมชุมนุมเดินทางเข้ามาจนแน่นขนัดตา และเข้ายึดเต็มพื้นที่บนถนนกำแพงเพชร 5 ตั้งแต่บริเวณสามแยกร้านชูจันทร์จนถึงสามแยกร้านส้มตำดอกคูน และล้นไปอีกฝั่งของรางรถไฟ จนทำต้องติดตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แต่งชุดดำพากันเป่านกหวีดเป็นระยะ แต่น่าสังเกตว่า การสื่อสารทั้งสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้การได้ 
ส่วนความเคลื่อนไหวในภูมิภาคนั้น มีหลายจังหวัดที่มีการตั้งเวทีปราศรัยต่อต้านเรื่องดังกล่าวที่บริเวณศาลากลางจังหวัดหลายแห่งแล้ว อาทิ จ.อุบลราชธานี, ตรัง และนครศรีธรรมราช
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการชุมนุมที่สามเสนว่า การข่าวจะมีผู้ร่วมชุมนุม 2-3 หมื่นคน มาจาก กทม.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ชุมนุมทุกกลุ่มเชื่อมโยงกัน ทั้งบริเวณแยกอุรุพงษ์, สวนลุมพินีและสามเสน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์วันต่อวัน แต่ยังไม่มีแนวคิดขยายพื้นที่ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่อย่างใด ขอดูสถานการณ์หลังจากนี้อีก 3 วันก่อนประเมินอีกครั้ง ส่วนมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย ใช้กำลังจากตำรวจนครบาล 40 กองร้อยดูแล
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ระบุว่า คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 8,000 คน เป็นมวลชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ส่วนการ์ดที่ใช้ดูแลมีการเตรียมมาโดยเฉพาะจาก จ.ระยองและเพชรบุรี รวมทั้งมีหลักฐานยืนยันว่าจะชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลานาน
“ศอ.รส.ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงขั้น อาจถึงขั้นต้องปิดการเดินรถไฟ และในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนจะส่งผลกระทบต่อการจราจร”
    รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดกำลังตำรวจครั้งนี้จะใช้กำลังจากกองร้อยควบคุมฝูงชนทั้งหมด 48 กองร้อย หรือ 7,470 นาย โดยแบ่งเป็นดูแลในพื้นที่สถานที่สำคัญ 43 กองร้อย และสถานที่รอบนอก 5 กองร้อย
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า คิดว่าเรามีบทเรียนอยู่แล้ว ก็ไปหาทางออกให้ดีที่สุด คิดว่ามีวิธีแก้ไขปัญหาหลายอย่างทั้งสันติวิธี กระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม อย่าเอาทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น