วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"ม็อบข้าวโพด" ลุย ศาลากลางเชียงราย จี้รบ.แก้ไขราคาตามที่เคยเรียกร้อง ( 30 ต.ค.56)



"ม็อบข้าวโพด" ลุย ศาลากลางเชียงราย จี้รบ.แก้ไขราคาตามที่เคยเรียกร้อง
        ม็อบข้าวโพดบุกหน้าศาลากลางจ.เชียงราย  วอนรบ.ให้เกษตรกรเข้าร่วมแทรกแซงตามราคาที่เรียกร้อง  นอกจากนี้กลุ่ม นปช.เชียงรายได้ออกแถลงการณ์ให้รบ.แทรกแซงราคารับซื้ออย่างจริงจัง
     วันนี้ ( 30 ต.ค.56)  ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกข้าวโพดจำนวนกว่า 300 คน จาก 18 อำเภอของพื้นที่จังหวัดเชียงราย นำโดยนายชัยธวัช สิทธิสม ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกร จังหวัดเชียงราย พากันยกขบวนปักหลักชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอให้รัฐดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ให้สิทธิ์กับเกษตรกรผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่เคยผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เมื่อปี 2552-2553 และไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินและไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรปี 2552-2553 สามารถออกใบรับรองเข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาได้ และขอให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้จุดรับซื้อข้าวโพดที่มีความชื้น 30% กิโลกรัมละ 7 บาท และความชื้น 14.5% ที่กิโลกรัมละ 9 บาท แต่ปัจจุบันเมื่อเกษตรกรนำข้าวโพดไปขาย พบว่าสามารถขายจริงได้เพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
          นายชัยธวัช สิทธิสม ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 3 แสนไร่ เกษตรกรกว่า 6,000 ราย แต่มีถึงกว่าร้อยละ 80 เป็นที่ดินที่ทางกรมป่าไม้อนุญาตให้ทำกินได้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ไม่สามารถเข้าโครงการแทรกแซงได้ทำให้ต้องขายกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 4 บาท ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท ทำให้เกษตรกรประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งหากเกษตรกรจะอยู่รอดได้ ก็ต้องสามารถขายได้อย่างต่ำกิโลกรัมละ 6 บาทขึ้นไป จึงอยากให้รัฐบาลให้เกษตรกรเข้าร่วมราคาแทรกแซงตามราคาที่เรียกร้อง
          นอกจากนี้กลุ่ม นปช.เชียงรายได้ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลแทรกแซงราคารับซื้อข้าวโพดอย่างจริงจังตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มพ่อค้าคนกลางยังใช้ทุกวิถีทาง เพื่อกดราคาเกษตรกรโดยเฉพาะความชื้น ทำให้เกษตรกรขายจริงเพียง 3-4 บาท ต่อกิโลกรัม และไปรับส่วนต่างจากรัฐบาลอีก 1.5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผลประโยชน์ไม่ตกอยู่ในมือเกษตรกรแต่กลับเป็นของกลุ่มทุนและชาวบ้านมีการเรียกร้องมา 7-8 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
          ต่อมานายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงรายเดินทางเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมและแจ้งว่าขณะนี้รัฐบาลได้ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธื์ไปลงทะเบียน เพื่อขอรับใบรับรองผู้ปลูกข้าวโพดจริงและสามารถเข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 แต่กรณีรับซื้อข้าวโพดที่มีความชื้น 30% ให้เงินถึงมือเกษตรกร กิโลกรัมละ 7 บาท และเงินค่าบริหารจัดการ 1.50 บาท เงินค่าชดเชย 50 สต. และค่าขนส่ง 25 สต. ที่ผู้ประกอบการจะได้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล จึงทำให้ไม่สามารถไห้คำตอบอะไรได้ในเรื่องนี้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านเดินทางไปยังบ้านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ชุมชนสันโค้งเขตเทศบาลนครเชียงราย แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จึงแยกย้ายกันกลับ เพื่อที่จะเตรียมเดินทางเข้าเรียกร้องกับรัฐบาลยังกรุงเทพมหานครต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น