วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กังขา‘อสส.’บอดสีชุดดำ เมื่อ 30 ต.ค.56

กังขา‘อสส.’บอดสีชุดดำ


"อภิสิทธิ์-สุเทพ” แถลงยืนยันปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ-รองนายกฯ ที่ต้องรักษาความสงบ ลั่นพร้อมสู้คดีในชั้นศาลไม่หนีไปไหน กังขาอัยการสูงสุดสั่งฟ้องโดยอ้างว่าไม่มีชายชุดดำ ทั้งที่สำนวนฟ้องแกนนำ นปช.ในคดีก่อการร้ายระบุหลักฐานชัดว่ามีชุดดำฆ่าทหาร ขณะที่ “อสส.” ร่างคำฟ้องต่อศาลเสร็จ 31 ตุลาคมนี้ “ธาริต” ได้ทีหาช่องฟ้องเป็นรายคดี 
    เมื่อวันอังคาร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงกรณีอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสั่งฟ้องข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยเล็งเห็นผล กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เดิมที อสส.มีหนังสือให้รับทราบคำสั่งคดีร่วมกันก่อการฆ่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตย่อมเล็งเห็นผล ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้ว่า อสส.จะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้ 
“เพียงแต่ว่า อสส.ตัดสินใจแถลงก่อนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้นผมและคุณสุเทพจะยังเดินทางไปวันที่ 31 ตุลาคมเช่นเดิม สรุปคือยืนยันว่าผมและคุณสุเทพจะไม่หนีไปไหน จะเผชิญและต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และเรามีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพร้อมโต้ตอบสำนวนที่ดีเอสไอส่ง”
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงปี 2553 ตนและนายสุเทพปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และในขณะนั้นก็มีการชุมนุมที่ศาลวินิจฉัยว่าผิดกฎหมาย  จากเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทราบดีว่าการชุมนุมมีอาวุธและใช้อาวุธสงครามก่อความไม่สงบ ทำให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ตลอดเวลาพวกตนมีจุดยืนชัดเจนว่าจะนำบ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ และมีนโยบายไม่สลายการชุมนุม แต่ อสส.กลับแถลงขัดแย้งข้อเท็จจริงในเรื่องชายชุดดำ 
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนและนายสุเทพจึงทำหนังสือขอความยุติธรรมไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้แล้ว โดยให้เหตุผลว่า อสส.ทราบดีว่ามีชายชุดดำ เพราะ อสส.ส่งฟ้องคดีก่อการร้าย โดยในสำนวนคดีดังกล่าวมีปฏิบัติการของชายชุดดำ ดังนั้น อสส.จะอ้างเพียงว่าสำนวนของดีเอสไอไม่มีชายชุดดำจึงฟังไม่ได้ 
“บางคนบอกว่าผมและคุณสุเทพถือดี ไม่เกรงกลัวการขึ้นศาล อ้างว่ามีแบ็กดี ขอเรียกว่าพวกเราเป็นปุถุชน ไม่ต้องการตกเป็นจำเลยในข้อหาร้ายแรง แต่ประเด็นคือมั่นใจในความบริสุทธิ์ แบ็กเดียวที่มีคือเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ผมยืนยันว่าจะขอต่อสู้คดีไม่หนีไปไหน แม้คำตัดสินจะออกมาว่าเราผิด เราก็จะรับผิด และเคารพการวินิจฉัยของศาล เพราะถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองหรือใครก็ตามต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่ายังมีคนที่เอาประเทศชาติอยู่เหนือประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้คนที่มาจากตระกูลสันดานแห่งการโกงก็คงจะไม่เข้าใจ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ขณะที่นายสุเทพกล่าวว่า อสส.ไม่จำเป็นต้องออกมาแถลงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน ในเมื่อวันที่ 31 ต.ค.  อสส.ได้นัดให้พวกตนไปรับทราบข้อหาอยู่แล้ว แต่การทำแบบนี้เป็นการทำให้พวกตนเสียหาย ทั้งนี้ การที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า อสส.เป็นเครื่องมือของรัฐบาล โดยการสั่งฟ้องเพื่อบีบบังคับให้ยอมจำนนต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตนไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ 
นายสุเทพกล่าวว่า จากถ้อยแถลงของ อสส.มีพิรุธหลายอย่าง เช่น บอกว่าการทำของพวกตนไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เสมือนหนึ่งเป็นการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผิดกับมาตรฐานที่ อสส.ได้สั่งคดีอื่น เช่น กรณีสั่งไม่ฟ้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ข้อหาโครงการ กทม.ต่อสัญญาบีทีเอส ที่ อสส.ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอไม่มีอำนาจ 
เขากล่าวด้วยว่า ส่วนที่ อสส.บอกว่าไม่เห็นหลักฐานว่ามีชายชุดดำในการชุมนุมปี 53 นั้น อัยการโกหก เพราะเคยเห็นข้อเท็จจริงเรื่องชายชุดดำมาแล้ว จากสำนวนคดีพิเศษที่ 18/2553 นั้น ดีเอสไอยื่นให้อสส.สั่งฟ้องผู้ก่อการร้ายนั้นมีการระบุชัดว่ามีชายชุดดำในการชุมนุม ดังนั้นพฤติกรรมของ อสส.ทำให้เชื่อได้ว่ายอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจ ทำให้ภาพพจน์ อสส.ตกต่ำ 
“ดังนั้นเพื่อเป็นพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ ผมและนายอภิสิทธิ์จึงต้องมีการดำเนินคดีกับอัยการ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า แม้จะเป็นอัยการก็ติดคุกได้หากทำผิดกฎหมาย และใช้อำนาจโดยไม่ชอบ” นายสุเทพ กล่าว
    ด้านนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า หลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้ว ก็ได้ส่งสำนวนคดีกลับมาที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ โดยอัยการสูงสุดสั่งให้ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษเตรียมร่างคำฟ้องให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อที่จะได้เตรียมฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ทัน ซึ่งหากในวันดังกล่าวนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเดินทางมาพบอัยการตามนัด ทางอัยการก็จะแจ้งผลการสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดให้รับทราบอย่างเป็นทางการ 
“จากนั้นจะต้องรอดูว่าทางผู้ต้องหามีความประสงค์อย่างไร หากผู้ต้องหาประสงค์ใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครอง ก็สามารถทำได้ โดยทางอัยการก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยอาจจะต้องนัดฟ้องต่อศาลอีกครั้งหลังปิดสมัยประชุมสภา อย่างไรก็ตาม คำสั่งของอัยการสูงสุดถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ซึ่งทางผู้ต้องหาไม่สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้อีก หรือว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีความเห็นแย้งไม่ได้” นายวัชรินทร์กล่าว  
    ส่วนกรณีดีเอสไอยืนยันว่าจะต้องฟ้องแยกสำนวนคดีนั้น นายวัชรินทร์กล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดมองว่ากรณีดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งครั้งเดียว จึงมีความผิดกรรมเดียว แต่ทางดีเอสไอมองว่าเป็นความผิดหลายกรรม เพราะมองแยกเป็นคดีๆ ของผู้เสียชีวิตแต่ละรายเหมือนคำสั่งชันสูตรพลิกศพ ซึ่งต่อให้ทางดีเอสไอแยกสำนวนฟ้องสุดท้ายก็ต้องเอามารวมกันในชั้นศาล และสุดท้ายศาลก็จะตัดสินหนเดียว เพราะเป็นความผิดครั้งเดียว ซึ่งโทษสูงสุดก็คือประหารชีวิตเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทางอัยการก็ไม่ตัดสิทธิ์ของญาติผู้เสียชีวิตที่สามารถยื่นฟ้องเองได้ตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา  
    เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมองว่ามีการเมืองเข้าแทรกแซง นายวัชรินทร์กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการที่อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น จะต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งจะไม่มองว่าเป็นคดีการเมืองหรือมองว่าเป็นฝ่ายไหน  
    ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงว่า คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพตามความเห็นของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงเป็นการยืนยันว่าดีเอสไอได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยดีเอสไอดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มฮาร์ดคอร์ของ นปช. และผู้สั่งการของ ศอฉ. คือนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ
นายธาริตกล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว แม้จะออกคำสั่งหลายครั้งในเวลาต่างกันโดยให้ปฏิบัติในพื้นที่ต่างกัน และผลจากการกระทำตามคำสั่งของผู้ทั้งสองจะมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บต่างเวลาและต่างสถานที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นการออกคำสั่งที่ต่อเนื่องกัน มีเจตนาเดียวกันเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งดีเอสไอเคารพความเห็นของพนักงานอัยการ แต่ก็จะยืนยันในความเห็นเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ คือการแยกสำนวนคดีทั้งข้อหาฆ่าคนตายและข้อหาพยายามฆ่าคนตายเป็นรายคดีไป เว้นแต่กรณีใดที่เหตุการณ์ในเวลาและสถานที่เดียวกัน จึงจะร่วมสำนวนเป็นหนึ่งคดี 
    "แม้พนักงานอัยการจะฟ้องคดีกับผู้สั่งการ หรือผู้ก่อเป็นกรรมเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่ประสงค์จะแยกฟ้องเป็นรายคดีแต่ประการใด ซึ่งในที่สุดแล้วการกระทำผิดในคดีนี้จะเป็นกรรมเดียว หรือหลายกรรม หลายวาระ ก็อาจจะต้องชี้ขาดในศาลยุติธรรมในที่สุด" นายธาริตกล่าว 
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า คดีดังกล่าว ป.ป.ช. มีมติรับไว้ไต่สวน และอยู่ในระหว่างสรุปสำนวนว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่อย่างใด กับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ตนในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวน ได้รับมอบหมายให้พิจารณาเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการไต่สวนในเรื่องดังกล่าวต่อไปหรือไม่ ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยจะมีการแถลงผลการประชุมในวันดังกล่าวด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น