วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'ขนมปังไม่มีวันบูด'ภัยใหม่กินถึงตาย ขายเกลื่อนตามหน้าโรงเรียน เมื่อ 28 ต.ค.56



'ขนมปังไม่มีวันบูด'ภัยใหม่กินถึงตาย ขายเกลื่อนตามหน้าโรงเรียน
 
"คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนว่า ขณะนี้ในร้านขายของชำตามหมู่บ้านและหน้าโรงเรียน
มีการนำขนมเด็กไม่ได้มาตรฐานมาขายจำนวนมาก จากการลงสำรวจพื้นที่ภาคอีสาน พบว่า ขนมเหล่านี้ชาวบ้านเรียกว่า "ขนมหลอกเด็ก" มีหลากหลายรูปแบบทั้ง โดนัท ขนมปังทาเนย ช็อกโกแลต ผลไม้ดอง เยลลี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่มีเลข อย.หรือไม่ได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.)

ผู้สื่อข่าวทดลองซื้อขนมปังทาเนยจากร้านขายของชำในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.หนองบัวลำภู
เมื่อช่วงวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกตินานเกือบ 2 เดือนยังไม่ขึ้นราหรือมีลักษณะของการเน่าเสียแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคมเริ่มมีราสีดำขึ้นที่ขอบด้านนอก โดยขนมปังชิ้นนี้ไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสมหรือวันหมดอายุ


นอกจากนี้ ยังมี "ขนมปังไส้สังขยาใบเตย" ซึ่งผู้สื่อข่าวทดลองสุ่มซื้อมาจากร้านขายของชำหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ 
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ผ่านไปกว่า 50 วันแล้ว ยังไม่มีราขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับขนมเบเกอรี่ทั่วไปนั้น หากขนมปังไม่ได้ใส่สารกันบูดจะเก็บได้นานไม่เกิน 3-5 วัน แต่ถ้าใส่สารกันบูดตามที่องค์การอาหารและยา อย. กำหนดจะอยู่ได้ไม่เกิน 10 วันเท่านั้น


เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจากร้านขายหน้าโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ พบว่า
ขนมหลายชนิดที่วางขายมีลักษณะของขนมอันตรายบรรจุในห่อไม่ได้มาตรฐานและไม่มีวันหมดอายุหรือฉลากกำกับ ขนมกลุ่มนี้เด็กเล็กนิยมซื้อกินเพราะมีราคาไม่เกิน 3-7 บาท แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. ขนมปัง-โดนัท-วาฟเฟิล 2.เยลลี่สีสันฉูดฉาด 3.ผลไม้ดอง มะยม กิมจ๊อ บ๊วยหวาน 4.ข้าวเกรียบกุ้ง และ 5. ช็อกโกแลตเทียม ทอฟฟี่ ลูกอม ฯลฯ  ขนมหลอกเด็กทั้ง 5 กลุ่มมีกลเม็ดหลายอย่างล่อลวงให้ผู้ซื้อคิดว่าปลอดภัย เช่น 1.กลุ่มขนมที่ไม่มีข้อมูลอะไรทั้งสิ้น 2.กลุ่มขนมที่มีเพียงยี่ห้อกับหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีสถานที่ผลิตและไม่มีเลข อย.รวมถึงไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสม หรือ 3.กลุ่มขนมที่มีรายละเอียดผู้ผลิต แต่ช่องใส่เลข อย. แต่ไม่ปรากฏตัวเลข


ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า ขณะนี้มีการลักลอบผลิตและขายขนมอันตรายจำนวนมาก
ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กหากกินขนมใส่สารกันบูดมากๆ จะเกิดพิษเฉียบพลันมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้ากินต่อเนื่องจะไปสะสมในตับและกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนสีที่ใส่ในลูกอม เยลลี่ หรือขนมชนิดต่างๆ เพื่อให้สีสันฉูดฉาดน่ากินนั้น จะเกิดอาการพิษจากโลหะหนักที่เป็นส่วนผสมในสีอาหาร มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า โลหะหนักจากสีในขนมที่เข้าไปสะสมในร่างกายเด็กมีผลต่อระบบประสาทและสติปัญญา          
"อย.พยายามจับกุมโรงงานกับร้านขายมาตลอด แต่เจ้าหน้าที่ส่วนกลางมีแค่ 10 กว่าคนเท่านั้น ไม่สามารถดูแลผู้บริโภคได้ทั่วถึง ส่วนในต่างจังหวัดก็มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เกินจังหวัดละ 2-3 คน พวกผู้ผลิตกระจายอยู่ทั่วไป ต้องส่งให้ตำรวจช่วยตามจับบางครั้ง การตรวจจับไม่ใช่ง่ายเพราะการผลิตขนมพวกนี้ ไม่รู้ว่าลอตไหนจะใส่สารกันบูดหรือสีมากเท่าไร พวกเขาทำตามความพอใจ ไม่มีมาตรฐานอะไร จับแล้วต้องตรวจสารเคมีที่ผสมให้แน่ชัด จึงจะเอาผิดได้ เจ้าของโรงงานขนมบางแห่ง มาขอเลขอย.ในขนมประเภทเดียว แต่เอาไปใช้ซ้ำกับขนมทุกชนิดที่ผลิต การตรวจจับต้องละเอียด ขนมมีเลขอย.ไม่ได้หมายความว่าเป็นขนมปลอดภัย ผู้ซื้อต้องสังเกตให้ดี"


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น