ปภ.เตือน13จว.'กลางตอนล่าง-ตะวันออก-ใต้ตอนบน'รับมือฝน |
|
4 ต.ค.56 กระทรวงมหาดไทย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 13 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 4 - 8 ตุลาคม 2556 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก รวมถึงจัดกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ประจำในพื้นที่เสี่ยง พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีปภ.เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 4 - 8 ตุลาคม 2556 ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักบางพื้นที่ รวมถึงคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ปภ.จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขาใน 13 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที หากระดับน้ำท่วมเพิ่มสูง ให้ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง พร้อมเตรียมอพยพไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัย ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือระยะนี้ไว้ด้วย
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ปภ.ได้ประสาน 13 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยง เช่น ที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เขตเศรษฐกิจและชุมชน เป็นต้น พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนเตรียมพร้อมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กรณีสถานการณ์ภัยรุนแรง จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรองรับการอพยพของผู้ประสบภัย เน้นให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์แนวหน้า |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น