วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คอลัมน์: บ้านเกิดเมืองนอน: MOU 51 ปฏิบัติการขายชาติ...ยกดินแดนไทยให้เขมร เมื่อ 2 ก.พ.56



คอลัมน์: บ้านเกิดเมืองนอน: MOU 51 ปฏิบัติการขายชาติ...ยกดินแดนไทยให้เขมร


          หลังจากมีการทำ MOU 2543 ล้มเลิกการปักปันเขตแดนไทย-เขมร ที่กระทำกันเสร็จสิ้นไปในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แล้ว รัฐบาลต่อมาก็ต่อยอด การขายชาติ ทำ MOU 2544 ตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ด้านพลังงานในอ่าวไทย เพื่อเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติไปแบ่งปันกันระหว่างนักการเมืองทั้งไทยเขมร และต่างชาติ
          พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ผลัดกันมีอำนาจ ไม่มีใครสนใจที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ได้ใช้เท้าเหยียบย่ำยีรัฐธรรมนูญ และยังหลอกลวงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างหน้าตาเฉยว่า ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขออนุมัติต่อรัฐสภาในการทำ MOU ดังกล่าวนั้นเลย
          เข้าทำนองมึงมั่ง กูมั่ง มึงขายชาติ กูก็จะขายชาติ ด้วย ใครจะทำไม? ครั้นในปี 2551 ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง การต่อยอดขายชาติก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่าง ไม่หยุดยั้ง และด้วยกิริยาอาการเหมือนเดิม คือเหยียบย่ำ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างเคย นั่นคือการทำ ความตกลง หรือ MOU กับเขมรโดยไม่ขออนุมัติต่อรัฐสภาเช่นเดียวกัน
          จะเป็นเพราะคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นนักกฎหมาย หรืออย่างไรก็ไม่รู้ จึงแทนที่จะใช้ชื่อว่า MOU เหมือนที่เคยหลีกเลี่ยง ไม่ใช้คำว่าสนธิสัญญาเพื่อจะได้ไม่ขออนุมัติต่อรัฐสภาตามแบบอย่างที่ทำกันมา ได้คิดอ่านถ้อยคำใหม่มาใช้ในการทำความตกลงกับเขมร นั่นคือใช้ถ้อยคำว่า "แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา"
          ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการขายชาติของขบวนการ ขายชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และ เพื่อหลอกลวงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
          รัฐธรรมนูญบังคับให้การทำสนธิสัญญาที่กระทบ ต่อเอกราชอธิปไตยผลประโยชนแห่งชาติและบทกฎหมาย ทั้งหลายต้องขออนุมัติต่อรัฐสภาก่อน ซึ่งถ้าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายเขาก็ยอมรับนับถือกันอย่างซื่อตรงทั้งนั้น
          มีแต่การปกครองแบบโจราธิปไตยโดยซ่องโจร และ เพื่อมหาโจรเท่านั้น ที่ไม่ปฏิบัติตามครรลองแห่งประชาธิปไตย ในขณะที่กล่าวคำพร่ำเพ้อหลอกประชาชนว่าประชาธิปไตย นี่แหละที่โบราณเรียกว่า มือถือสาก ปากถือศีล วิธีการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจึงได้ใช้ถ้อยคำว่า MOU หรือบันทึกเพื่อความเข้าใจ แต่เนื้อหาก็คือ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่เป็นอย่างเดียวกับสนธิสัญญานั่นเอง
          แต่มาถึงปี 2551 คนหัวหมอจัดจ้านยิ่งกว่า ก็ปรับใช้ ถ้อยคำใหม่ให้ไกลออกไปจาก MOU คือใช้คำว่าแถลงการณ์ร่วมซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ร่วมกันพูด หรือพูดร่วมกัน
          มันจะต่างอะไรกับบันทึกความเข้าใจ หรือสนธิสัญญา เพราะล้วนเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน และต้อง ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือต้องขออนุมัติรัฐสภาเช่นเดียวกัน
          แถลงการณ์ร่วม 2551 ซึ่งรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อความสรุปได้สองประการ คือ
          ประการแรก ประเทศไทยยินยอมให้เขมรนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว  ประการที่สองประเทศไทยยินยอมให้เขมรนำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหาร เป็นพื้นที่มรดกโลก โดยเขมรเป็นผู้บริหารจัดการแต่ฝ่ายเดียว
          มีการแสดงแผนที่พื้นที่บริหารจัดการมรดกโลกอย่างชัดเจน
          ข้อตกลงเช่นนี้คือข้อตกลงยอมรับให้เขมรเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารอย่างเด็ดขาด ยอมให้เขมรเอาดินแดนประเทศไทยรอบปราสาทพระวิหารไปบริหารจัดการแต่ฝ่ายเดียว ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก
          เมื่อทำความตกลงอย่างนั้นแล้ว รัฐบาลก็สั่งให้ ถอนทหาร รวมทั้งทหารพรานที่ดูแลพื้นที่ออกจากพื้นที่ เท่ากับว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติพระวิหาร ตามประกาศ พระราชกฤษฎีกา 2541 นั้นได้ถูกส่งมอบการครอบครองให้เขมรไปเรียบร้อยแล้ว
          เขมรก็ได้ส่งประชาชน ทหาร และหน่วยงานมากมายเข้าไปยึดครองพื้นที่ไว้จนบัดนี้ ทำให้ดินแดนไทยที่คนไทย เคยไปเคยมาเคยอาศัยทำกินกลายเป็นดินแดนเขมร ที่เขมรยึดครองไว้และคนไทยไม่สามารถเข้าไปได้อีกแล้ว
          คนที่มีอำนาจหน้าที่ล้วนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ จำนนจำยอมต่ออำนาจที่ทำการขายชาติ ทรยศชาติ แต่ภาคประชาชนทนไม่ได้ ได้ดิ้นรนทุกวิถีทาง และในที่สุดก็เป็นผลให้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ทั้งศาลปกครองและ ศาลรัฐธรรมนูญ
          ทั้งสองศาลตัดสินคดีไปในทางเดียวกัน และชี้ชัดถึงการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กบฏชาติ ทรยศชาติและขายชาติ
          ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าแม้จะหลีกเลี่ยงใช้ ถ้อยคำว่าเป็นแถลงการณ์ร่วม แต่ในเมื่อเนื้อหาเป็น สนธิสัญญาก็ต้องขออนุมัติต่อรัฐสภาก่อน เมื่อไม่ปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลตามกฎหมาย เท่ากับศาลพิพากษาว่าแถลงการณ์ร่วม หรือ MOU เถื่อนนี้เป็นโมฆะ
          ศาลปกครองก็วินิจฉัยไปในทางเดียวกัน ว่าเมื่อแถลงการณ์ร่วมมีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่ทำตามรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ จึงมีคำพิพากษาห้ามใช้หรืออ้างอิงแถลงการณ์ร่วม 2551 ดังกล่าว
          แม้ว่าอำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจอธิปไตยสำคัญในระบอบประชาธิปไตยชี้ขาดอย่างนั้นแล้ว แต่ขบวนการขายชาติก็ยังคงเพิกเฉย ยังคงเดินหน้าใช้กลไกขายชาติ ยกแผ่นดินให้เขมรต่อไป--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น