วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

1 ประเทศ 2 นายกฯ วังวนรัฐบาล 'พี่คนแรก' ศึกผู้ว่าฯกทม.-นิรโทษกรรมเกม 'กินรวบ' วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 00:00 น.




1 ประเทศ 2 นายกฯ วังวนรัฐบาล 'พี่คนแรก' ศึกผู้ว่าฯกทม.-นิรโทษกรรมเกม 'กินรวบ'

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 00:00 น.
เป็นเรื่อง “บังเอิญ” โดยแท้ที่จู่ ๆ หนังสือพิมพ์ “นิวยอร์กไทมส์” จะตีพิมพ์บทความโดยระบุว่า ประเทศไทยมีนาช่างยกรัฐมนตรีตัวจริงชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคดีอยู่ในต่างประเทศเวลานี้ไม่ใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยที่มาจากการเลือกตั้ง

สิ่งสำคัญบทความดังกล่าวได้อ้างคำพูดของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยอมรับว่า ประเทศไทยมี 2 นายกรัฐมนตรี

ความจริงข้อวิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ “รับรู้” กันมาตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 ที่ผ่านมาแล้วว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนมีเบื้องหลังและบางครั้งก็มาอยู่เบื้องหน้าจากการตัดสินใจและสั่งการของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้สูญเสียอำนาจ

ที่ใหม่และน่าสนใจคือ ตลอด 1 ปีกับอีกหลายเดือนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ มานั้น ไม่ได้ทำให้ “ภาพ” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่เบื้องหลัง “จางหายไป” ตรงกันข้ามนับวันจะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายของรัฐบาล การกำหนดตัวบุคคลเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐบาล ตลอดจนตัวบุคคลที่จะเข้าไปอยู่ในกลไกต่าง ๆ ของสังคมไทย ว่ากันว่าล้วนต้องผ่านตาอดีตนายกฯ ผู้อยู่นอกประเทศไทยทั้งสิ้น

ฉายาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 ครั้งที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ว่า “นายกฯ นกแก้ว” กับ “ปูกรรเชียง” ขณะที่ฉายารัฐบาลที่ว่า ทักษิณส่วนหน้า กับรัฐบาล “พี่คนแรก” ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือนายกรัฐมนตรี ตัวจริงของประเทศไทย

เมื่อบทความของหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์กไทมส์” สะท้อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ตัวจริง ฉะนั้นอะไรต่อมิอะไรที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินการ ก็ล้วนมีส่วนมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ

ดูเหมือนขณะนี้ ปัญหาหลาย ๆ อย่างกำลังจะเริ่มต้น “หวนกลับมา” อีกครั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเลือกที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อรอสถานการณ์การเมืองอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้ผ่านพ้นไปซะก่อน

เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ “คำตอบ” กับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ ชัยชนะหลังการเลือกตั้ง พูดได้เต็มปากว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน แต่สำหรับสนาม กทม. ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะพ่ายแพ้ ฉะนั้นการเลือกตั้งสนามเมืองหลวงครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การเมืองท้องถิ่น แต่มีรัศมีกว้างไกลไปถึงการเมืองระดับชาติ

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะก็เท่ากับว่า ทั้งคนต่างจังหวัด ทั้งคนเมืองเอาด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ถามว่า แล้วอะไรจะตามมา

มี “หลายต่อหลายเรื่อง” รออยู่หลังรู้ผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 3 มี.ค. ที่จะถึงนี้

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลขึงขังมาก่อนหน้านี้ด้วยการประกาศให้มีการทำ “ประชามติ” แต่เมื่อเวลาผ่านไป “ประชามติ” ก็เป็นแค่หัวข้อหนึ่งที่รัฐบาลจะใช้เพื่อ “ซื้อเวลา” ทางการเมืองบางอย่าง หรือกรณีการ “นิรโทษกรรม” สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ก็เป็นการ “กลับมาใหม่” ของกระบวนการเดิม กล่าวคือ จากที่เริ่มด้วยนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” จนถูกต่อต้านอย่างหนักก็เปลี่ยนมาเป็น “แยกส่วน” ขึ้นมาแทนที่

ความเห็นที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ยังเป็นแค่ “ส่วนหนึ่ง” เท่านั้น เพราะยังมีอีกส่วนที่ยังไม่แสดงท่าที ฉะนั้นการนิรโทษกรรม จึงเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลรอเวลา

ถ้าเข้าใจการเมืองจะพบว่า เรื่องอะไรก็ตามหากได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โอกาสที่รัฐบาลจะผลักดันก็เป็นเรื่องง่าย ตรงข้ามแต่หากเรื่องไหนได้รับการต่อต้าน โอกาสจะสำเร็จก็ยาก

ผลของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงเป็น “แรงส่ง” ทางการเมืองที่สำคัญ   

ใช่แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม เท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาล “รอเวลาจัดการ” ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินครั้งมโหฬารอีกครั้งของประเทศไทย ทางหนึ่งรัฐบาลอ้างว่าเพื่อมาลงทุนสร้างอนาคตและโอกาสของประเทศ แต่อีกทางก็ถูกมองว่า จะเป็นการนำงบประมาณบางส่วนมาอุด “ช่องโหว่” ที่เกิดจากนโยบาย “ประชานิยม”

อย่าลืมว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเดินไปพร้อมกันระหว่างการบริหาร “บ้านเมือง” ซึ่งจะเป็นเรื่องของการครองอำนาจทางการเมืองต่อไป กับเรื่องของ “การเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่ตัวเองได้ก่อไว้ในช่วงของการสร้างความขัดแย้ง

ทางหนึ่งหา “แนวร่วมสนับสนุน” ทั้งจากกลุ่มตัวเอง ทั้งจากประชาชนโดยทั่วไปผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกทางก็ใช้กลไกทางการเมือง “ตรวจสอบ” ฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ผ่านเรื่องต่าง ๆ ทั้งกับตัวหัวหน้าพรรคอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า “หนีทหาร” ผ่านคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ทั้งกับตัวพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีเงินบริจาค 20,000 บาท ของ 44 ส.ส. ทั้งจากการเป็นรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมาผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ถูก “ขุดคุ้ย” ขึ้นมา ไม่ว่าโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะก่อนหน้านี้ หรือกรณีการก่อสร้างสถานีโรงพักทั่วประเทศ   

สิ่งที่น่าสนใจในระยะเวลาที่ไม่นานนี้ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยบริหารความเป็นรัฐบาลได้ต่อไป โอกาสของการ “รุกคืบ” ก็น่าจะมีสูง โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ที่จะมีการครบวาระของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ทั้ง 5 คน, การมีอายุครบ 70 ปีของ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะต้องมีการเลือกใหม่, การแต่งตั้งอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจในการทำคดี “ก่อการร้าย” ที่มีแกนนำ นปช. รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องหา

แต่ก่อนจะไกลไปถึงขั้นนั้น ขั้นแรกคือต้องชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้จงได้ เพราะหากได้รับชัยชนะ งานใหญ่ทางการเมืองเหล่านี้ ที่ว่า “หนักหนา” จะเบากว่าที่คิดไว้

ยึดเมืองหลวงให้ได้ อะไร ๆ ก็ง่ายขึ้นเยอะ คิดกันดู ขนาดนายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งเกือบจะ 300 เสียงผ่านการเลือกกันในสภา ยัง “หันซ้ายหันขวา หน้าเดิน ถอยหลัง” ซะขนาดนี้ แล้วผู้ว่าฯ กทม.“ไร้รอยต่อ” ที่เป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลจะเหลืออะไร

’กินรวบ” ก่อน แล้วจึงค่อย ’กินเรียบ”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น