วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"สมช."ลงนามร่วม "บีอาร์เอ็น"แก้ไฟใต้สันติ เมื่อ 28 ก.พ.56




"สมช."ลงนามร่วม "บีอาร์เอ็น"แก้ไฟใต้สันติ

เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรงแรมเจดับเบิ้ลยู แมริออท กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ได้ร่วมพิธีลงนาม "general consensus document to launch a dialogue process for peace in the border province of southern Thailand" กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้แก่ นาย ฮัสซัน ตอยิบ หรือ นายอาแซ เจ๊ะหลง รองเลขาธิการฯ และ หัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็น พร้อมด้วย นายอาแว ยะบะ เลขานุการฝ่ายต่างประเทศ นายอับดุลเลาะห์ มาหะมะ ระดับนำฝ่ายอูลามา และ นายอับดุลเลาะห์มาน ยะบะ ระดับนำฝ่ายการเมือง โดยมี พล.อ ตันสรี ดาโต๊ะสรี บิน โมฮัมเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน โดยการลงนามดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 10.45 น.

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากประเทศมาเลเซียว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้(28 ก.พ.)ว่า ตนเป็นผู้นำคณะในการลงนามกับกลุ่มตัวแทนบีอาร์เอ็นจำนวน 4 คน โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของประเทศมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน โดยมีข้อตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่สันติสุข ทั้งนี้จะมีการพูดคุย และแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ โดยจะเป็นการจัดเวทีพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดกุญแจดอกแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพูดคุยครั้งนี้เป็นไปตามแผนนโยบายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนพัฒนาข้อ 8 ของ สมช. 

อย่างไรก็ตามประเทศมาเลเซียพร้อมจะประสานให้ความร่วมมือดังกล่าว โดยหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะมีการหารือเพื่อติดตามการลงนามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการเดินทางมายังประเทศมาเลเซียคของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ตนไม่ทราบว่านายกฯ จะได้มีโอกาสพบปะเพื่อพูดกับกลุ่มตัวแทนทั้ง 4 คนของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ เรื่องนี้คงจะต้องรอเช็คตารางเวลาของนายกฯอีกครั้งหนึ่ง

พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยทางทหารได้เปิดช่องทางให้มีการพูดคุย รวมถึงการให้โอกาสผู้ก่อความไม่สงบเข้ามามอบตัวและต่อสู้คดีของตนเองตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการก่อความไม่สงบในไทยที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซียนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันกับประเทศเพื่อนบ้านและขอความร่วมมือ แต่การร่วมมือนั้นจะมาในรูปแบบใดเป็นเรื่องที่จะต้องรอดู ทั้งนี้คิดว่า มาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกทาง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเป็นหลัก และพร้อมทำตามคำสั่งของรัฐบาล 

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชนขณะนี้ปฏิเสธความรุนแรงจากการก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ โดยเรามีแนวทางในการแก้ไขปัญหาชัดเจน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเป็นธรรม ดูแลให้สิทธิด้านมนุษยชน สร้างภาพแวดล้อมให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ เป็นส่วนของนโยบายรัฐบาล ส่วนจะทำให้เกิดผลดี ผลเสียหรือไม่นั้น ก็ต้องดูกันต่อไป ถ้าหากกลุ่มคนที่รัฐบาลไปลงนามข้อตกลงสามารถควบคุมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของกองทัพก็ยังต้องทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยต่อไป หากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังก่อเหตุอยู่ สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่มีการลงนามดังกล่าว ทางกองทัพก็ทำหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น