วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แจงมาเลย์ "ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุย" แย้มจุดยืนไทย "รัฐเดี่ยว-ห้ามแบ่งแยก" วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 11:21 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา


แจงมาเลย์ "ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุย" แย้มจุดยืนไทย "รัฐเดี่ยว-ห้ามแบ่งแยก"

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 11:21 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา



เลขาฯสมช.ยัน "ไทย-มาเลย์" เดินหน้าร่วมมือสร้างกระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" หวังดับไฟใต้ ปัดมาเลเซียไม่ได้เป็น "ตัวกลาง" แต่เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ยันประเด็นพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ เปิดกำหนดการ "ยิ่งลักษณ์" ไปปุตราจายา 28 ก.พ.นี้ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกเริ่มเห็นแสงสว่าง เดือน เม.ย.ความรุนแรงอาจยุติ ขณะที่ครูขอรถหุ้มเกราะ จ้างยามเฝ้าโรงเรียนละ 2 คน
yingluck malay
          พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 26 ก.พ.2556 ว่า ไทยกับมาเลเซียเห็นพ้องกันในเรื่องการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะมีการแถลงร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในวันที่ 28 ก.พ.นี้
          อย่างไรก็ดี พล.ท.ภราดร บอกว่า ไทยไม่ได้ให้มาเลเซียเป็น "ตัวกลาง" หรือ Mediator ในกระบวนการพูดคุย แต่ขอให้มาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" หรือ Facilitator คือช่วยเปิดช่องทางให้มีการพูดคุยเท่านั้น โดยมีเลขาธิการ สมช.ของทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียประสานงานร่วมกัน
          "สาเหตุที่ต้องให้มาเลเซียช่วย เพราะกลุ่มพวกนี้บางส่วนไม่ได้อยู่บ้านเรา ก็ต้องให้มาเลเซียช่วยดำเนินการ ซึ่งทางมาเลย์ก็จะไปดูว่ามีใครที่เกี่ยวข้องหรือพร้อมจะพูดคุยบ้าง ซึ่งก็ต้องขึ้นกับการข่าวของไทยด้วยว่าบุคคลคนนี้คุยแล้วจะมีผลหรือไม่ คือต้องตรงใจทั้งสองฝ่าย มาเลเซียมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย และเราเองก็ประสงค์จะพูดคุย" เลขาธิการ สมช.ระบุ
จุดยืนไทย "รัฐเดี่ยว-แบ่งแยกไม่ได้"
          ส่วนจุดยืนของฝ่ายไทยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มที่จะติดต่อเข้ามาพูดคุยนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ยึดตามรัฐธรรมนูญไทยเป็นหลัก นั่นก็คือไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ ต่อข้อถามถึงเรื่องเขตปกครองพิเศษ พล.ท.ภราดร บอกว่า ต้องมาดูว่านิยามของเขตปกครองพิเศษคืออะไร ขัดกับรัฐธรรมนูญไทยหรือเปล่า เช่นเดียวกับการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ก็ต้องมาพิจารณากัน
          "การพูดคุยจะทำให้รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไรและต้องการอะไร จากนั้นก็จะมาออกแบบว่าแนวทางแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดยืนอยู่บนความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ" พล.ท.ภราดร ย้ำ
เปิดกำหนดการนายกฯยิ่งลักษณ์ถกผู้นำมาเลย์
          สำหรับภารกิจของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางเยือนมาเลเซียในวันที่ 28 ก.พ.2556 นั้น เป็นการไปร่วมประชุมประจำปีของทั้งสองประเทศ (Annual Consultation) ครั้งที่ 5 โดยคณะของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
          ทั้งนี้ นายกฯยิ่งลักษณะ จะหารือทวิภาคีกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ปุตราจายา ในเวลาประมาณ 15.00 น. จากนั้นเวลา 16.30 น.ผู้นำทั้งสองประเทศจะเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงว่าด้วยเดินทางข้ามแดน และการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเยาวชนและกีฬา โดยจะมีการแถลงข่าวร่วมในเวลา 16.45 น.ด้วย 
          อนึ่ง การประชุมหารือประจำปีไทย-มาเลเซีย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่ จ.ภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกระดับนโยบายสูงสุดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของไทยกับมาเลเซีย และติดตามความร่วมมือสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามแนวชายแดน
          สำหรับการเดินทางเยือนมาเลเซียของนายกฯยิ่งลักษณ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กงพ.นี้ นับเป็นการเยือนครั้งที่ 2 หลังจากเดินทางเยือนครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.2555
เฉลิมหนุนเจรจาให้ใต้สงบ-ปัดลงพื้นที่
          ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลตราบใดที่ตนยังรับผิดชอบงานนี้อยู่ อะไรก็ตามที่ทำให้สงบเรียบร้อยเอาหมด แต่การพูดคุยจะต้องไม่มีเงื่อนไข จะมาแบ่งแยกดินแดนได้อย่างไร ใครคิดอย่างนี้เพ้อเจ้อ ขอเรียนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าไปหลงผิด อยู่อย่างนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว ยืนยันว่าตนไม่ใช้ความรุนแรง   
          อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงการเดินทางไปมาเลเซียของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดจะพบปะหารือกับนายกฯมาเลเซีย และแถลงร่วมกันถึงความร่วมมือในการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กลับบอกว่า ไม่ทราบ และว่าสาเหตุที่ยังไม่รีบลงพื้่นที่เพราะมีพวกอุบาทว์เตรียมฉลองด้วยการวางระเบิด 40-50 จุดเพื่อดิสเครดิต
ทหารชี้เห็นแสงสว่าง-เม.ย.รุนแรงอาจยุติ
          ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้บรรยายทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนในส่วนกลางเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุตอนหนึ่งถึงการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันกองทัพได้เจรจามาโดยตลอดเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการไว้ว่า เรื่องการเจรจาจะต้องมีองค์กรที่แสดงตัวชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรใดออกมาแสดงตัวหรือแสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย
          พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ผบ.ทบ.ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2547-2552 เป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ หรือเรียกว่าช่วงห้ามเลือด เน้นการสร้างความปลอดภัย ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน เป็นการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับพลเรือนและทุกภาคส่วน โดยในช่วงกลางเดือน พ.ค.จะมีการส่งกำลังตำรวจจำนวน 3,400 นายเข้าไปในพื้นที่ และระยะที่ 3 คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ หากสถานการณ์ยุติ กำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 จะส่งมอบพื้นที่ และนำกำลังกลับที่ตั้ง ซึ่งจากสถานการณ์ขณะนี้เราอาจจะพบแสงสว่างในไม่ช้านี้   
ซัดเอ็นจีโอ-สื่อ-นักวิชาการแนวร่วมมุมกลับ
          สำหรับเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือ เหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ และเหตุการณ์ปล้นปืน มีไอ้โม่งคอยกำกับอยู่ด้านหลัง แต่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปัญหาภาคใต้ คือ กลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ ประกอบด้วย พ่อค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน และนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีแนวร่วมมุมกลับ อย่างกลุ่มเอ็นจีโอที่มักทำงานตรงข้ามกับรัฐเสมอ ตลอดถึงนักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีของตนเอง และสื่อมวลชนที่มีการนำเสนอข่าวที่ไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริง จนเป็นการสร้างประโยชน์ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุโดยไม่ต้องลงทุน 
          โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกด้วยว่า มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) จะเป็นอาวุธเด็ดของฝ่ายรัฐเพื่อให้ทุกคนยุติความรุนแรง
ผู้ต้องสงสัยบึ้ม"ผู้การฯนพดล"มอบตัว
          ที่ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายสมศักดิ์ สิทธิวรกาญจน์ นายอำเภอตากใบ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วีรยุทธ ตาศรีพันธุ์ รองผู้กำกับการ (รอง ผกก.) สภ.ตากใบ ร่วมกันรับมอบตัว นายอับดุลฮาเล็ม เจ๊ะยูโซ๊ะ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 7 บ้านโคกยามู ต.ไพรวัน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมาย พ.ร.ก. (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ในคดีร่วมกับพวกวางระเบิด พล.ต.ต.นพดล เผือกโสภณ ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบก.อก.บช.ภ.9) สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (รองผบก.ภ.จว.นราธิวาส) จนทำให้ พล.ต.ต.นพดล ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องตัดขา เหตุเกิดเมื่อปี 2551 ในพื้นที่ สภ.ตันหยง อ.เมืองนราธิวาส
ครูขอรถหุ้มเกราะ-จ้างยามเฝ้าโรงเรียน
          วันเดียวกัน ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา กับสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมั นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน เพื่อร่วมหาแนวทางสร้างความปลอดภัยครูและบุคลากรทางการศึกษา
          นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คณะกรรมการได้สรุปแนวทางสร้างความปลอดภัยครู คือ ขอรถหุ้มเกราะให้กับเขตพื้นที่ และหัวหน้าหน่วยราชการครูที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงจ้างยามดูแลโรงเรียน โรงเรียนละ 2 คน พร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทุกโรงเรียนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น