วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"ดับไฟใต้"ต้องเจรจา...แต่อย่าเร่ง วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 11:55 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา


"ดับไฟใต้"ต้องเจรจา...แต่อย่าเร่ง

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 11:55 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา



แม้ทุกฝ่ายจะขานรับแนวทางการ "พูดคุยสันติภาพ" หรือแม้กระทั่ง "เจรจา" เพื่อหาแนวทางยุติความรุนแรง ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน แต่การให้บทบาทมาเลเซียในบริบทของ "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" ก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายเช่นกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะจังหวะเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในมาเลย์
vipottt 
          นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง เคยให้ทัศนะเอาไว้ว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มีข้อจำกัดมาตลอดหลายรัฐบาล เพราะโดยหลักการแล้วมาเลเซียไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถช่วยไทยได้มากนัก เนื่องจากมีพรมแดนติดกัน มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับคนสามจังหวัด ทั้งยังมีปัญหาการเมืองภายในเองในรัฐทางตอนเหนือที่ติดกับไทย กลายเป็นข้อขัดข้องที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา "คนสองสัญชาติ" ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ก็จะมีปัญหาเรื่องการดำเนินคดีแทบทุกคดี
          "การให้น้ำหนักมาเลเซียมากเกินไปอาจเข้าทาง 'กลุ่มนิยมมาเลย์' ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมทางธุรกิจทั้งบนดินและใต้ดิน โดยเหตุการณ์ปักธงชาติมาเลเซีย 296 จุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ปีที่แล้ว คือสัญญาณที่ต้องจับตา" นายปณิธาน ตั้งข้อสังเกต
          ข้อมูลจาก นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา จาก จ.ปัตตานี ซึ่งเกาะติดข้อมูลในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
          "มาเลเซียกำลังอยู่ในโหมดเลือกตั้ง อายุของรัฐบาลชุดนี้กำลังจะหมดลงในเดือน เม.ย. เท่าที่ฟังจากนักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซีย เชื่อได้ว่ารัฐบาลกำลังหนักใจเรื่องคะแนนนิยม และกระแสการต่อต้านรัฐบาลที่จุดขึ้นโดยพรรคฝ่ายค้าน เพราะหากไม่หนักใจก็น่าจะกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว และน่าจะยุบสภาก่อนหมดวาระ เนื่องจากตนเองอยู่ในสถานะได้เปรียบ"
          "ฉะนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่ควรเร่งรีบหยิบยกเรื่องพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยมอบบทบาทให้กับมาเลเซียในช่วงนี้ เพราะถ้าเราไปเชิญมาเลเซียให้มามีบทบาทในการพูดคุยเจรจา หรือในฐานะคนกลาง จะเข้าทางการเมืองภายในมาเลเซีย ถูกหยิบไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง การทอดเวลาออกไปเป็นช่วงหลังเลือกตั้งน่าจะเหมาะสมกว่า"
          นายอนุศาสตร์ กล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องพูดคุยสันติภาพ หากจะไปพูดคุยจะคุยในมิติไหน ซึ่งการพูดคุยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่กระบวนการลักษณะนี้ต้องใช้เวลา อย่ารีบเร่ง
          "ผมมองว่าหลายเรื่องบังเอิญออกมาพร้อมกันในช่วงนี้ ทั้งข่าวที่รัฐบาลจะให้มาเลเซียเป็นผู้มีบทบาทในการพูดคุยเจรจา ข่าวคุณกัสตูรี มาห์โกตา ประธานพูโล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ข่าวการตั้งกลุ่มวาดะห์เข้าไปเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และจะประชุมกันวันที่ 1 มี.ค. ผมกำลังคิดว่าหลายเรื่องทำไมจึงสอดคล้องกันพอดี นาฬิกาหมุนไปในมิติการเจรจาอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าการพูดคุยเจรจาไม่มีใครขัดข้อง แต่รัฐบาลเร่งรีบไปหรือไม่"
          ส.ว.จากปัตตานี เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความชัดเจน มีแผนงานที่แน่นอนว่าจะคุยกับใคร อย่างไร และที่สำคัญต้องให้ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" (stakeholder) ทั้งหมดมีส่วนร่วมรับรู้และได้แสดงความคิดเห็นด้วย
          สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันชัดเจน แต่อายุของรัฐบาลจะสิ้นสุดในวันที่ 25 เม.ย.2556 จากการตรวจสอบพบว่า ที่นั่งผู้แทนราษฎรในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาตกเป็นของพรรคฝ่ายค้านจำนวนมาก แบ่งเป็น
          รัฐเคดาห์ 15 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน หรือพีอาร์ ได้ 9 ที่นั่ง (เป็นของพรรคปาส 6 ที่นั่ง) ขณะที่อัมโน (พรรครัฐบาล) ได้ 4 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระ 2 ที่นั่ง
          รัฐกลันตัน มีทั้งหมด 14 ที่นั่ง เป็นของพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน 11 ที่นั่ง (พรรคปาส 8 ที่นั่ง) ขณะที่อัมโนได้ 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระได้ 1 ที่นั่ง
          รัฐเปรัค มีทั้งหมด  24 ที่นั่ง อัมโนได้ 13 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านได้ 10 ที่นั่ง ผู้สมัครอิสระ 1 ที่นั่ง
          รัฐเปอร์ลิส 3 ที่นั่ง เป็นของอัมโนทั้งหมด
          รัฐตรังกานู มีทั้งหมด 8 ที่นั่ง เป็นของอัมโน 6 ที่นั่ง แนวร่วมฝ่ายค้าน 2 ที่นั่ง (พรรคปาส)
          พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ซึ่งเคยร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (peace talk) กับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยมี นายมหาธีร์ มูฮำหมัด อดีตนายกฯมาเลย์ เป็นคนกลาง แต่ภายหลังกลับล้มเหลว กล่าวว่า การเจรจาเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ขณะที่มาเลเซียน่าจะมีพลังในการสร้างกระบวนการพูดคุยพอสมควร เพียงแต่ต้องระมัดระวังใน 2-3 ประเด็น คือ
          1.การพูดคุยเจรจาจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนว่าข้อเสนอของไทยอยู่ตรงไหน ยอมได้แค่ไหน ไม่ใช่ยอมทุกอย่างเพื่อหวังให้สงบอย่างเดียว เช่น ถ้าแค่ให้วางอาวุธแล้วกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย อย่างนี้อาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าล่วงเลยไปถึงขั้นเขตปกครองพิเศษ ก็จะมีปัญหาว่ายอมได้แค่ไหน อย่างไร ถ้าเราไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนพอ ก็อาจจะไปมีข้อเสนอต่างๆ ที่สร้างความเสียหายในอนาคต หรือข้อเสนอที่ก่อปัญหาอื่นตามมา 
          2.การเจรจาเป็นเครื่องหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเจรจาแล้วเครื่องมืออื่นต้องหยุดหมด เพราะแน่นอนว่าการพูดคุยเจรจาจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่จะเป็นเครื่องมือหลักหรือไม่คงต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ ที่สำคัญมาเลเซียก็มีผลประโยชน์ของตนเอง ไทยก็ต้องติดตามดูและระมัดระวังอย่างใกล้ชิดด้วย
          และ 3.เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ต้องชัดเจน ไม่ใช่พอถูกฝ่ายค้านโจมตีมากๆ หรือเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนจุดยืน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่มีทางสำเร็จ
          "นโยบายและเจตจำนงของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมเองมีประสบการณ์ตรงสมัยที่ลังกาวี ท่านมหาธีร์พูดชัดเลยว่าไม่มีเรื่องแบ่งแยกดินแดน ไม่มีเรื่องเอกราช แต่คุยกันว่าจะแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลก็ต้องชัด ซึ่งตอนนั้นพอรัฐบาล (พรรคไทยรักไทย) ไปฟังข้อมูลด้านอื่นก็เปลี่ยนนโยบาย ทำให้การเจรจาสะดุดไปอย่างน่าเสียดาย" พล.อ.ไวพจน์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น