ใต้ช้ำจมบาดาล พัทลุงอ่วมหนัก สงขลาเฝ้า24ชม.
26 February 2556
น้ำป่าจากเทือกเขาไหลทะลักเข้าจมจังหวัดพัทลุงแล้วในหลายพื้นที่ หลังเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง เผยราษฎรกว่า 200 ครอบครัวเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่สงขลาประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติใน 6 อำเภอ สั่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันจันทร์ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง หลังได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขาบรรทัด ในเขต อ.กงหรา อ.ศรีนครินทร์ อ.ตะโหมด อ.เมือง อ.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ได้มีน้ำป่าจากเทือกเขาไหลลงสู่ลำคลองบวกกับน้ำฝน ทำให้ท่วมบ้านเรือนของราษฎรที่ ต.ชะรัด ต.สมหวัง ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา ต.อ่างทอง ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ ถนนทางเข้าหมู่บ้านหลายสายมีน้ำไหลผ่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ชะรัด อ.กงหรา น้ำป่าจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกหนานสูง น้ำตกวังตอ น้ำตกหนานหรูด ไหลลงสู่คลองชะรัด ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมหมู่ที่ 5, 7, 8, 9 ต.ชะรัด คันดินคลองชะรัดถูกน้ำตัดขาดเป็นทางยาวกว่า 30 เมตร ทำให้มีน้ำท่วมเป็นวงกว้าง และประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 200 ครอบครัว ต้องขนย้ายข้าวของในบ้านไปเก็บไว้ที่สูง และชาวบ้านกว่า 50 ครอบครัว ต้องเร่งอพยพออกมาพักที่มัสยิดหลังน้ำท่วมบ้านเรือนสูงกว่า 150 ซม.
ส่วนพื้นที่โรงเรียนเปาะเหนอะบ้านชะรัด ซึ่งเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ มีน้ำท่วมสูงประมาณ 1.5 เมตร การเดินทางเข้า-ออกต้องใช้เรือท้องแบน สำหรับข้าวที่ปลูกไว้ในนา และกำลังสุกรอการเก็บเกี่ยวหลายร้อยไร่ก็ถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้น้ำ
ในขณะที่อำเภออื่นทั้ง 11 อำเภอของจังหวัด ปริมาณฝนที่ตกหนักตลอดเวลาทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูง
ขณะที่จังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยงภัยเชิงเขาอย่างน้อย 6 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา กล่าวว่า ได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อยู่แนวเทือกเขาอย่างน้อย 6 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี อ.รัตภูมิ และ อ.คลองหอยโข่ง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งดินโคลนถล่มตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องในระยะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตร ภายใน 1 วัน ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เพื่อติดต่อประสานงานในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ จ.สงขลา ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักแต่อย่างใด
ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกรายงานสภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงมามีฝนเกือบทั่วไป และมีฝนหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักใน 1-2 วันนี้ สำหรับคลื่นลมอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 25 ก.พ. ว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่ามีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปของพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป และมีคลื่นลมสูง 1-2 เมตร เรือประมงขนาดเล็กให้งดออกจากฝั่ง เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากคลื่นลมแรง ในขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันเดียวกันนี้มีท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้ ชาวประมงชายฝั่งตลอดแนวของจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องนำเรือประมงขึ้นมาเก็บไว้บนฝั่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากคลื่นลมแรงและพายุฝนกลางทะเล โดยชาวบ้านต้องหยุดการทำประมงชั่วคราว เนื่องจากคลื่นลมกลางทะเลห่างจากฝั่งไปราว 3-4 กิโลเมตร จะมีความรุนแรงมากจนไม่สามารถทำประมงได้ โดยที่บ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา ชาวบ้านหยุดการทำการประมงอย่างสิ้นเชิง
ส่วนเรือประมงขนาดใหญ่ได้เข้ามาหลบในปากน้ำชั้นในชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย สำหรับฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แต่ไม่รุนแรงมากนัก ขณะที่สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ชาวประมงได้สังเกตการณ์ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะผันผวนได้ ทำให้ชาวประมงถือโอกาสในช่วงนี้ซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์การทำประมงเตรียมไว้เพื่อทำการประมงต่อไปหลังสถานการณ์สงบ
ขณะที่ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติ เรื่องระวังภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2556 อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวระมัดระวัง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น