แฉ‘กัสตูรี’ปั่นราคาพูโลหาเงิน
26 February 2556
"ประธานพูโล" โผล่ทีวีช่อง 3 อ้างก่อเหตุรุนแรงใต้กดดันรัฐบาลไทยเจรจา ร้องขอเอกราชปัตตานี "สุกำพล" ปฏิเสธเจรจา "แม่ทัพภาค 4" ซัดออกมาเรียกราคา ชี้กลุ่มนี้ไม่มีกองกำลัง ไร้บทบาทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ "หน่วยมั่นคง" เชื่อเป้าแค่ขอพื้นที่ หวังได้งบประมาณจากรัฐ "มาร์ค" แนะคุยของปลอมระวังตัวจริงป่วนหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.43 น. วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ในรายการข่าวสามมิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ดำเนินรายการโดยนายกิตติ สิงหาปัด ได้แพร่ภาพการสัมภาษณ์พิเศษนายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี หรือพูโล และยืนยันยังมีบทบาทต่อเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกัสตูรียืนยันว่า พูโลเป็นองค์กรต่อสู้เพื่อเอกราช และแน่นอนที่สุดพูโลไม่ใช่องค์กรเพ้อฝัน แต่เป็นองค์กรที่ยืนและเหยียบบนแผ่นดินที่มีอยู่ชัดเจน หมายความว่าพูโลพร้อมและมีความสามารถในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง การทหาร การประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ
"ในขณะนี้ ในนามส่วนตัว ผมพยายามที่จะดำเนินการขบวนการสร้างความเป็นหนึ่งระหว่างแกนนำต่างๆ องค์กรต่างๆ เพื่อเดินไปสู่อีกระดับหนึ่ง คือการไปสู่การเจรจาสันติภาพเพื่อหาทางออกทางการเมือง ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกวันนี้ ก็เพื่อที่จะกดดัน ผลักดันฝ่ายรัฐบาลไทย ให้ยอมรับการเจรจาสันติภาพ แต่ในทุกวันนี้ฝ่ายขบวนการมองว่า ฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีความจริงจัง ไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่า จะมีกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกของปัญหาที่ขัดแย้ง" นายกัสตรีกล่าว
เมื่อถามว่า อะไรคือข้อเสนอของพูโล หรือสิ่งที่ต้องการให้รัฐไทยดำเนินการ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่ม ประธานพูโลผู้นี้กล่าวว่า พูโลเป็นองค์กรต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี นั่นชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าพูโลยึดถือยึดหลักเอกราชอย่างเดียว แต่ว่าพูโลพร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอของไทยด้วย ขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าพูโลเปลี่ยนจุดยืน หรือลดระดับเป้าหมายการต่อสู้ จากเอกราช มาเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำกว่า ตนเชื่อมั่นว่าประเทศไทยก็จะยกระดับข้อเรียกร้องอีก ดังนั้นเราต้องยึดข้อเรียกร้องแรก คือเอกราช แต่พวกเราก็พร้อมยอมรับข้อเรียกร้องอื่นๆ จากฝ่ายรัฐบาลไทย
"พูโลพร้อมเจรจาหรือพูดคุย ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเอกราช หรือนครปัตตานี หรือการกระจายอำนาจ และอื่นๆ แต่ทั้งหมดนั้นเราต้องนั่งที่โต๊ะ และกำหนดจุดยืนข้อตกลง และนั่นคือทางออกของปัญหา ถ้าหากว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกองค์กรยอมรับมันได้ และพอใจในสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน" ประธานพูโลผู้นี้กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ถึงกรณีที่นายกัสตูรีให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้ติดตามเรื่องดังกล่าว แต่การเรียกร้องเรื่องเอกราชปัตตานีนั้นคงเป็นไปไม่ได้ และรัฐบาลปฏิเสธที่จะพูดคุยเรื่องนี้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ ตนไม่อยากวิจารณ์อะไรมาก เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียด
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวเช่นเดียวกันว่า ไม่ได้ติดตาม แต่เราต้องการยุติความขัดแย้งและความรุนแรง เป็นแบบสันติวิธี เขาก็แสดงความคิดเห็นได้ ส่วนการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะกระทบกับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป
ซักว่า นายกัสตูรีอ้างว่ารัฐบาลไทยยังไม่มีความจริงใจต่อการเจรจา เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี จะทำให้กระทบต่อคนที่จะเข้ามามอบตัวตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า พูดแบบนี้มาเป็นร้อยครั้งแล้ว อยากถามว่า แล้วนายกัสตูรีมีความจริงใจแค่ไหน คนที่ไม่จริงใจก็มีแต่โจรเท่านั้น ทางเราพร้อมพูดคุยและหาทางออกในการแก้ปัญหา เช่นใน จ.สงขลา มีคนมามอบตัว 4 คน ก็มีการล็อบบี้ไม่ให้เขาเข้ามามอบตัว อย่างนี้ใครกันแน่ไม่จริงใจ อย่างไรก็ตาม ตนไม่รู้สึกกังวลว่าจะส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยากับคนที่กำลังจะเข้ามามอบตัวตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง
"การเรียกร้องเอกราชปัตตานี เป็นเรื่องที่เขาเรียกร้องมาตั้งนานแล้ว ทุกคนก็รู้ดี และถ้าต้องการเอกราชก็คุยไม่ได้อยู่แล้ว ผมมองว่านายกัสตูรีพูดเพื่อต้องการเรียกร้อง และแสดงบทบาทว่ายังมีความสำคัญ หรือสร้างค่าให้ตัวเองมากกว่า เพราะกลุ่มพูโลไม่มีกองกำลัง และไม่มีบทบาทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ก็ถือเป็นความคิดเห็นของคนที่มีความเห็นต่างคนหนึ่ง ซึ่งเราก็พร้อมที่จะรับฟัง" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าวว่า นายกัสตูรีอ้างว่าเป็นประธานขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี ซึ่งแยกตัวมาจากพูโลเดิม โดยต้องการสร้างบทบาทในการเจรจากับรัฐไทย ซึ่งมีอดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ประสานงาน และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวทำงานให้กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นไปตามภารกิจของ ศอ.บต. และเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยตามนโยบายข้อ 8 ของสมช. เรื่องการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ความเห็นแตกต่างให้มาพูดคุย
"นอกจากกลุ่มพูโลแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกที่จะเข้ามาพูดคุยอีก โดยทั้งหมดคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพราะทั้ง ศอ.บต.และ สมช.มีงบเรื่องการเปิดพื้นที่พูดคุยที่ทางรัฐบาลได้อนุมัติให้ ในส่วนของขบวนการพูโลก็ต้องการแสดงให้เห็นว่า เป็นกลุ่มที่มีบทบาท พูดคุยกับรัฐบาลไทยได้ และจะได้รับการสนับสนุนเงินจากองค์การระหว่างประเทศ" แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยเตือนแล้วว่าการจะไปพูดคุย ต้องเริ่มจากการมีมาตรการที่สร้างความไว้วางใจต่อกัน และต้องรู้ว่าคนที่จะไปพูดคุยนั้นเป็นใคร และมีบทบาทอะไรมากน้อยแค่ไหนในระดับหนึ่ง โดยงานตรงนี้จะต้องมีการใช้เวลาและมีระบบการทำงาน เพราะถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวังก็อาจจะสร้างปัญหาตามมา แทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาบางครั้งเป็นเรื่องปฏิกิริยาของบางกลุ่ม ที่มองว่ารัฐบาลไม่สนใจกลุ่มเขาใช่หรือไม่ จึงไปเลือกคุยเพียงบางกลุ่ม ทั้งที่เรื่องการพูดคุยต้องทำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด แต่ไม่ถือเป็นการเจรจา
"เราต้องแยกแยะว่าช่วงไหนที่มีความรุนแรง และช่วงใดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งการที่เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นนั้น ผมยืนยันว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2555 รัฐบาลมีแนวคิดหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่มีฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายการเมืองลงไปเกาะติดในพื้นที่หรือให้ความสนใจ จึงทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการที่มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ แล้วเหตุการณ์ความก่อความไม่สงบจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 ก.ค.51 เวลา 12.00 น. สถานี?โทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ?ได้?เผย?แพร่ภาพหัวหน้ากลุ่ม?ใต้ดินรวมภาค?ใต้ของประ?เทศไทย ?และหัวหน้าทหารกลุ่ม?ใต้ดินรวมภาค?ใต้ของประ?เทศ?ไทย ร่วมกันประกาศหยุดปฏิบัติ?การ?ในพื้นที่ 3 จังหวัดชาย?แดนภาค?ใต้ โดยยืนยันกลุ่ม?ใต้ดินรวมฯ ได้ลงมติ?เป็น?เอกฉันท์ ประกาศคำสั่ง?ให้มี?การหยุดยิง ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ?เวลา 12 นาฬิกา ?ซึ่งตรงกับ 14 รายัด 1419 ปีฮิจญ์?เราะห์ โดยเทปดังกล่าวมี พล.อ.?เชษฐา ฐานะจา?โร อดีต?ผู้บัญชา?การทหารบก ?และหัวหน้าพรรครวม?ใจ?ไทยชาติพัฒนา เป็นผู้ประสานงานดำเนินการ
ขณะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพูโลออกมาระบุต้องการที่จะเจรจากับรัฐบาลว่า ขณะนี้กลุ่มพูโลมีบทบาทอะไรต่อปัญหาในพื้นที่บ้าง ตนไม่แน่ใจ และเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ และที่ผ่านมาก็มีการเจรจาหลายครั้ง และมีการอ้างว่ามาจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งถ้ามีหลายกลุ่มก็จะเป็นประโยชน์ เพราะความเข้มแข็งจะน้อยลง
พล.อ.สนธิกล่าวว่า ในส่วนการดึงกลุ่มวาดะห์มาเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ที่ผ่านมาทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็มีที่ปรึกษาอยู่แล้ว และกลุ่มวาดะห์ก็เคยอยู่ในส่วนนี้ แม้อาจจะหายไปซักพัก แต่เมื่อกลับมามีส่วนอีกครั้งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะการแก้ไขปัญหาภาคใต้กลุ่มต่างๆ ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ควรที่จะรวบรวมแนวทางต่างๆ ไปพิจารณา ว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่สุด
"คดีต่างๆ ที่สมาชิกกลุ่มวาดะห์เคยถูกดำเนินคดี เมื่อถึงที่สิ้นสุดแล้วก็ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด การจะตั้งข้อสงสัยนั้นสามารถที่จะทำได้ แต่ก็ต้องดูว่าพวกเขามีความผิดหรือไม่ และตนก็หวังว่าการที่กลุ่มวาดะห์เข้ามาจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาปรับความเข้าใจของแต่ละคน ทั้งความเข้าใจในตัวเขาและความเข้าใจตัวเราให้ตรงกัน ซึ่งการแก้ปัญหาก็คงต้องค่อยๆ ปรับไป" พล.อ.สนธิกล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น