วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จ่อขยายพื้นที่มั่นคงรับม.21 ข่าวหน้า 1 22 February 2556


จ่อขยายพื้นที่มั่นคงรับม.21



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ มอบเหรียญบางระจันเชิดชูเกียรตินาวิกโยธิน โวมีสิ่งบอกเหตุสถานการณ์จะดีขึ้นในอีก 3 เดือน วิงวอนกลุ่มก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวตามมาตรา 21 เพื่อกลับตัว บอกพร้อมถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่
เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจ นราธิวาส 32 จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นฐานที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบเข้าโจมตีและปะทะกับเจ้าหน้าที่จนผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 16 คน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.อ.สุกำพลได้มอบประกาศนียบัตรและเหรียญเชิดชูเกียรติบางระจันให้กับกำลังพล 
 พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวก่อนเดินทางถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต. แต่งตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นสิทธิ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม ท่านคงคิดรอบคอบแล้ว ซึ่งการตั้งที่ปรึกษาเป็นสิทธิส่วนตัว ตนสามารถตั้งได้เหมือนกัน ส่วนที่มองว่าบางคนมีประวัติไม่ค่อยดีนั้น ตนถามว่าคดีจบหรือยัง และคดีจบแล้วเป็นอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมคงทราบแล้ว
“สถานการณ์ภาคใต้ขณะนี้ดีขึ้น ต้องบอกว่าดีวันดีคืน อีก 2-3 เดือนจะดีมากกว่านี้อีก ในปีนี้น่าจะดีมากๆ เพราะมีสิ่งบอกเหตุหลายอย่าง ขอให้ดูเอาเอง อย่ามองระเบิดรายวัน อย่ามองแคบ ขอให้มองให้ยาว หากลงไปคลุกคลีจะเห็นว่า ปัญหาภาคใต้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ก่อความไม่สงบมาติดต่อขอมอบตัวมากมาย แต่กลุ่มหัวแข็งยังไม่ยอมก็ยังมี ซึ่งเราจะค่อยๆ รุกไป โดยผมจะลงไปคุยว่ากลุ่มที่ติดต่อมามอบตัวมีกลุ่มใดบ้าง”
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวต่อว่า ต้องให้หน่วยในพื้นที่เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรา 21 เพราะบางทีชาวบ้านอาจยังไม่เข้าใจ บางคนไปทำความผิดหลายพื้นที่ แต่กฎหมายที่ประกาศขณะนี้แต่ละพื้นที่ใช้กฎหมายคนละฉบับ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงใช้ใน 4 อำเภอ จ.สงขลา ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไปทำผิดทั้ง 2 พื้นที่จะต้องทำอย่างไร ซึ่งจะต้องไปหารือให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้ผู้มามอบตัวมั่นใจและเข้าใจ
รมว.กลาโหมบอกว่า กรณีที่ ครม.มีแผนว่าจะไปประชุมครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้น เป็นเพียงกำหนดการเบื้องต้นว่าจะลงไปในช่วงเดือน พ.ย. แต่ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ รายละเอียดชัดเจน ซึ่งนายกฯ บอกว่าถ้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมเมื่อไรก็จะลงไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวัน เพื่อให้สิทธิกับภาคใต้ตอนล่างว่าพร้อมเมื่อไร และต้องดูสภาพอากาศด้วย เบื้องต้นได้คุยแล้วว่าให้หาช่วงเวลาที่ดีสุด และจะประชุมที่ไหน อย่างไร   
พล.อ.อ.สุกำพลให้สัมภาษณ์อีกครั้งในพื้นที่ว่า วันนี้รัฐบาลพยายามเปิดช่องทางให้ผู้หลงผิดเข้ามามอบตัวและพูดคุยกัน โดยใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 และเราจะดูเป็นรายเหตุการณ์ อยากฝากไปยังสื่อมวลชน ญาติพี่น้องของผู้ที่หลงผิดว่าให้เข้ามาพูดคุยกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เราจะไม่คุยและไม่ยอมเด็ดขาด ทุกวันนี้ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือแม้แต่ผู้ก่อความไม่สงบสูญเสียกันมามากแล้ว การพูดคุยน่าจะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย 
“ขอให้ผู้หลงผิดอย่ามีทิฐิ และเข้ามามอบตัว เราจะดูแลทั้งเรื่องคดีความต่างๆ และความปลอดภัยให้ การใช้ช่องทางพูดคุยจะทำให้ไม่สูญเสีย ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกองทัพ เราใช้ยุทธศาสตร์อ่อนลง ใช้กฎหมายน้อย แม้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราหยิบมาใช้เพียงบางข้อเท่านั้น ไม่ได้ใช้เต็มรูปแบบ เราอยากให้เหตุการณ์ในภาคใต้จบ ซึ่งเราพร้อมถอนทหารทั้งหมดออกไป” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว 
          ส่วนกรณีที่จะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมาใช้ พ.ร.บ ความมั่นคงครอบคลุมทั้งพื้นที่นั้น มีโอกาสมาก แต่ตอนนี้ต้องดูเป็นพื้นที่ไปก่อน ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ถือเป็นบุคคลที่รู้ข้อมูลมากที่สุด โดยรัฐบาลต้องฟังคนทำงานในพื้นที่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กปต. โดยแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเสียงสำคัญที่สุด เราต้องฟังเขา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น พล.อ.อ.สุกำพลได้พบปะพูดคุยกับผู้นำศาสนาในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ว่ารัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาว่าจะทำให้เกิดความสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้โดยเร็ว คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเห็นเป็นรูปธรรม และประชาชนจะกลับไปมีชีวิตอย่างปกติสุขเหมือนก่อนปี 2547 การจมอยู่กับอดีตไม่มีประโยชน์ ขอให้ทุกคนลืม และเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ให้ถือเสียว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ทั้งคนใน 3 จังหวดชายแดนภาคใต้และรัฐบาล
    จากนั้นคณะของ พล.อ.อ.สุกำพล ได้เดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่กรมทหารพรานที่ 43 โดยทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้นำกลุ่มอาร์เคเค 8 คน ซึ่งมีทั้งระดับสั่งการและปฏิบัติการที่ถูกจับกุม และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มาพบ รมว. กลาโหมที่ห้องประชุมภายใน กรมทหารพรานที่ 43 โดยเป็นการพูดคุยในทางปิด เพื่อรับทราบข้อมูลการวางแผนและการปฏิบัติ การวางระเบิดของผู้ก่อการร้าย โดย 1 ใน 8 คนนี้เคยร่วมวางแผนกับกลุ่มของนายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำกลุ่มอาร์เคเคด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ว่า เรื่องนี้มี กอ.รมน.เป็นคนคิด ซึ่งทำมานานแล้ว ต้องให้เครดิตทหาร แต่บางคนไปเข้าใจผิด แม้กระทั่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ พอฟังตนพูดแล้วไปเร็ว เจตนาตนคือเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 สบายใจทุกฝ่าย กองทัพ นายอำเภอ ตำรวจท้องที่เห็นด้วย ก็ประมวลเรื่อง ส่งอัยการ อัยการยื่นศาลถอนหมายจับ แล้วเข้าไปควบคุมในพื้นที่มาทำความเข้าใจกัน ไม่เกิน 6 เดือน 
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ามีความตั้งใจทำงานนี้ให้มีผลออกมาให้ได้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คนก็ฮือฮา เขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้ เป็นสัญลักษณ์ของที่มาปัญหาส่วนหนึ่ง เมื่อถามว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งหน้ากลุ่มวาดะห์จะเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาภาคใต้ใน ครม.หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องถามนายกฯ ตนไม่มีสิทธิ์เสนอ ตนจะอยู่ได้หรือไม่ยังไม่รู้ตัว และยืนยันนายกฯ เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครบีบบังคับได้
    พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตามมาตรา 21 ว่า รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยกฎหมายพิเศษที่ใช้มี 3 ฉบับ เลือกใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในพื้นที่ หากสถานการณ์รุนแรงมากจนต้องมีการควบคุมระดับที่เข้มข้นที่สุด จะใช้กฎอัยการศึก รองลงมาคือ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และระดับที่เบาที่สุดคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.มั่นคง) โดยพื้นที่ที่มีปัญหามีทั้งสิ้น 37 อำเภอ ขณะนี้พื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกมี 33 อำเภอ ได้แก่ จ.ปัตตานี 12 อำเภอ, จ.ยะลา 8 อำเภอ และ จ.นราธิวาส 13 อำเภอ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งสิ้น 32 อำเภอ ได้แก่ จ.ปัตตานี 11 อำเภอ (ยกเลิก อ.แม่ลาน), จ.ยะลา 8 อำเภอ และ จ.นราธิวาส 13 อำเภอ สำหรับ พ.ร.บ.มั่นคง มีทั้งสิ้น 5 อำเภอ ได้แก่ จ.สงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ, นาทวี, สะบ้าย้อย, เทพา และ จ.ปัตตานี 1 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ลาน 
    พล.ท.ดิฏฐพรกล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.มั่นคง ถือเป็นกฎหมายที่แม้จะใช้เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้งในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ แต่ก็เป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ที่หลงผิดหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงแต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงาน และสามารถกลับเข้าสู่สังคมและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.มั่นคง พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้ การนำมาตรา 21 มาดำเนินการมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กอ.รมน. และกระทรวงกลาโหม (กห.) โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกลับใจยอมเข้ารายงานตัว หรือสอบสวนแล้วว่า “กระทำไปเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์” เข้ารับการฝึกอบรมแทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติเพื่อให้บุคคลผู้นั้นกลับไปใช้ชีวิตปกติ
    “เพื่อให้ ม.21 สามารถนำไปใช้กับบุคคลได้ครอบคลุมและสามารถช่วยแก้ปัญหา จชต.ได้ผลเต็มที่ จึงมีการพิจารณาขยายพื้นที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงเพิ่ม ซึ่งแนวทางการพิจารณาจะเลือกพื้นที่ที่มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีมติชัดเจนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเป็นวันที่ 19 มีนาคมนี้” โฆษก กอ.รมน.ระบุ
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการเลื่อนการเดินทางมาประเทศไทยของนายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย และคณะ เพื่อหารือถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สาเหตุที่เลื่อนการเดินทางมาไทยครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในมาเลเซียเอง ซึ่งขณะนี้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลมาเลเซีย นำโดยนายนาจิบ อับดุล ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตรียมที่จะยุบสภาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้ง และปัญหากลุ่มผู้ก่อร้ายในมาเลเซียที่แยกตัวมาจากกลุ่มกบฏทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ 
ส่วนกำหนดการเยือนประเทศมาเลเซียของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ในวันที่ 28 เม.ย.กระทรวงการต่างประเทศยังคงยืนยันกำหนดการเดิม และหากรัฐบาลมาเลเซียยุบสภาก่อนวันที่ 28 ก.พ. ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเดินทางเยือนมาเลเซียของนายกฯ เพราะยังถือว่าเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเยือนประเทศมาเลเซียของนายกฯ และคณะ จะมีการหารือด้านความร่วมมือจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ลงนามความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดน ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านความร่วมมือด้านเยาวชนและกีฬา ติดตามความร่วมมือสำคัญๆ ที่ได้มีการดำเนินการร่วมกันมาในรัฐบาลนี้
    นายศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี นักวิชาการ มอ.ปัตตานี   กล่าวถึงแนวทางนำไปสู่ความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มคนที่เห็นต่างกับรัฐ ร่วมหาทางสันติ รวมทั้งการแก้ปัญหาการจัดการรูปแบบการปกครองบริหารส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับพื้นที่ ทุกอย่างต้องมองภาพกว้าง จะทำอย่างไร เปิดพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา จากเดิมที่ใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นอัตลักษณ์ ให้ไปสู่การใช้วิธีการแนวทางสันติ
    นายศรีสมภพกล่าวว่า ขณะเดียวกันการจัดการด้านกฎหมายด้วย โดยจะดำเนินการอย่างไร มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกระบวนรการจัดการ ทั้งด้านกฎหมาย เพื่อยื่นเรื่องต่อศาล นำไปสู่การจัดการอบรมการเตรียมการ คนที่ยอมเปลี่ยนความคิด ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการนี้อย่างถูกต้อง มีการฝึกอบรมเพื่อให้มีการพัฒนาอาชีพ พัฒนาความคิด อุดมการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาบ้านมือง สิ่งสำคัญต้องเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมจะได้รู้สึกว่าเป็นพื้นที่เปิดพื้นที่กลางและพื้นที่ปลอดภัยในทุกๆ ฝ่าย
    เขากล่าวอีกว่า การดำเนินการกับกลุ่มต่อสู้นั้นไม่ใช่แค่ยอมเปลี่ยนความคิดให้เขามอบตัวอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรให้กลุ่มแกนนำที่ดำเนินการต่อสู้หรือขบวนการต่อสู้เปลี่ยนแนวทาง เปลี่ยนยุทธศาสตร์ แนวนโยบายในการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง การต่อสู้ของเขาให้กลับมาสู่การพูดคุยกันได้กับรัฐ กับทหาร กับความมั่นคงได้ ถ้าทำได้ ก็จะเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่ยอมผู้กลับใจมอบตัวอย่างเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น