ข้าวเขมรทะลักไทยแห่สวมสิทธิ์จำนำกินส่วนต่าง
| |
วงการค้าข้าวลือหึ่ง พ่อค้าต่างชาติ หัวใสทุ่มลงทุนธุรกิจโรงสีข้าวในเขมรติดชายแดนไทย ลักลอบส่งข้ามแดนสวมสิทธิ์เข้าโครงการจำนำกินส่วนต่างตันละ 9,000 บาท ด้าน ปชป.เปิดตัวหนังสือ "รู้ลึก รู้จริง โกงจำนำข้าว" ไล่บี้ กระทรวงพาณิชย์เปิดข้อมูล G to G ชี้จำนำถลุงงบฯไปแล้วกว่า 500,000 ล้านบาท หวั่นเป็นเหตุประเทศไทยถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือ แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากสำรวจตลาดข้าวบริเวณชายแดนระหว่าง จ.สระแก้ว กับ จ.พระตะบอง กัมพูชา ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า บริเวณฝั่งกัมพูชาห่างจากฝั่งไทยไม่กี่กิโลเมตร ปรากฏโรงสีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จากการสอบถามคนในพื้นที่พบเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนอินเดีย-ไต้หวันจีน มีกำลังผลิตวันละ 200-500 ตัน ถือเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่จากเดิมที่มีโรงสีกำลังผลิตระหว่าง 50-100 ตัน จำนวน 3 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ "นักลงทุนที่มาจากต่างชาติ บางส่วนมีมาทางฝั่งไทยและแถบแนวชายแดน เขมร รับข้าวเปลือกจากชาวบ้านเขมร มาสีราคาแค่ 7,000 บาทต่อเกวียน (ตัน) สีแค่เป็นข้าวกล้อง แล้วก็ลักลอบขนข้าวข้ามมาฝั่งไทยในเวลากลางคืน เสียค่าขนย้ายให้กับเจ้าหน้าที่ประมาณคันละ 5,000-10,000 บาท ขายได้ตันละ 11,000-12,000 บาท นำมาขัดสีอีกนิดหน่อย แล้วก็ใส่กระสอบสวมสิทธิ์เข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทยได้กำไรตันละ 20,000 บาท ข้าวที่ลักลอบเข้ามาส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพดี บางส่วนก็ส่งออกไปจีน" ในขณะที่สถานการณ์ซื้อขายข้าวในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวทั่วไปไม่สามารถแข่งขันซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลได้ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ยังใช้วิธีการขายข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ครั้งนี้กระบวนการซื้อขายจะสั้นลง จากเดิมที่จะต้องคุยและเสนอผลประโยชน์ พิเศษผ่าน "นายหน้า" แต่มาคราวนี้ให้ติดต่อกับ "ผู้ใหญ่" โดยตรง ไม่ต้องผ่านนายหน้าอีก จนมีผู้ส่งออกข้าวบางรายที่สนใจซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลจำนวนมากกว่า 100,000 ตัน ลองติดต่อเข้าไป พร้อมกับเสนอราคาซื้อประมาณตันละ 15,600 บาท จากราคาตลาดประมาณ 16,200 บาท แต่ไม่มีการทำสัญญา จะเป็นการซื้อและจ่ายเงิน ค่าข้าวเป็นเช็คผ่านบุคคลที่สาม เพื่อให้โอนต่อไปให้กรมการค้าต่างประเทศ และออกเอกสารการรับข้าว (D/O) กลับมาให้ ผู้ซื้ออีกต่อหนึ่ง "การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงบิดเบือนตลาดของรัฐบาล ตอนนี้ ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวหลายรายต้องผันตัวเองกลับไปทำธุรกิจโรงสี หลังจากที่ได้เลิกกิจการมานานแล้ว เนื่องจากโรงสีได้รับประโยชน์แน่นอนเพราะเป็น "คนกลาง" ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายจำนำหรือประกันรายได้ อย่างไรก็ต้องขนข้าวผ่านโรงสี ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวบางรายก็ลงทุนสร้างคลังกลางให้รัฐบาลเช่า และมีส่วนหนึ่งที่หันไปผลิตสินค้าอื่นหรือลงทุนไปตั้งบริษัทค้าข้าวในประเทศเพื่อนบ้านแทนก็มี" แหล่งข่าวกล่าว ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ "รู้ลึก รู้จริง โกงจำนำข้าว" ว่า ได้จัดพิมพ์ 5,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังประชาชน ให้ทราบถึงกระบวนการทุจริตจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ เพราะโครงการจำนำข้าวสร้างภาระงบประมาณถึง 500,000 ล้านบาท ต่อปี เกิดความเสียหายปีละ 230,000 ล้านบาท และยังมีกระบวนการทุจริตอย่างมากมาย เกษตรกรยังไม่ได้รับเงินตามประกาศราคาจำนำ จนล่าสุดสถาบันจัดอันดับความเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่งเตรียมยกปัญหาโครงการนี้ไปเป็นปัจจัยในการลดอันดับความน่าเชื่อถือ ของประเทศ จะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อฐานะการคลังและเศรษฐกิจในภาพรวม น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ปชป. กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเดินทางไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.ใน 3 ประเด็นคือ 1)กรณีการระบายข้าวแบบ G to G ไม่โปร่งใส แต่เป็นการขายเพื่อเวียนเทียนในประเทศผ่านบุคคลชื่อ "ปาล์ม" กับ "โจ" ในฐานะบริษัทและตัวบุคคลซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อน 2)กรณีรัฐบาลพัวพันการฟอกเงินในโครงการระบายข้าว ในประเด็นนี้จะมอบเอกสารเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน และ 3)หลักฐานใหม่ (ลับ) ในการระบายข้าวของรัฐบาล G to G สำหรับ ป.ป.ช.เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบปัญหาผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวไม่ให้ตรวจข้าวขาออก ทำให้อาจมีการนำข้าวคุณภาพต่ำเข้าไปสวมแทน, ปัญหาเรื่องการเช่าโกดังเต็มจนต้องแก้ไขระเบียบให้เจ้าของโกดังไม่ต้องรับผิดชอบคุณภาพข้าว, ปัญหาข้าวล้นโกดังต้องเช่าคลังร้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี มาเก็บ อีกทั้งผู้ว่าราชการ จ.สกลนคร ยังยอมรับว่ามีการนำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณี ที่หลายจังหวัดเกิดไฟไหม้โกดังเก็บข้าวของรัฐบาล--จบ-- ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 6 ก.พ. 2556-- |
วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ข้าวเขมรทะลักไทยแห่สวมสิทธิ์จำนำกินส่วนต่างหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 6 ก.พ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น