วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

'ดร.ชาญวิทย์' ทำนายคดีเขาพระวิหารล้มรัฐบาลไม่ได้ขลุ้นศาลโลกเจ๊ากับเจ๊ง ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556




สัมภาษณ์พิเศษ: 'ดร.ชาญวิทย์' ทำนายคดีเขาพระวิหารล้มรัฐบาลไม่ได้ขลุ้นศาลโลกเจ๊ากับเจ๊ง




ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
การเมืองในประเทศถูกแทรกวาระด้วยการเมืองร้อนระหว่างประเทศ
เป็นการเมืองระหว่างประเทศที่มีคู่กรณีคือไทยกับกัมพูชา
เป็นกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน
4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กินเวลายาวนานถึง 51
ปี
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เมื่อศาลโลก
ประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 ชีวิต จาก 12 ประเทศ มีมติ 9 (โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี) ต่อ 3
(อาร์เจนตินา จีน และออสเตรเลีย)
ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
แต่ก็ไม่ได้ชี้ขาดว่าพื้นที่ทับซ้อน
4.6 ตารางกิโลเมตรรอบตัวปราสาทนั้นใครเป็นเจ้าของ
แม้นับจากนั้น
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศจะถูก "พัก" ไว้เป็นสิบ ๆ ปี
นโยบาย
"เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็น สนามการค้า" ในยุค "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" เป็นนายกฯ
สามารถพลิกวิกฤตความสัมพันธ์ มาเป็นผูกมิตรกับกัมพูชา เน้นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ
การลงทุน
มากกว่าก่อไฟสงครามและความขัดแย้ง
สถานการณ์เงียบสงบยาวนานกว่า 18 ปี
กระทั่งปี 2549 สมัยรัฐบาล "พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์"
กัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารพร้อมพื้นที่ โดยรอบ 4.6 ตารางกิโลเมตร
ให้เป็นมรดกโลก
รัฐบาลจึงใช้สิทธิ์โต้แย้ง
ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น
แต่พอมาถึงรัฐบาล
"สมัคร สุนทรเวช" ที่ไม่ได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนของกัมพูชา
แต่กลับออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่แสดงการยอมรับว่า พื้นที่ทับซ้อน 4.6
ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่ของกัมพูชาฝ่ายเดียว พร้อมยอมเลื่อนจุดปักเขตแดนอีก 3 กิโลเมตร
จนถูกทักท้วงว่าสุ่มเสี่ยง
อาจทำให้ไทยเสียดินแดน
นับจากนั้นการเมืองระหว่างประเทศก็ถูกจุดชนวนขึ้นมา
ทั้งจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์
บีบให้รัฐบาลสมัครต้องรับผิดชอบ จนทำให้ "นพดล ปัทมะ" รมว.ต่างประเทศ
ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง
และเมื่อการเมืองยุครัฐบาล "อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ" อันถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกัมพูชา ขึ้นบริหารประเทศ
รัฐบาลไทยก็ใช้สิทธิคัดค้านแผนบริหารตัวปราสาทของกัมพูชา
จนทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้กำลังทหารรบราฟาดฟันกัน
เป็นเหตุให้กัมพูชานำชนวนความขัดแย้งดังกล่าวยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน
4.6 ตารางกิโลเมตร
โดยที่ศาลโลกจะนัดคู่กรณีทั้ง 2
ฝ่ายแถลงคำให้การเพิ่มเติมต่อศาลในวันที่ 15-19 เมษายน
และศาลจะนัดอ่านคำตัดสินราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2556
ซึ่ง "สุรพงษ์
โตวิจักษณ์ชัยกุล" รมว.ต่างประเทศ คนปัจจุบัน ออกมายอมรับว่า คดีที่น่าหนักใจมาก
มีแต่ "เสมอตัว" กับ "แพ้"
"ถ้าแพ้ก็เสียดินแดน
ถ้าหากเสมอตัวก็คงคำพิพากษาปี 2505 เอาไว้ คือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
พื้นที่รอบปราสาทเป็นของไทย"
ความคิด "สุรพงษ์" สอดคล้องกับความคิด
"ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้คร่ำหวอดกับงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาทั้งชีวิต
"ดร.ชาญวิทย์"
ยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ท่าทีของศาลโลกน่าวิตก มีเพียง 2 แนวทางเท่านั้น
คือ "เจ๊า" กับ "เจ๊ง" เท่านั้น 1.ถ้าเรามองโลกในแง่ดี
ศาลโลกออกมาในลักษณะที่ไม่มีอำนาจวินิจฉัย
ให้ไปตกลงกันเอง
2.ศาลวินิจฉัยให้กัมพูชาชนะ ยึดเอาตามแผนที่อัตราส่วน
1 ต่อ 2 แสน ที่ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสร่วมกับสยาม ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทับซ้อน 4.6
ตารางกิโลเมตร ตกไปอยู่ในมือของกัมพูชา
อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์
แนะทางออกให้รัฐบาล หากผลออกมา "เจ๊ง" ทางออกระยะยาวให้ดูการแก้ปัญหาของน้ำตก
"อีกวาซู" ของประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา
หรือปัญหาหอระฆังยุโรประหว่างประเทศเบลเยียมกับฝรั่งเศส
ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกัน
ไม่ต้องคิดถึงเรื่องพรมแดน
"ถ้ามัววัดเส้นปักปันเขตแดน เผลอ ๆ
ต้องรบกันไปอีกนาน แต่ถ้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
ให้ทั้งตัวปราสาทและธรรมชาติเป็นมรดกโลกร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ peace not
war"
ส่วนปฏิกิริยาเชิงลบ หากรัฐบาลตกม้าตายพ่ายแพ้บนศาลโลก ซ้ำรอยปี
2505 "ดร.ชาญวิทย์" วิเคราะห์ว่า
กลุ่มชาตินิยมอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จะถูกปลุกขึ้นมาเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกครั้ง
แต่เชื่อว่าไม่สามารถล้มรัฐบาลได้สำเร็จ
เหมือนที่ทำกับรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย
"คิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งรอดูสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไร
แต่ผมคิดว่าทหารไม่เล่นด้วย ถ้าดูฝ่ายนายทุนนักธุรกิจไม่เล่นด้วย
เพราะเราได้เปรียบดุลการค้ากับกัมพูชาเป็นพันล้านบาทต่อปี ดังนั้น
เมื่อกลุ่มที่ชุมนุมไม่มีนายทุน จะชุมนุมยาว ๆ ใหญ่ ๆ ไม่ได้ จึงไม่มีผลต่อรัฐบาล
เพราะรัฐบาลทำตามหน้าที่แล้ว"
นอกจากนี้
เขาเชื่อว่าเกมที่รัฐบาลไม่เปลี่ยน "ทีมกฎหมาย" สู้คดีในศาลโลก
โดยใช้ชุดเดียวกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ รวมถึงการออกมายอมรับของ "สุรพงษ์"
รมว.ต่างประเทศ ว่ามีแต่เสมอตัวกับแพ้
ถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาด
"ผมเชื่อว่ายิ่งลักษณ์กับสุรพงษ์เล่นเกม
งานนี้รัฐบาลออกมาทำเหมือนจะแพ้ แปลว่าเผื่อทางออกให้ตัวเอง บอกแล้วว่าจะแพ้
ต่างจากปี 2505 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกฯ บอกว่าชนะ 500 เปอร์เซ็นต์ว่าชนะ
พอแพ้จึงทำให้คนไทยช็อก ส่วนการที่รัฐบาลไม่เปลี่ยนทีมกฎหมาย
ใช้ทีมเก่าของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ถือว่าเป็นเกมที่ฉลาดพอสมควร ถ้าผลเป็นแพ้
ก็จะบอกว่าเป็นทีมที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นมา"
"ดร.ชาญวิทย์"
ยังฉายภาพการเมืองในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์
ที่ผูกมัดให้พรรคประชาธิปัตย์ในยุคปัจจุบันต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ชินวัตร เอาจริงเอาจังกับการสู้คดีในศาลโลกว่า
เป็นเพราะคนระดับตำนานของพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ "ควง อภัยวงศ์"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และ "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช"
อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับความพ่ายแพ้บนศาลโลก เมื่อปี
2505
"ควง คือส่วนหนึ่งของการยึดดินแดนเสียมราฐและพระตะบอง
แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม เพราะควงเป็นลูกของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
(ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ก่อนยกดินแดนให้กับฝรั่งเศส
ทำให้เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ยอมไม่ได้ และถ้ายอมก็แปลว่าเป็นความผิดของ
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ตอน พ.ศ. 2505 ทำหน้าที่เป็นทนายความ เขาบอกคนไทยว่าจะชนะ
500 เปอร์เซ็นต์"
อย่างไรก็ตาม
หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ถึงที่มา-ที่ไปทั้งหมด
เกิดขึ้นในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมแถบอินโดจีน ยึดฝ่ายซ้ายของไทย คือ ลาว
กัมพูชา เวียดนาม
ในปัจจุบันให้เป็น"อินโดจีนฝรั่งเศส"
วันหนึ่งในปีรัตนโกสินทร์ศก 112
ชาติฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ ฝ่าป้อมพระจุลที่เมืองปากน้ำ หันปากกระบอกปืนขู่จะยิง
"วังหลวง" พร้อมทั้งส่งกองกำลังทหารยึดเมืองจันทบุรีและเมืองด่านซ้าย (จ.เลย)
ไว้ในครอบครอง
จนกระทั่ง พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5
จึงได้ยินยอมลงนามสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยกดินแดนเสียมเรียบ พระตะบอง
และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อให้คืนเมืองจันทบุรีในปี 2447
รวมถึงแลกตราดและด่านซ้ายกลับคืนมา
ซึ่งในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้มีการปักปันเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับ
อินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมปักปันฝ่ายฝรั่งเศส นำโดย
"พันตรีแบร์นาร์ด" ขณะที่ "ฝ่ายสยาม" ส่งบุคคลระดับพระน้ำพระยาเข้าเป็นคณะกรรมการ
เช่น
พลตรีหม่อมชาติเดชอุดมกับพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์
ต่อมาฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่มาตราส่วน
1 ต่อ 2 แสน ซึ่งขีดเส้นตัวปราสาทพระวิหารว่าเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาให้แก่ฝ่ายสยาม
แต่ยังไม่ทันที่แผนที่ดังกล่าวได้รับการรับรอง
คณะกรรมการดังกล่าวกลับสลายตัวไปก่อนที่แผนที่ชุดดังกล่าวจะจัดพิมพ์เสร็จ
การปักปันเขตแดนจึงยังเป็นเรื่อง
"ค้างคา"
แม้การปักปันเขตแดนยังไม่จบสิ้นอย่างเป็นทางการ แต่
"สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7
ได้ทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เพื่อขึ้นไปทอดพระเนตรปราสาทพระวิหาร
ที่อยู่ภายใต้ธงฝรั่งเศส
จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของฝรั่งเศสแล้ว
สถานการณ์ล่วงเลยถึงยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2475 กระทั่งการเมืองเข้าสู่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2482
มีการชูลัทธิ "ชาตินิยม" เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยาม เป็นประเทศไทย
พร้อมกับจุดกระแสเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ดินแดนฝ่ายซ้ายของแม่น้ำโขง"
คืนจากฝรั่งเศสชนวนดังกล่าวก่อให้เกิดการรบพุ่งระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ในปี พ.ศ.
2483 อันเป็นเวลาเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มปะทุในสมรภูมิยุโรป
ฝรั่งเศสเวลานั้นอยู่ในสภาพสะบักสะบอม
เพราะถูกเยอรมนีภายใต้การนำของ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์"
ยกทัพนาซีเข้ายึดครองกรุงปารีสได้สำเร็จ
ขณะที่ไทยก็ฉวยโอกาสส่งกองกำลังทหารรุกข้ามพรมแดนไปยังกัมพูชาและลาว
ในวันที่ 5 มกราคม 2483 สุดท้ายสงครามยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยของประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 28 มกราคม
ปีเดียวกัน
โดยฝรั่งเศสและไทยลงนามสงบศึกในสนธิสัญญาโตกิโอ
ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน
คือเสียมเรียบ จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืน
จากฝรั่งเศส
รัฐบาลจอมพล ป.นำดินแดนที่ได้รับคืนมาแบ่งเป็น 4 จังหวัด
คือจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์
และจังหวัดลานช้าง
แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง "ญี่ปุ่น"
กลายเป็นฝ่ายปราชัย พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วน "จอมพล ป."
ถูกจับข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม ทำให้รัฐบาล "ปรีดี พนมยงค์"
ที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงหลังสงครามยุติ ได้คืนดินแดนที่รัฐบาลจอมพล
ป.ยึดมาทั้งหมด คืนให้แก่ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาวอชิงตัน
เพื่อแลกกับไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้
สงคราม
แต่การเมืองไทยพลิกผันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2490
คณะรัฐประหารภายใต้การนำของ "พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ" ได้ยึดอำนาจรัฐบาล "พล.ร.ต.ถวัลย์
ธำรงนาสวัสดิ์"พร้อมกับเชิญ "ควง อภัยวงศ์" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ไทยจะคืนดินแดนและตัวปราสาทพระวิหารคืนให้แก่ฝรั่งเศสไปตั้งแต่รัฐบาลปรีดีเข้าบริหารประเทศ
แต่หลังการยึดอำนาจ 2490 รัฐบาล "ควง" และ "พล.ท.ผิณ"
ได้ลักลอบส่งทหารไทยขึ้นไปปักธงชาติไทยอยู่ในบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง
6
ปีต่อมาหลังจากฝรั่งเศสคืนเอกราชให้กัมพูชา ในปี 2496 "พระเจ้านโรดม สีหนุ"
ก็ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ในปี พ.ศ. 2502
ให้ตีความว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาหรือไทย
ที่สุดศาลโลกมีมติ 9
ต่อ 3
ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
เป็นปฐมบทของข้อพิพาทไทย-กัมพูชา
อันกินเวลามา 51 ปี
เป็น 51
ปีที่ศาลโลกจะตัดสินอีกครั้งว่าไทยจะเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 15 หรือไม่

.....หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น