เมื่อ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังวัดขุนอินทประมูล หมู่ที่ 3 ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง หลังทราบข่าวว่าได้สร้างพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ถึง 3 ชั้น และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นบันไดเลื่อน และลิฟท์ เอาไว้อำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด
เมื่อมาถึง วัดขุนอินทประมูล ซึ่งเป็นพุทธมณฑลจังหวัดอ่างทอง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ มีพระอุโบสถขนาดใหญ่สีขาวหลังคาสีน้ำเงินโดยมีทั้งสิ้น 3ชั้น ภายในโบสถ์ได้พบกับกลุ่มนักเรียนที่มาทำการประกวดสวดมนต์ทำนองหมู่ กำลังเดินชมภายในพระอุโบสถชั้นล่าง ซึ่งบริเวณชั้นล่างที่เป็นห้องโถงจัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อน และไว้เป็นสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงอาหารโดยสามารถตั้งโต๊ะจีนได้ 120 โต๊ะ ทางขึ้นชั้นสองมีบันไดเดินปกติพร้อมบันเลื่อนซึ่งอยู่คนละด้านของพระอุโบสถ ส่วนลิฟท์นั้นอยู่บริเวณหน้าบันไดเลื่อน ซึ่งลิฟท์และบันไดเลื่อนนี้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับญาติโยมและพระที่สูงอายุ สำหรับพื้นที่ชั้นสองนั้นเป็นส่วนของพระอุโบสถจริง ๆ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามงคลจินดาพลบพิธ พระประธานของพระอุโบสถหลังนี้ บริเวณด้านข้างของโบสถ์ที่ชั้น 2 นี้ จัดให้มีที่เบาะที่นั่ง/ที่นอน ขนาดกว้าง 1 เมตรบุฟองน้ำอย่างดี สามารถพับเก็บเข้าช่องได้อยู่โดยรอบ ซึ่งสำหรับที่นั่ง/ที่นอนนี้ จัดทำขึ้นสำหรับไว้ให้พระหรือญาติโยมไว้สำหรับพักผ่อน ซึ่งใช้ระบบไฮโดรลิคทั้งหมด สามารถกางออกมาและเก็บเข้าไปติดผนังเหมือนเดิม และบริเวณชั้น3ของพระอุโบสถนั้น จัดทำขึ้นสำหรับเป็นที่พักของพระผู้ใหญ่โดยเฉพาะ
ด้านนายประดับ เอี่ยมประชา ไวยาวัจกรณ์ประจำจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า พระอุโบสถหลังนี้สร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 97 ล้านบาท คาดว่าหลังสร้างเสร็จน่าจะถึง 100 ล้านบาท สำหรับเหตุผลที่สร้างพระอุโบสถที่มีทั้งลิฟท์ทั้งบันไดเลื่อนนี้ ก็เพราะว่าเนื่องจากทุกวันนี้มีญาติโยมที่สูงอายุมาเข้าวัดทำบุญกันเป็นจำนวนมาก ทางวัดจึงคิดว่าการที่สร้างพระอุโบสถที่มีลิฟท์และบันไดเลื่อนนี้ จะได้ไว้คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมผู้สูงอายุทั้งหลายที่มาทำบุญ รวมทั้งพระสงฆ์ที่สูงอายุจะได้ไม่ลำบากในการเดินขึ้นเดินลง ซึ่งตอนนี้ลิฟท์สามารถใช้ได้ แต่บันไดเลื่อนนั้นตอนนี้เสียอยู่ต้องรออะไหร่จากต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัดขุนอินทประมูลนี้ เป็นพระอารามราษฎร์ ประกาศขึ้นทะเบียนวัดในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2470 และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2500 องค์พระยาว 2 เส้น 5 วา คือ 50 เมตร ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่สอง รองจากพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ พระนอนที่วัดบางพลีใหญ่กลาง จ. สมุทรปราการ สมเด็จพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร ซึ่งยาว 53 เมตร ส่วนพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี ยาว 47 เมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น