วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

เปิดแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน พร้อมรับมือมวลน้ำรอบใหม่ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:01:06 น.


ฝนที่ชุมฉ่ำช่วงนี้ นอกจากจะนำความเย็นสบายมาให้ แต่ก็ทำให้คนไทยทั้งประเทศอดหวั่นใจไม่ได้ว่าปีนี้จะซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ยังไม่พ้นฝันร้ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีกลาย

มี 7 พื้นที่อุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมบางปะอิน นิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ สวนอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี

โรงงานรวม 839 แห่ง จมอยู่ในกระแสน้ำ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมราว 4 แสนล้านบาท

ความเสียหายดังกล่าวยังไม่นับรวมระบบห่วงโซ่การผลิตพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องหยุดกิจการ เพราะไม่มีชิ้นส่วนหลักจากโรงงานที่กำลังถูกน้ำท่วม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ยังกระทบกับเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเป็นหลัก แรงงานต้องว่างงานกระทันหัน ขาดรายได้ เดือดร้อนถึงครอบครัวที่ต้องดูแล

ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักดูแลอุตสาหกรรม จึงต้องวางแผนทั้งป้องกันและรับมือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก เพราะขึ้นชื่อว่า ภัยธรรมชาติ ย่อมวางใจไม่ได้อยู่แล้ว

โดยแผนป้องกันเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างแนวป้องกันน้ำถาวรของ 5 พื้นที่อุตสาหกรรม คือ นิคมบางปะอิน นิคมไฮเทค เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ สวนอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ความคืบหน้าในโครงสร้างหลักแล้วเสร็จเกือบ 100% เหลือเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย เพื่อให้งานก่อสร้างสมบูรณ์

ยกเว้นนิคมสหรัตนนคร ที่มีปัญหาผลัดเปลี่ยนผู้บริหารแผนฟื้นฟู จนการก่อสร้างแนวป้องกันถาวรล่าช้า และต้องปรับแผนเป็นก่อสร้างแนวป้องกันน้ำชั่วคราว (เขื่อนดิน) ก่อน และแม้จะเพิ่งได้ผู้บริหารแผนรายใหม่ ก็เกิดปัญหาแย่งกันก่อสร้างกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลล้มละลายกลางให้อีกฝ่ายไม่มีสิทธิในพื้นที่




ล่าสุดได้ข้อสรุปคือ ให้ฝ่ายทหารเข้าก่อสร้าง โดย กนอ.จะเป็นผู้ให้นิคมสหรัตนนครยืมเงินเพื่อใช้ในการก่อสร้างก่อน

ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 35% มีกำลังทหารทำงาน 4 ชุด รับผิดชอบก่อสร้างเขื่อนดินชุดละ 1.5 กิโลเมตร รวมความยาวเขื่อนดินทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร

ดังนั้น กนอ.จึงกำหนดให้มีการซ้อมแผนรับมือน้ำท่วม โดยผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือ สหรัตนนคร บางปะอิน และไฮเทค พร้อมจัดการซ้อมแผน ใช้ชื่อโครงการว่า "ซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน" รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ในวันที่ 26-28 กันยายนนี้ โดยจะเริ่มซ้อมที่นิคมสหรัตนนครเป็นแห่งแรก ในวันที่ 26 กันยายน ตามด้วยนิคมบางปะอิน ในวันที่ 27 กันยายน และปิดท้ายที่นิคมไฮเทค ในวันที่ 28 กันยายน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวถึงแผนการซ้อมดังกล่าวว่า การซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน วันที่ 26 กันยายน กนอ.ได้ให้ผู้บริหารนิคมสหรัตนนครนำเสนอ เพื่อตรวจสอบว่าเพียงพอต่อการรับมือหรือต้องปรับปรุงเรื่องใด เมื่อผ่านแล้วจะสามารถดำเนินการได้เลย

สำหรับแผนของนิคมสหรัตนนครจะเริ่มจากการกำหนดระดับการเตือนภัยแบ่งเป็น 3 ระดับ ใช้ปริมาณน้ำเป็นตัวกำหนด กำหนดจุดเฝ้าสังเกตการณ์ อาทิ ประตูระบายน้ำคลองตาเมฆ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ซึ่งควบคุมน้ำรอบนิคม เส้นทางการสัญจร และพื้นที่สำหรับการอพยพแรงงาน หากน้ำสูงถึงระดับ 3 จะเข้าสู่แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทันที นั่นคือ การหยุดผลิต และอพยพแรงงานออกจากพื้นที่

"ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน การวางแผนรับมือที่ครอบคลุมเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ผ่านไปได้ ไม่เช่นนั้นจะมีคนนอก เช่น หน่วยกู้ภัย เป็นต้น เข้ามาทำให้วุ่นวาย แม้ว่าจะมีเจตนาดีก็ตาม แต่เพราะการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนจะทำให้แผนรับมือเกิดปัญหาได้"

นายวีรพงศ์อธิบายว่า แผนระดับ 3 จะกำหนดช่องทางการขอความช่วยเหลือ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการควบคุมภาวะฉุกเฉิน การติดต่อที่สะดวกที่สุด และการรายงานที่เป็นข้อเท็จจริง กำหนดบุคคลรับผิดชอบงานแต่ละด้าน พร้อมจำลองสถานการณ์เหมือนจริง ซึ่งรวมถึงการแถลงข่าว เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปเป็นทิศทางเดียวกัน

สำหรับ 3 พื้นที่อุตสาหกรรมที่เหลือ คือ เขตประกอบการฯโรจนะ สวนอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันจะมีแผนซักซ้อมเพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินเช่นกัน โดยจะใช้แผนของ กนอ.เป็นตัวอย่างหนึ่งด้วย

เพราะระบบเตือนภัยครอบคลุม ต่างกับพื้นที่อุตสาหกรรมที่เน้นต่างคนต่างทำ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะกำหนดให้ซ้อมแผนดังกล่าวภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

"กระทรวงอุตสาหกรรมจะเลือกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในนิคมและพื้นที่อุตสาหกรรมที่เคยเกิดน้ำท่วมก่อน จากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมอื่น เช่น นิคมบางชัน นิคมลาดกระบัง ที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการและแรงงานเกิดความมั่นใจ"

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมย้ำว่า แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นการยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะดูแลนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมทั้งแรงงานแล้ว กระทรวงจะตรวจสอบว่าจุดใดต้องปรับปรุงบ้าง การประสานงานเพียงพอหรือไม่ เพราะหน้าที่ของกระทรวงคือดูแลและปกป้องอุตสาหกรรมของประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยึดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นบทเรียน โดยปรับสภาพการทำงานและออกมายืนแถวหน้าในการปกป้องอุตสาหกรรม

ส่วนแผนป้องกันและรับมือจะทำได้ดีแค่ไหน นักลงทุนคงเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด..แบบไม่กะพริบตาแน่นอน

ทรรศนะเอกชนกับแผนรับน้ำ

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยอินดัสเตรียลเอสเตท ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จะซักซ้อมแผนวันที่ 27 กันยายน เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม และให้ทุกฝ่ายรับรู้ขั้นตอนการปฏิบัติว่าหากเกิดเหตุการณ์แล้วจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งนิคมฯไฮเทคมีความพร้อมเต็มที่แล้ว ทั้งนี้การซักซ้อมเบื้องต้น ประกอบด้วย การโยกย้ายเครื่องจักร การรวมพลคนงานภายในนิคมฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ แต่คงไม่ใช่การทดสอบเรื่องความแข็งแรงของเขื่อน

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง
ผู้จัดการบริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกะดี

"สวนอุตสาหกรรมบางกะดีได้ตั้งคณะกรรมการภายในขึ้นมาเฝ้าระวังเรื่องน้ำโดยเฉพาะ และได้ประชุมร่วมกับกรมชลประทานจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์น้ำ การรายงานพยากรณ์อากาศไปสู่ผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรมสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการก่อสร้างเขื่อนดำเนินการไปแล้ว 83% สามารถป้องกันน้ำได้แล้ว และถ้าฝนตกหนักระบบระบายน้ำในพื้นที่ก็พร้อมทำงาน ส่วนการซ้อมรับมือน้ำท่วมร่วมกับหน่วยงานรัฐ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน"

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา

กรรมการผู้จัดการบริษัทนวนคร

"กนอ.ส่งแผนซ้อมน้ำท่วมมาให้ดูแล้ว แต่ทางกระทรวงยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของนวนครเองจะเรียกประชุมผู้ประกอบการภายในนิคม ชี้แจงรายละเอียดการก่อสร้างเขื่อน รวมถึงแผนการรับมือหากน้ำท่วม เช่น หากเกิดเหตุน้ำท่วมล้อมแนวป้องกันของนวนคร ทางนวนครจะสร้างถนนชั่วคราวเพื่อให้การขนส่ง การสัญจรยังเดินต่อไปได้ และจะให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อเป็นศูนย์พักพิง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น