วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

เหลือง-แดง ตะบัน ดับฝันปรองดองชาติ 26 กันยายน 2555 เวลา 08:35 น



เหลือง-แดง ตะบัน ดับฝันปรองดองชาติ

  • 26 กันยายน 2555 เวลา 08:35 น.
 
ภาพเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มมวลชน “เหลือง-แดง” หน้ากองปราบปรามวานนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ยืนยันว่า “ความขัดแย้ง” ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยยังไม่ได้จางหาย และพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ
จากปรากฏการณ์ “มนัสนันท์ หนูคำ” อดีตครูสาว เปิดฉากวิวาทะ “ดารุณี กฤตบุญญาลัย” ไฮโซแดง กลางห้างสรรพสินค้าดัง ขยายวงไปสู่ความขัดแย้งระดับมวลชนที่ออกมาสนับสนุนจุดยืนของแต่ละฝั่ง ทั้งด่าทอ ขว้างปาขวดน้ำ ก้อนหิน
ก่อนจบลงด้วยการบาดเจ็บถึงขั้นหัวร้างข้างแตก และรถยนต์ถูกก้อนหินปากระจกแตกเสียหาย ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยกพลมาสอบถามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปราม
ความรุนแรงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนกับมวลชนรุนแรงเช่นนี้ หนำซ้ำยังน่าเป็นห่วงว่าหากไม่เอาจริงเอาจังแก้ไข หรือตีกรอบจำกัดวงความขัดแย้งนี้ไว้ ย่อมอาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรงมากกว่าแค่หัวร้างข้างแตกเท่านั้น
ที่ผ่านมาจะมีเหตุปั่นป่วนอยู่บ้าง มี “เสื้อแดง” คอยไล่ตะโกนด่า ขับไล่ ระหว่างการลงพื้นที่พบปะหาเสียงและตั้งเวทีปราศรัยหลายพื้นที่ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยู่บ้าง แต่รอบนี้เป็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชน
น่าสนใจตรงที่ “ความรุนแรง” ครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน แถลงผลสรุปรายงานการค้นหาความจริงและข้อเสนอที่เชื่อกันว่าจะเป็นต้นเรื่องที่นำไปสู่การคลี่คลายสลายความรุนแรงให้หมดไปจากสังคม
เหตุการณ์การปะทะระหว่างมวลชนรอบนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า หนทางสู่ความปรองดองต่อจากนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย!!!
เดิมที คอป.ที่ถือกำเนิดในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ 1.ค้นหาความจริงในช่วงความขัดแย้งเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 และตรวจสอบ “รากเหง้า” ความขัดแย้ง 2.เยียวยาฟื้นฟูผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดอง และ 3.วางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงในอนาคต
นี่จึงเหมือนจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่หลายคนตั้งความหวัง โดยเฉพาะหลังจากได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากเสื้อแดง เมื่อครั้ง คอป.ทำข้อเสนอให้มีการประกันตัวแกนนำเสื้อแดง และ “คณิต” ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพยานเพิ่มน้ำหนักให้คำร้องขอปล่อยตัว
ทว่า หลังผลสรุป คอป.ออกมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะไม่ได้ออกมาประกาศคัดค้านไม่ยอมรับผลสรุป คอป. แต่ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าลุยปรองดองตามข้อเสนออย่างจริงจัง ทำแต่เพียงแต่โยนเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งมี “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง พร้อมใจกันตบเท้าออกมาไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ ถึงขั้นที่ “นพ.เหวง โตจิราการ” “จารุพรรณ กุลดิลก” และ “ขัตติยา สวัสดิผล” ออกมาแถลงข่าวฉีกรายงาน คอป.

ไม่น่าแปลกใจที่ฝั่ง “เสื้อแดง” จะออกมาไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ เพราะเนื้อหาในรายงานของ คอป. ระบุชัดยืนยันชัดเจนถึงการมีตัวตนของ “ชายชุดดำ” นั่นเท่ากับจะไปทำลายภาพลักษณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บรรดาแกนนำยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่าเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
ที่สำคัญกว่านั้น รายงานฉบับนี้จะถูกใช้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพื่อ “ยืนยัน” การมีอยู่ของชายชุดดำ ที่จะมีผลต่อการไล่บี้เอาผิดไปถึง “อภิสิทธิ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งคดีพิจารณาคดีการเสียชีวิต 93 ศพ เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ดังจะเห็นได้จากที่เหตุผลที่ “นพ.เหวง” ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องชายชุดดำที่ “สมชาย หอมลออ” นำมาแสดง และขอให้นำหลักฐานภาพถ่ายมายืนยันเพิ่มเติม อย่าเอาแค่รายงานจากสื่อที่ไม่ชอบ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” มาเป็นตัวชี้วัด พร้อมเปรียบเทียบว่ารายงานฉบับนี้ก็เป็นเหมือนภาพยนตร์ “เจมส์ บอนด์” ที่มีแค่ความตื่นเต้น แต่หาสาระใดๆ ไม่ได้เลย
แม้อีกด้านหนึ่ง ทางฝั่งข้าหลวงใหญ่ขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน จะออกแถลงการณ์ชื่นชมต่อรายงานและข้อเสนอของ คอป. พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตาม คอป. เพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยและความปรองดองอย่างแท้จริง ไม่ต่างจากท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลนำรายงานฉบับดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าโยนให้ ปคอป.ดำเนินการเท่านั้น
แต่ทาง “ยงยุทธ” ในฐานะประธาน ปคอป. กลับไม่สนใจ มองว่าเป็นเพียงแค่ความเห็นของแต่ละฝ่าย ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะประเทศไทยมีอธิปไตยของเราเอง
อีกประเด็นที่ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยไม่อาจยอมรับข้อเสนอของ คอป.ได้ เพราะในส่วนของ “ข้อเสนอ” หลายข้อออกจะขัดแย้งสวนทางกับท่าทีของเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ คอป.เสนอให้รัฐต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะ สานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลรอบด้าน นั่นย่อมกระทบไปถึงแผนเดิมที่ตั้งใจจะรีบปิดเกมแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เร็วที่สุด
ไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างวาระอยู่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รอจังหวะหยิบขึ้นมาพิจารณา หลังไม่อาจฝืนกระแสเดินหน้าต่อไปได้นั้น ในรายงาน คอป.ยังแสดงความเป็นห่วงกระบวนการรวบรัด ซึ่งจะนำไปสู่การนิรโทษกรรม อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและยกระดับความรุนแรงได้ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคมทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบจากการนิรโทษกรรม
สุดท้ายข้อเสนออื่นๆ ที่ คอป.ตั้งใจทำออกมาก็ต้องสูญเปล่าไปในที่สุด แม้ในหลายๆ ข้อ หลายประเด็นจะเป็นเรื่องที่ดีและสามารถยอมรับกันได้ทุกฝ่ายอันจะนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งให้มีอยู่ได้ก็ตาม
แต่เมื่อปิดประตูบานนี้ไปแล้ว หนทางสู่ความปรองดองที่มีอยู่ย่อมริบหรี่ลงทุกที ยิ่งหากรัฐบาลยังไม่สนใจจะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างจริงจังต่อไป เหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนสองฝั่งอาจจะบานปลายและวนกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งไม่มีวันสิ้นสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น