วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ประพฤติชั่วล้างไม่หมด 25 September 2555




วาทกรรม "ไม่มีชายชุดดำ" ถูกปลุกให้ติดตลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนตัวผมพูดตรงๆ เหลือเชื่อครับ วันนี้ขบวนการแดงและแนวร่วมทั้งมวลได้ปรับความคิดเชื่อตรงกันครับว่า "ไม่มี"
    ช่วงนี้คงต้องพกเลื่อยติดตัวครับ เผื่อมีคนขอความช่วยเหลือให้เลื่อยจมูก!
    ช้าไปนิด แต่ยังไม่มีใครพูดถึง เรื่องก็คือ เมื่อวันอาทิตย์ตอนเที่ยงๆ ทีวีช่องแดง เอเชียอัพเดท ถ่ายทอดสดมหกรรมยำคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
    ผมคงไม่ต้องบอกผลนะครับ ว่าหาศพคุณคณิต ณ นคร ประธาน คอป.เจอหรือไม่ เพราะมันมีอะไรมากกว่านั้น
    ฝากหน่วยงานดูแลความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจสอบหน่อยนะครับว่า เข้าข่ายหมิ่นฯ หรือไม่
    ผมจำชื่ออาจารย์สาวซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรชำแหละรายงาน คอป.ไม่ได้  แต่เธออยู่ในเครือข่าย ครก. 112 ครับ 
    การตำหนิว่า คอป.สอบไม่รอบด้าน เพราะไม่พูดถึงเสื้อเหลือง หรือพูดถึงการใช้กำลังของทหารเพียงน้อยนิด ก็อยู่ในข่ายที่รับได้ 
    แต่การกล่าวอ้างว่าสาเหตุความขัดแย้งบางส่วน เกิดจากงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ ๗ ตุลาคม  ๒๕๕๑
    มีการพูดถึงผู้ไปร่วมงานแล้วได้รับเสียงโห่ฮาป่าจากคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมชำแหละรายงาน คอป. พูดตรงๆ เห็นความขัดแย้งรุนแรงรออยู่ข้างหน้า
    สำนักงานตำรวจแห่งชาติลองดูนะครับ ไปดูย้อนหลังว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่เช่นนั้นผมถือว่าพวกท่านเป็นตำรวจแตงโม และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสด  "จาบจ้วง" ผ่านทีวีดาวเทียม 
    เอาล่ะครับตั้งหลักกันให้ดี โดยเฉพาะคนที่คิดจะอุ้ม "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ"  โดยอ้างคำปรึกษาข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
    ประการแรกการล้างมลทินนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปหรือยัง จากคำอธิบายของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ความว่า
    "ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ส่งไปที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) เป็นความเห็นเดิมของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้นานแล้วว่า หากจะลงโทษข้าราชการต้องลงโทษระหว่างที่บุคคลนั้นรับราชการอยู่ หากพ้นหรือเกษียณอายุราชการแล้วจะลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ใช้แนวทางนี้มาโดยตลอด ซึ่งกรณีของนายยงยุทธหากเป็นไปตามแนวทางนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายได้รับการล้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน"
    นั่นเป็นการพูดถึงบันทึกที่ทำถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการใช้คำว่า "อาจจะ"
    ต่อมาวันอาทิตย์ "อัชพร จารุจินดา" ให้สัมภาษณ์ว่า "คุณยงยุทธถูกลงโทษด้วยการปลดออกจากราชการไปแล้ว เพราะคำสั่งที่ออกมาเป็นคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันเกษียณอายุราชการ (๓๐ ก.ย.๔๕) ก็เท่ากับออกจากราชการไปแล้ว ไม่ได้ออกจากราชการเพราะเกษียณอายุราชการ ก็ถือว่าได้รับโทษไปแล้ว  พอเวลาล่วงเลยมา มีการออก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ก็อยู่ในเกณฑ์ของผู้ได้รับการพิจารณาล้างมลทิน"
    สรุปคือ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ถูกลงโทษด้วยการไล่ออกจากราชการไปแล้ว  และอยู่ในเกณฑ์ได้รับการล้างมลทิน
    ตีความว่า "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และได้รับการล้างมลทินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าไม่เคยทำผิดต่อหน้าที่ราชการแต่อย่างใด และเป็นการคืนทุกอย่างในตำแหน่งราชการ
    แต่กฤษฎีกามิได้ชี้ข้อกฎหมายว่า คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ของ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" มีปัญหาด้วยหรือไม่
    การล้างมลทินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ประเด็นหนึ่งเพราะ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ยังมิได้รับโทษบางส่วนหรือทั้งหมด
    ผลของการไล่ออกจากราชการที่ทำให้คุณสมบัติการเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น อีกประเด็นหนึ่ง
    รวมทั้งการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ก็อีกประเด็นหนึ่ง
    แต่เมื่อยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานภาพในตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การจะนั่งเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบบัญชีโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นการไร้มารยาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
    นี่เป็นเรื่องคุณธรรมทางการเมือง แต่รัฐบาลห่างเหินกับสิ่งนี้เหลือเกิน
    สังเกตมั้ยครับ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ไม่กล้าร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้วินิจฉัยสถานภาพตัวเอง หรือขอให้ศาลปกครองคุ้มครอง เพราะเขาไม่กล้าทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนนั่นเอง
    ที่จริงคดีฮุบธรณีสงฆ์ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ไม่มีอะไรชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว  เช่น การอ้างมติมหาเถระ ว่าการขายที่วัดนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าธรณีสงฆ์ซื้อขายไม่ได้
    สิ่งเดียวที่ชัดเจนแต่ต้นคือรับใช้ "ทักษิณ" เท่านั้นเอง
    มันก็บังเอิญอย่างเหลือเชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เหมาลำขนคณะบินไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปล่อยให้ผู้ทำหน้าที่แทน ซึ่งรุงรังด้วยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นประธานการประชุม ครม.
    จะตั้งใจหรือไม่มิทราบได้ "คุณยิ่งลักษณ์" แกมีกำหนดการนานแล้วครับ  แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงมหาดไทยมาลงโทษ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" เอาวันท้ายๆ ที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. แล้วต้องมานั่งหัวโต๊ะพิจารณาบัญชีโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
    ถ้ามีอะไรผิดกฎหมาย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องรับรู้ด้วยเหมือนที่เคยทำบ่อยๆ ใช่หรือไม่?
    เอาล่ะกลับมาที่คณะกรรมการกฤษฎีกา โดย "อัชพร จารุจินดา" ประเด็นว่าได้ยกกรณีคำสั่งลงโทษกำหนดให้มีผลย้อนหลังไปยังวันที่ถูกสั่งพักราชการ  ตามเรื่องเสร็จที่ ๔๔๐/๒๕๒๖ มาเป็นบรรทัดฐานให้ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" เข้าข่ายการล้างมลทิน
    เท่าที่สืบค้นได้ บรรทัดฐานดังกล่าวใช้กับข้าราชการที่ถูกลงโทษ และขอกลับเข้ารับราชการในภายหลัง หมายความว่าผู้ขอกลับเข้ารับราชการใหม่ยังไม่เกษียณอายุราชการ
    และระหว่างถูกคำสั่งลงโทษไปจนถึงวันทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการใหม่ โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้างมลทินในปีต่างๆ ถือว่าข้าราชการคนนั้นได้รับโทษบางส่วน หรือทั้งหมดไปแล้วตามโทษที่ได้รับ
    ที่สำคัญทุกกรณีไม่มีตำแหน่งทางการเมืองมาพันให้ยุ่งเหยิง เหมือนกรณี "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ"
    จึงเป็นปัญหาว่า "เรื่องเสร็จที่ ๔๔๐/๒๕๒๖" นำมาใช้กับ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ได้หรือไม่
    ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ได้ใช้อำนาจรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย รับรองการซื้อขายที่ดินวัดธรรมามิการามฯ กับบริษัทอัลไพน์ และเกษียณอายุราชการในปีเดียวกัน
    ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบ ก็นั่นมันยุค "ทักษิณ" นี่ครับ การลงโทษจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๕ หลังเกษียณไปแล้วร่วม ๑๐ ปี 
    จะสรุปว่า "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รับโทษแล้วตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้วได้หรือไม่? 
    ถ้าถือว่ารับโทษแล้วโดยไม่มีการสอบ ไม่มีการลงโทษใดๆ มาก่อนตลอด  ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมว่าฉีกทิ้งเถอะครับ อย่ามีกฎหมายมันเลย
    เตือนไว้! ถ้ายังขืนอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เท่ากับว่าไม่เคยรับโทษเลย แถมยังทึกทักเอาว่าล้างมลทินแล้ว จะผิดซ้ำผิดซาก
    แล้วให้จำไว้ว่าเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๔/๒๕๓๙ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๕ ตอนท้ายที่ระบุว่า โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ ย่อมหมายความเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยเท่านั้น ส่วนความประพฤติหรือการกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษทางวินัยหาได้ถูกลบล้างไปด้วยไม่ เพราะความประพฤติหรือการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจล้างมลทินให้หมดไปได้
    คอรัปชั่นคงไม่มีใครเรียกประพฤติดีนะครับ เพราะมันคือประพฤติชั่ว.
                                        ผักกาดหอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น