วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

"นิรโทษกรรม"ไม่ใช่ทางออก 19 กันยายน 2555 เวลา 12:29 น.



"นิรโทษกรรม"ไม่ใช่ทางออก

  • 19 กันยายน 2555 เวลา 12:29 น.
 
เปิดรายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป.ว่าด้วยข้อเสนอเรื่องการนิรโทษที่ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง
หมายเหตุ : รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มีข้อเสนอมีเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นกลไกหนึ่งที่อาจนำไปสู่การปรองดอง แต่การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ทั้งในแง่ของเวลา สถานการณ์ และกระบวนการ โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เกิดการนิรโทษกรรม นอกจากจะไม่ส่งผลให้เกิดการปรองดองแล้ว ยังอาจเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ โดยการผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดนั้น คอป.เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดอง ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคมทุกฝ่าย
2.การนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายหรือผลลัพธ์สุดท้ายของการปรองดอง คอป. เห็นว่า แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยให้สังคมเกิดความปรองดอง แต่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยพิจารณาองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและคำนึงถึงมาตรการที่สอดรับกันระหว่างการสนองความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม รัฐจะต้องประกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน
3.คอป. เห็นว่า การนิรโทษกรรมจะต้องกระทำโดยไม่กระทบต่อสิทธิของเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบในการรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม การยอมรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง และการรับประกันจากรัฐว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งล้วนเป็นกลไกหลักของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การนิรโทษกรรมที่จำกัดสิทธิของผู้เสียหายดังกล่าวมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะถูกต่อต้านจากสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาตกลงเพื่อการสร้างความปรองดองในชาติต่อไป
4.การนิรโทษกรรมไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต แต่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานที่เป็นสากลโดย คอป. เห็นว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง ที่ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดของตนเอง หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป หรือครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่จะต้องมีการกำหนดความผิดที่จะนิรโทษกรรมและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจน และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
5.การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่เหยื่อ โดยการป้องกันมิให้เกิดการลบล้างการกระทำความผิดหรือยกเว้นความผิดโดยมิชอบ นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐบาลต้องพิจารณาทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการลบล้างความผิดโดยมิชอบและเร่งการพิจารณาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหลุดพ้นจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ศาลไทยสามารถดำเนินคดีตามหลัก “การพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลย” หรือการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสำหรับคดีความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีร้ายแรงบางประเภท
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น