วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ยงยุทธ ยิ่งอยู่ ยิ่งลักษณ์ ยิ่งเหนื่อย 25 กันยายน 2555 เวลา 08:48 น.



ยงยุทธ ยิ่งอยู่ ยิ่งลักษณ์ ยิ่งเหนื่อย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังถูกท้าทายจากปัจจัยรอบด้านในเวลานี้ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาทางจริยธรรม
สองปัญหาแรกอาจจะไม่เหนื่อยเท่าไหร่สำหรับรัฐบาล ต่อให้เศรษฐกิจจะวิกฤตแค่ไหน หรือการเมืองจะร้อนอย่างไร รัฐบาลก็คงสามารถถูลู่ถูกังอยู่ต่อไปเรื่อยโดยอ้างความชอบธรรมสารพัด แต่กับปัญหาจริยธรรม คงยากที่จะผ่านด่านไปได้ง่าย
รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไรเมื่อมีปัญหาทางจริยธรรม
ล่าสุดกำลังถูกท้าทายด้านจริยธรรมจากกรณี ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จากปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีคำสั่งยกเลิกการเป็นธรณีสงฆ์ของที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นความผิดตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา และส่งเรื่องไปที่อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลอาญา และให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป
ทันทีที่ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ได้เกิดกระแสให้ยงยุทธลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงสปิริต โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามความเห็นของ ป.ป.ช.ได้อย่างไร ในเมื่อเจ้านายตัวเองยังนั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ทั้งคน
ยิ่งลักษณ์ ก็ปฏิเสธปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปล่อยให้คาราคาซังต่อไป ด้าน มท1.ก็แก้ปัญหาด้วยการให้ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย มานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) แทน เพื่อพิจารณากรณีนี้และแสดงออกในทางอ้อมว่าเจ้ากระทรวงโชว์สปิริตแล้วในระดับหนึ่ง
กระทั่ง อ.ก.พ.มีมติปลดยงยุทธออกจากราชการ แต่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 เนื่องจากเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนปี 2550 จึงถือว่ายงยุทธไม่เคยถูกลงโทษหรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัย
ปรากฏว่ามติของ อ.ก.พ.ที่ออกมา ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อกฎหมายเป็นอย่างมากว่าจงใจช่วยเหลือหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่
ข้อวิจารณ์ที่สำคัญ คือ ยงยุทธน่าจะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแล้ว ทันทีที่ อ.ก.พ.มีมติให้ปลดจากราชการ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 174 (4) และ 102 (6) ว่าคุณสมบัติรัฐมนตรีจะต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการด้วยเหตุจากการทุจริตต่อหน้าที่

นอกจากนี้ บุคคลที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทินตามมาตรา 5 กำหนดให้ต้องได้รับโทษส่วนหนึ่งก่อน ซึ่งในที่นี้หมายถึงต้องออกจากตำแหน่ง ถึงจะได้รับการชำระมลทินตามกฎหมาย โดยเป็นแนวความเห็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุเอาไว้ตั้งแต่ปี 2552
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า ไม่มีการออกจากตำแหน่งเพื่อล้างมลทิน เพราะเชื่อในหลักกฎหมายของตัวเองว่าได้ออกจากราชการนับตั้งแต่เกษียณราชการในปี 2545 จึงไม่มีเหตุต้องได้รับโทษก่อนเข้ารับการล้างมลทินตามกฎหมาย ขณะเดียวกันได้เลือกจะทำหน้าที่ต่อไป
โดยเฉพาะเป็นประธานการประชุม ครม.แทนนายกฯ ในวันที่ 25 ก.ย. แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เพื่อพิจารณาโผโยกย้ายบุคคลมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
ปัญหานี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้ายงยุทธยอมลาออกก่อน อย่างน้อยจะช่วยให้ไร้ข้อกังขาในการกลับเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ได้ และถึงอย่างไรเสียนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ย่อมจะอ้าแขนรับให้กลับเข้ามานั่งในเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง
แต่เมื่อเลือกจะกอดความชอบธรรมของตัวเองมากกว่าจริยธรรมทางการเมืองต่อไป ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบในอนาคตหากเกิดปัญหาตามมาภายหลังไม่ได้
แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องนำกรณีนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำการวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 182 ประกอบมาตรา 91
หากผลการวินิจฉัยออกมาเป็นคุณก็เป็นผลดีไป แต่ถ้าศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง นั่นหมายความว่านอกจากยงยุทธจะหลุดเก้าอี้แล้ว ยังจะนำมาซึ่งความลำบากให้กับนายกฯ ด้วย
ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับคำถามทางจริยธรรมการเมืองและภาวะผู้นำอย่างมากมาย ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศ หัวหน้ารัฐบาล
โดยอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์ถูกท้าทายทางจริยธรรมมาแล้วจากเรื่อง “โกหกสีขาว” และการแต่งตั้ง “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์”
ในกรณีโกหกสีขาวของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แม้จะยังไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญไหนออกมาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ก็ส่งผลให้เสียรังวัดพอสมควร กลายเป็นช่องว่างให้ฝ่ายค้านเอาไปเป็นประเด็นโจมตีและผลิตซ้ำวาทกรรม “รัฐบาลโกหกประชาชน” จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว
เช่นเดียวกับการแต่งตั้งณัฐวุฒิเป็นรัฐมนตรี ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีความเหมาะสม โดยในความเห็นของผู้ตรวจฯ ยังได้ระบุความผิดพลาดของนายกฯ ในฐานะผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ ว่า “นายกฯ ยังมิได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิ มาประกอบการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด”
โดยทั้งสองกรณียังคงเป็นข้อหาฉกรรจ์ที่ปัจจุบันยังรักษาไม่หาย แต่แทนที่จะกลบจุดอ่อนสร้างจุดแข็ง กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลกำลังจะสร้างรอยแผลทางจริยธรรมให้ตัวเองเพิ่มเข้าไปอีกผ่านการอุ้มให้ยงยุทธนั่งเก้าอี้ต่อไป
การต้องเผชิญกับปัญหาเชิงจริยธรรมการเมืองเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตแน่นอน
ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจะลดน้อยลงเรื่อยๆ แม้จะไม่เห็นผลลัพธ์ในวันสองวันนี้ แต่ระยะยาวใครจะรู้ ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้วไม่ใกล้ไม่ไกลในปีช่วงสมัยที่ 2 ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ยิ่งลักษณ์ต้องแสดงพลังแฝงในตัวเองออกมาให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ยึดระบบมากกว่าตัวบุคคล เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล ถ้าตราบใดยังเชื่อในหลักการว่า “ความรับผิดชอบทางจริยธรรมสำคัญกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น