วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

พท.เขย่ายงยุทธ ทีมกฎหมายชี้‘ไม่รอดแน่’สะพัดตุลาคมเปลี่ยนมท.1 เมื่อ 27 September 2555




“ยงยุทธ” แก้เกี้ยวยื่น “กกต.” ตรวจสอบคุณสมบัติตัวเอง แต่ยังกอดเก้าอี้แน่น อ้างทำตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว จวกอย่าสร้างกระแสให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จวกมุ่งเล่นการเมือง-เอาเป็นเอาตาย ขณะที่ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยชี้เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่รอดแน่ แนะเลี่ยงเซ็นคำสั่งสำคัญ ผวากระทบรัฐบาล  สะพัดเริ่มถกปรับ ครม.แล้ว คาดตุลาคมปรับใหญ่ 10 ตำแหน่ง แฉ “อัชพร” ให้ความเห็นส่วนตัวกรณีเข้าข่ายล้างมลทิน แต่ไม่ใช่จากที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุหากผิดพลาดต้องรับผิดชอบเอง "ปชป." งัวเงียยื่นตีความ
    เมื่อวันพุธ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้มอบหมายให้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของนายยงยุทธ โดยได้นำเอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้างมลทิน เพื่อให้ กกต.ประกอบการพิจารณาด้วย
    นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกา, ก.พ. และ อ.ก.พ. จะมีความเห็นทางกฎหมายว่านายยงยุทธเข้าเกณฑ์การได้รับการล้างโทษตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ทำให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่ยังมีฝ่ายค้านและประชาชนบางส่วนสงสัย ดังนั้นนายยงยุทธจึงได้แสดงสปิริตโดยยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติด้วยตัวเอง เพื่อจะทำให้ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายค้าน และบุคคลที่ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนี้จะได้หยุดเคลื่อนไหวเพื่อรอการพิจารณาจาก กกต.
    “ท่านยงยุทธเป็นผู้มายื่นเอง เป็นการแสดงสปิริตและความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาจะยึดติดในตำแหน่งในทางการเมืองหรือตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือว่าตำแหน่ง ส.ส.”
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรยุติบทบาทเพื่อรอผลการวินิจฉัยของ กกต.ก่อนหรือไม่ เพราะหากปฏิบัติหน้าที่ต่ออาจจะมีปัญหาตามมา นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ไม่ เพราะตอนนี้นายยงยุทธก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลต้องฟังกฤษฎีกา ที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย รวมถึง ก.พ.ที่เป็นหลักของประเทศ หากเราไม่ฟังมันก็มีปัญหา
     “ถ้าฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้ถามสดเราก็ยินดีจะตอบ รวมถึงฝ่ายค้านจะใช้ 1 ใน 10 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นสิทธิ แต่เมื่อยื่นต่อ กกต.แล้วน่าจะจบได้แล้ว แล้วให้รอ กกต.ดีกว่า การที่นายยงยุทธออกมายื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัติตนเอง เป็นเรื่องที่สง่างามที่สุดแล้ว เพราะสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยยื่นเพื่อตรวจสอบตัวเอง เช่น การสลายการชุมนุมทำให้มีคนตาย 98 ศพ แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านกำลังเล่นเกมการเมือง ฝ่ายค้านควรจะเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์” นายพร้อมพงศ์กล่าว
    เมื่อถามว่า การที่นายยงยุทธไม่เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะว่ากลัวจะมีปัญหา นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า คงไม่กลัวมีปัญหา และพรรคเพื่อไทยก็ไม่กลัว เพราะเรามองว่ากฤษฎีกาให้ความเห็นมาแล้ว ก็ต้องฟัง แต่ติดภารกิจน้ำท่วม  
จวกแดงสุรินทร์รับจ๊อบ
    ส่วนที่นายเทพพนม นามลี ประธานคณะกรรมการ นปช.แดงสุรินทร์ มายื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบนายยงยุทธนั้น ตนรู้ดีว่านายเทพพนมเป็นคนของใคร ซึ่งผมตรวจสอบแล้วจากมวลชนคนเสื้อแดงสุรินทร์แล้วไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของนายเทพพนมคนเดียว ซึ่งเป็นข้ออ้างเฉยๆ ว่ากลัวที่จะถูกยุบพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่กลัว และเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของพรรค
    “วันนี้ยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ กกต.ก็กำลังจะตรวจสอบคุณสมบัติตำแน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี ซึ่งไม่ว่า กกต.จะชี้ว่าอย่างไรก็จบ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะยอมรับ”
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารเหตุผลประกอบการพิจารณารับอุทธรณ์ ซึ่งคัดจากที่ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ของ ป.ป.ช. และรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ทั้ง 2 ฉบับ รวม 250 หน้า จำนวน 40 เล่ม มาแจกจ่ายผู้สื่อข่าว
    นายยงยุทธกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจในเรื่องของอำนาจหน้าที่ และที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผย เอกสารที่นำมาแจกจ่าย เพื่อที่จะได้เป็นกรณีศึกษาจริงๆ เพราะเวลานี้ประชาชนสับสน
    “ผมอยากให้รอศาล ไม่ใช่มาด่ากันอย่างนี้ มุ่งแต่เล่นการเมือง เล่นเอาเป็นตายกันเลย โดยไม่รอให้ศาลตัดสิน และเรื่องนี้ก็ได้ส่งให้ กกต.เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ คนไม่มีหน้าที่อะไรมาขอให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มันไม่ใช่ประเด็น กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น เรายึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่มาสร้างกระแสให้หยุดทำงาน การจะอยู่ไม่อยู่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการพิทักษ์รักษาระบบกฎหมายเอาไว้ ทั้งในของหลักนิติรัฐและนิติธรรม” นายยงยุทธกล่าว และว่า จะทำงานต่อไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และจะไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อีกต่อไป ขอให้เรื่องจบ ไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อต่อไป
    แหล่งข่าวจากทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุว่า ทีมกฎหมายของพรรคมีความเป็นห่วงกรณีของนายยงยุทธ ซึ่งได้มีการวิเคราะห์กันว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน และมั่นใจว่านายยงยุทธคงไม่รอดจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
     “เรื่องนี้พรรครู้ดีว่านายยงยุทธไม่รอดแน่นอน จึงแนะนำให้พยายามหลบเลี่ยงสิ่งที่จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย โดยเฉพาะการลงนามคำสั่งต่างๆ เพราะจะมีผลย้อนหลัง และจะทำให้เป็นปัญหาต่อเนื่องมาถึงคำสั่งนั้นๆ ของนายยงยุทธได้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่านายยงยุทธจะหลบเลี่ยงได้นานแค่ไหน” แหล่งข่าวกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ใหญ่ในพรรคเริ่มพิจารณาการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเป็นการปรับใหญ่ประมาณ 10 ตำแหน่ง ซึ่งนายยงยุทธเป็นหนึ่งในนั้นด้วยแน่นอน
“ยงยุทธ” รับงานเบา
    สำหรับหมายวาระงานทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 27 กันยายน ของนายยงยุทธ คือช่วงเช้าเป็นประธานพิธีลงเสาเข็มมงคล อาคารเรียนมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตกรุงเทพฯ ขณะที่ในช่วงบ่าย จะหารือกับตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  ซึ่งขอเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดง จ.สุรินทร์ ยื่นหนังสือขับไล่นายยงยุทธออกจากตำแหน่งว่า สมาชิกมีความเห็น ทางพรรคเพื่อไทยก็รับฟัง แต่ถ้ามีความเห็นในลักษณะกดดันก็ไม่เหมาะสม เพราะเวลาตกระกำลำบากนายยงยุทธก็ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและดูแลพรรคเป็นอย่างดี กรณีที่เกิดขึ้น กฤษฎีกาก็บอกว่าไม่ผิด ถือว่าได้รับโทษตั้งแต่ปี 45
    ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า ตนไม่เคยเกี่ยวข้องกับเสื้อแดง แต่มาทำแบบนี้ไม่เห็นด้วย หากมีอะไรควรมาปรึกษาหารือในพรรค นายยงยุทธเป็นผู้ใหญ่ของพรรค ไม่อยากให้มีใครมาเคลื่อนไหวในลักษณะมีเจตนาแอบแฝง เพราะถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ก็มาจับเข่าคุยกันในพรรค แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาขนาดนั้น ซึ่งหากเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วทำอย่างนี้ทำได้ เพราะเขาเป็นฝ่ายค้าน แต่เราอยู่พรรคเดียวกัน มาเคลื่อนไหวทำไม ตนคิดว่าทำอย่างนี้ไม่สำเร็จหรอก
    “การจะปรับเปลี่ยน ครม.เป็นอำนาจของนายกฯ ท่านจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ไม่ใช่สมาชิกคนหนึ่งคนใดมาเสนอปลดคนนั้นคนนี้ อย่างนี้จะเรียกว่าเจตนาบริสุทธิ์ได้อย่างไร ทำไมแดงทั้งประเทศยังเฉยๆ อยู่ เรื่องนี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมแดงสุรินทร์ต้องออกมาเรียกร้อง ไปรับงานใครมาหรือเปล่า ผมไม่อยากจะพูด หากมีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องมาคุยในพรรค มาออกข่าวครึกโครมทำไม เสื้อแดงมีเป็นล้าน ทำไมแดงที่อื่นเขานิ่ง ถ้ามีความคิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็ปลดคนนั้นคนนี้หมด ครม.หรอก” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่มี เพราะนายกฯ เข้มแข็ง อีกทั้งการปรับ ครม.ก็เป็นอำนาจนายกฯ  ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ปรับ ส่วนที่ถามว่าระหว่างนี้นายยงยุทธควรจะยุติบทบาทก่อนเพื่อป้องกันปัญหาหรือไม่นั้น ไม่มีการยุติบทบาท แต่นายยงยุทธจะต้องทำงานหนักขึ้น เป็นหัวหน้าพรรคเหน็ดเหนื่อยตอนหาเสียง ตอนนี้ทุกฝ่ายควรรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ทำไมรอกันไม่ได้หรืออย่างไร เพราะกฤษฎีกาก็บอกแล้วว่าไม่ผิด กฤษฎีกาเป็นฝ่ายกฎหมายของประเทศ ไม่เชื่อกฤษฎีกาแล้วจะเชื่อใคร
    เมื่อถามว่า การทำงานของนายยงยุทธจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น เรื่องการเซ็นเอกสารหรือเป็นประธานการประชุม ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไปสอนนายยงยุทธไม่ได้ เพราะนายยงยุทธเป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรคหรือคนในพรรคต้องให้เกียรติ ไม่ใช่ทำอะไรตามใจชอบ ระบบมันเสีย ไม่ดีหรอก อย่างไรก็ตาม ไปบอกเสื้อแดง จ.สุรินทร์อยู่เฉยๆ ยิ่งเดินหน้ายิ่งเสียหาย ใครๆ ก็อ่านออกว่าไม่บริสุทธิ์ การที่พรรคเพื่อไทยชนะไม่ใช่เพราะคนหนึ่งคนใด แต่ชนะเพราะระบบพรรค ประชาชนส่วนใหญ่มีความศรัทธา อย่าหลงตัวเอง
วิปรัฐบาลช่วยกระเตง
    ที่รัฐสภา นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า เรื่องนี้ อ.ก.พ.ก็ระบุชัดเจนแล้วว่า คำสั่งการลงโทษทางวินัยแก่นายยงยุทธ เข้าข่ายหลักเกณฑ์ได้รับอานิสงส์การล้างมลทิน ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ให้ความเห็นตรงกันว่าได้รับอานิสงส์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน โดยกรณีนายยงยุทธ สามารถเทียบเคียงได้กับการลงโทษข้าราชการตำรวจนายหนึ่ง ที่ถูกคำสั่งให้ลงโทษไล่ออกจากเมื่อปี 2535 จากความผิดเมื่อปี 2525 ทำให้นายตำรวจผู้นั้นจึงได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2530
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านจะใช้สิทธิเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายอุดมเดชกล่าวว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ประเด็นที่กังวลคือองค์กรอิสระ เมื่อสังคมกังวลการทำหน้าที่องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ป.ป.ช. ที่กังวลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงที่มาขององค์กรอิสระ ถ้ามีการยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีความกังวลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เนื่องจากบรรทัดฐานในอดีตที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและ ก.พ.ที่เคยมีความเห็น ทำให้มีความกังวลว่าการวินิจฉัยขององค์กรอิสระอาจมีการพลิกแพลง ทำให้เป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว
    ด้านนายนิพนธ์ ฮะกิมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะกรรมการวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยืนยันว่า กรณีนายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 และคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีคำวินิจฉัยใหม่ในกรณีนายยงยุทธ แต่นำคำวินิจฉัยเดิมของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเทียบเคียง โดยนำมาตรา 5 พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2530 ที่กำหนดให้ล้างมลทินแก่ผู้ถูกลงโทษซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธ.ค.2530 และได้รับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนไปแล้วก่อนวันที่ 5 ธ.ค.2530 มาเทียบเคียง ดังเช่นกรณีของนายตำรวจคนหนึ่งที่ทำผิดวินัยร้ายแรงปี 2525 ต่อมาปี 2533 กรมตำรวจมีคำสั่งไล่ออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2525 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้นมีความเห็นว่า ตำรวจผู้นั้นได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน โดยให้ถือว่า ตำรวจคนดังกล่าวได้รับโทษให้ไล่ออกจากราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2525 จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการล้างมลทิน ซึ่งมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2530 เขียนเหมือนกับมาตรา 5 พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 จึงเทียบเคียงได้กับกรณีนายยงยุทธได้
    รายงานข่าวจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 แจ้งถึงกรณีที่นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำความเห็นเรื่องการตีความว่ากรณีนายยงยุทธเข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22  กันยายนที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีการหารือกันในการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 คาดว่าเรื่องที่ส่งมา น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งกรณีที่เร่งด่วน นายอัชพรอาจจะนำความเห็นที่เคยได้มีการตีความมาแล้วมาเทียบเคียงก็ได้
    “แต่ก็จะถือว่าเป็นการให้ความเห็นในนามส่วนตัว เพราะปกติหาก ครม.ขอความเห็นมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม และจะต้องใช้เวลาตีความประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะทำความเห็นส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีนั้น หากความเห็นที่ส่งไปเป็นความส่วนตัวและเกิดมีความผิดพลาดภายหลัง ก็ถือว่านายอัชพรจะต้องรับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่อย่างใด” แหล่งข่าวระบุ
ปชป.กระทู้สดก่อนยื่นตีความ
    ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ว่านายยงยุทธจะทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วม หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรองนายกฯ รมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก็ตาม ตนเห็นว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติแล้ว จึงไม่มีความชอบธรรม ที่จะปฏิบัติหน้าที่ใดทั้งสิ้น และนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ นายยงยุทธเองก็ควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด
    “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็มีความรับผิดชอบที่จะต้องดูแล ครม. เมื่อใน ครม.มีบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง และก็ถ้าเจ้าตัวเขาไม่ทำอะไร คนเดียวที่จะมีอำนาจในการที่จะขยับทำตรงนี้ก็คือนายกฯ ความรับผิดชอบก็อยู่ที่นายกฯ อยู่แล้ว และการดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการในพรรค ในฐานะที่นายยงยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เป็นการดำเนินการเรื่องตำแหน่งในรัฐบาลของนายยงยุทธ”
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเงาว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้ดำเนินการกรณีนายยงยุทธ โดยรวบรวมรายชื่อ ส.ส. 50 คนยื่นเรื่องให้ประธานสภาฯ เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น ส.ส., รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้คณะทำงานด้านกฎหมายกำลังรวบรวมข้อมูล
    อีกทั้งที่ประชุมยังมีการหารือเรื่องการยื่นกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวด้วย ในวันที่ 4 ตุลาคม ก่อนที่จะมีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ยื่นต่อประธานสภาฯ ต่อไป จึงขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จัดเวลาในการมาตอบกระทู้สดในเรื่องดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจะยื่นกระทู้ถามสดในกรณีดังกล่าวต่อกระทรวงมหาดไทยด้วย เพราะมีประเด็นที่ต้องสอบถามผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) ยื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีของนายยงยุทธ ซึ่งอาจมีผลต่อการรับรองการส่งผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในฐานะหัวหน้าพรรคด้วยหรือไม่ หาก กกต.วินิฉัยว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติดังกล่าว รวมทั้งยื่นให้ กกต.ตรวจสอบกรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดีนั้น เข้าข่ายได้ พ.ร.บ.ล้างมลทินด้วยหรือไม่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น