วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

เอกชนเซ็งซ้อมรับน้ำท่วมไฟดับ-เครื่องสูบไม่พร้อม 26 กันยายน 2555 เวลา 17:04 น.



นิคมฯสหรัตนนครซ้อมแผนฉุกเฉินรับมือน้ำท่วม "เอกชน"โวยสาธารณูปโภคภายในยังไม่พร้อมหลังไฟฟ้าดับ-เครื่องสูบน้ำใช้งานไม่ได้
นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ ที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า กนอ.และนิคมฯ สหรัตนนครได้ร่วมกันซ้อมแผนฯ โดยตั้งระดับการเฝ้าระวังน้ำไว้ที่ 3 ระดับ และมีผู้เข้าร่วมการซ้อมแผนกว่า 500 คน มีทั้งหน่วยแพทย์ และหน่วยดับเพลิง รวมถึงสาธารณะภัยจังหวัดเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ระดับการเฝ้าระวัง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 สีฟ้า ระดับน้ำต่ำกว่าถนนมากกว่า 1 เมตร หรืออยู่ในภาวะปกติ ระดับที่ 2 สีเหลือง ระดับน้ำต่ำกว่าถนนระหว่าง 0.5-1 เมตร ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และระดับที่ 3 สีส้ม ระดับที่ต่ำกว่าถนนไม่เกิน 0.5 เมตร  ถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงน้ำท่วม ต้องดำเนินการขั้นสุดท้าย หยุดผลิต และอพยพออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม จากการซ้อมแผนยังมีข้อบกพร่องอยู่ในบางจุดโดยต้องมีการปรับปรุง เช่น การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง และระบบการสื่อสารฉุกเฉิน หากเกิดน้ำท่วมเพราะจะถูกตัดไฟฟ้า โดยเฉพาะในจุดที่เป็นห้องบัญชาการต้องเตรียมระบบสำรองไว้รับมือ
สำหรับการดำเนินการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวของนิคมฯ ทำไปแล้ว 35% คาดจะแล้วเสร็จ 15 ต.ค. 2555 โดยมีแผนสำรองนำกระสอบทรายขนาดใหญ่ (บิ๊กแบ๊ก) มาเตรียมพร้อมวางบนคันดิน ซึ่งจะใช้งบประมาณการในสร้างแนวป้องกันน้ำชั่วคราวทั้งหมด 38 ล้านบาท คันดินมีความสูง 6.5 เมตร ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงหากเทียบกับปีก่อน
นายปราโมทย์ พัฒนมงคล ผู้จัดการทั่วไปบริษัทคาโทเล็ก ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมฯ สหรัตนนคร กล่าวว่า การซ้อมแผนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการได้ แต่ไม่เชื่อมั่น 100% เนื่องจากแผนยังต้องมีความรัดกุมมากกว่านี้ และระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมฯ ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนด้วย เพราะเขื่อนชั่วคราวก็ยังไม่เสร็จ และระบบน้ำ ไฟฟ้า ก็ยังไม่มีความพร้อม
“ไฟฟ้าภายในนิคมฯยังไม่เพียงพอ มีปัญหาไฟดับอยู่ เครื่องสูบน้ำไฟฟ้ามี 3 ตัว ก็ใช้ได้ 1 ตัว เพราะไฟฟ้าไม่พอ ส่วนถนนก็ต้องทำให้พร้อมหากเกิดน้ำท่วมจะได้อพยพทัน” นายปราโมทย์กล่าว
ขณะที่การสื่อสารระหว่างกนอ.และผู้ประกอบการมีการปรับปรุงดีขึ้น ผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีการเผยแพร่ระดับน้ำของเขื่อนป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี อยู่อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเตรียมพร้อมอีกระดับหนึ่ง บริษัทได้เตรียมกระสอบทราย และเตรียมแผนเคลื่อนย้ายทั้งภายในโรงงานและออกไปนอกสถานที่ ซึ่งแผนดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 10 วัน หากข้อมูลน้ำจากภาครัฐชัดเจนมั่นใจว่าจะรับมือได้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น