คนกรุงต้องเข้าใจ...จุดไหนเสี่ยงน้ำท่วมขัง
วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2555 เวลา 08:55 น.
จากการที่ทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร หรือรัฐบาล พากันออกมาการันตีว่าจะไม่มีน้ำจากเหนือไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เหมือนอย่างปี 2554 ที่ผ่านมา ทำเอาคนกรุงส่วนใหญ่ออกอาการเบาใจ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าจะสบายใจ เพราะนอกจากการบริหารจัดการแล้ว ปัจจัยทางธรรมชาติก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ดังนั้นปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดในกรุงเทพฯ น่าจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่เทลงมา จนระบบระบายน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถระบายได้ทันสำหรับจุดที่ยังถือว่าเป็นจุดอ่อนน้ำท่วมหลัก ๆ เมื่อฝนเทลงมาแล้วต้องท่วมขังนาน มีอยู่เกือบ 40 จุด คือ
เขตดุสิต ได้แก่ 1. ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านฝั่งอัมพร 2. ถนนราชวิถี ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 3. ถนนสามเสน ช่วงหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ 4. ถนนนครไชยศรี ช่วงหน้ากรมสรรพสามิต เขตราชเทวี ได้แก่ 5. ถนนนิคมมักกะสัน ช่วงทางรถไฟ ถึง ถนนวิทยุ 6. ถนนเพชรบุรี ช่วงถนนชิดลมถึงถนนวิทยุ 7. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 8. ถนนพระรามที่ 6 ช่วงหน้าตลาดประแจจีน 9. ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จากแยกมิตรสัมพันธ์ถึงแยกอโศก 10. ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน.พญาไท เขตพญาไท ได้แก่ 11. ถนนประดิพัทธ์ ช่วงจากแยกสะพานควาย ถึง คลองประปา เขตจตุจักร ได้แก่ 12. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ 13. ถนนพหลโยธินแยกเกษตร ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์ 14. ถนนงามวงศ์วานแยกเกษตร ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์ เขตบางซื่อ ได้แก่ 15. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน (ผลกระทบจากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง) เขตหลักสี่ ได้แก่ 16. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา ถึงซอยแจ้งวัฒนะ 14 และ 17. ถนนงามวงศ์วาน ช่วงหน้าตลาดพงษ์เพชร เขตสายไหม ได้แก่ 18. ถนนพหลโยธิน ช่วงจากปากซอยพหลโยธิน 58 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ได้แก่ 19. ถนนสนามไชยจากซอยเศรษฐการ ถึง ถนนท้ายวัง (อยู่ในระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน) เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ 20. ถนนเจริญกรุง (แยกหมอมี) จากถนนแปลงนาม ถึง แยกหมอมี 21. ถนนสุรวงศ์จากใต้ทางด่วน ถึงแยกสุรวงศ์ เขตสาทร ได้แก่ 22. ถนนจันทน์จากซอยบำเพ็ญกุศล ถึง ไปรษณีย์ยานนาวา 23. ถนนสวนพลูจากสาทรใต้ ถึง ถนนนางลิ้นจี่ เขตยานนาวา ได้แก่ 24. ถนนสาธุประดิษฐ์จากถนนจันทน์ ถึง ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย ได้แก่ 25. ถนนพระรามที่ 3 จากห้าแยก ณ ระนอง ถึงถนนเชื้อเพลิง 26. ถนนพระรามที่ 4 จากถนนกล้วยน้ำไท ถึงถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา ได้แก่ 27. ถนนสุขุมวิท 71 จากถนนสุขุมวิท ถึงคลองบางมะเขือ 28. ถนนสุขุมวิท 26 จากถนนสุขุมวิท ถึง ถนนพระรามที่ 4 เขตบางบอน ได้แก่ 30. ถนนบางบอน 1 จากถนนเอกชัย ถึง คลองบางโคลัด 31. ถนนเอกชัย จากหน้าห้างบิ๊กซีถึงถนนกาญจนาภิเษก เขตบางบอน, เขตบางขุนเทียน ได้แก่ 32. ถนนบางขุนเทียน จากถนนเอกชัย ถึงพระราม 2 เขตทุ่งครุ ได้แก่ 33. ถนนประชาอุทิศ จากคลองรางจาก ถึงหน้าสำนักงานทุ่งครุ เขตบางแค ได้แก่ 34. ถนนเพชรเกษม จากแยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึง ปากซอยเพชรเกษม 63 เขตตลิ่งชัน ได้แก่ 35. ถนนฉิมพลี จากถนนบรมราชชนนี ถึง ถนนราชชนนี
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ต่าง ๆ สำรวจพบ และเป็นปัญหาจราจรสำคัญ ๆ อีกหลายจุด ได้แก่ ถนนดินแดง หน้าโรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าห้างโรบินสัน และบริเวณแยกรัชดาตัดลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่ด่านเก็บเงินดินแดง ถึงสโมสรทหารบก
สำหรับสาเหตุที่ทำให้จุดดังกล่าว ถือเป็นจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวว่า การที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ ๆ คือ ปริมาณฝน หากฝนตกลงมามากก็จะมีปริมาณน้ำในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯแล้วปริมาณที่รับได้ คือตกลงมาแล้วไหลลงระบบระบายน้ำทันทีอยู่ที่ 60 มิลลิเมตร แต่ถ้าปริมาณฝนมากกว่านั้นการระบายก็จะทำได้ช้าลง
และอีกปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เช่นเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแอ่งกระทะในจุดต่าง ๆ เช่น พื้นที่จรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรบุรี ศรีอยุธยา รามคำแหง ดินแดง จึงทำให้เมื่อมีปริมาณฝนตกลงมาปริมาณน้ำในพื้นที่รวมถึงปริมาณน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงไหลลงมารวมอยู่ในจุดดังกล่าวตามหลักการไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้นการระบายน้ำออกจากพื้นที่จึงทำได้ช้า
วิธีที่จะแก้ปัญหาในส่วนของกายภาพที่เป็นพื้นที่ต่ำหรือพื้นที่ที่มีสภาพดินทรุดทำให้ความลาดเอียงในการระบายน้ำเปลี่ยนไป น้ำไม่สามารถไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้เหมือนเดิมจากสภาพพื้นที่ วิธีที่ดีที่สุดคือ การผลักดันน้ำออกทันทีด้วยเครื่องสูบน้ำ ส่วนวิธีที่จะแก้ปัญหาการเร่งระบายน้ำได้ทั้งระบบ จะต้องเพิ่มขนาดท่อรับน้ำเพื่อระบายออกจากพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันระบบท่อของ กทม.มีการออกแบบให้สามารถรับน้ำได้ ที่ 60 มิลลิเมตร เท่านั้น ซึ่งการขยายระบบท่อให้รองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้นตามปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นทำได้ยากเพราะต้องรื้อระบบท่อใหม่ทั้งเมือง ส่งผลถึงพื้นผิวจราจรและกระทบกับการจราจรทั้งเมือง ซึ่งหากจะให้รื้อท่อทั้งระบบทั่วเมืองต้องใช้งบหลายหมื่นล้านบาท ส่วนในซอยย่อยก็ไม่สามารถทำได้เพราะพื้นที่แคบมาก จึงถือว่าเป็นไปได้ยากมาก แต่ในส่วนของถนนเส้นใหม่ที่จะก่อสร้างนั้นกทม.ได้วางท่อระบายน้ำให้กว้างและรองรับน้ำมากกว่าเดิมได้ โดยให้สามารถรองรับน้ำได้ 80-100 มิลลิเมตร
ใครที่อยู่ในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม คงต้องทำใจและปรับตัวรับกับสภาพ น้ำท่วมขังรอการระบาย สำหรับผู้คนทั่วไปคงต้องศึกษาเส้นทาง ฝนฟ้ากระหน่ำไม่จำเป็นก็อย่าผ่านเส้นทางดังกล่าว ....อย่างว่าคงจะเลี่ยงยากเพราะจุดอ่อนมีเกือบทั่วเมืองจริง ๆ.
บานเย็น แม่นปืน รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น