การใช้เวลาอยู่กับโทรทัศน์มากหรือยาวนานจนเกินไป ส่งผลเสียต่อบรรดาเด็กๆ ที่เป็นอยู่ระหว่างวัยของการเจริญเติบโตอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้มีผลวิจัยเกี่ยวกับผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับสมาธิของเด็กที่เป็นผลมาจากการดูโทรทัศน์มากเกินไป ล่าสุดผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ ของสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กที่ใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์มากเกินไป เมื่อเติบโตไปอาจมีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมหรือมีบุคคลิกภาพที่ก้าวร้าวได้ นักวิจัยที่ร่วมในงานวิจัยดังกล่าวสำรวจพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 70 ตั้งแต่ช่วงอายุ 5 ปี จนถึง 15 ปี จำนวน 1,000 คน และติดตามผลอีกครั้งเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีอายุ 26 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ในวัยเด็ก และพฤติกรรมต่อต้านสังคมในวัยผู้ใหญ่
โดยนายบ็อบ แฮนคอกซ์ ผู้ร่วมทีมวิจัยดังกล่าวระบุว่า ช่วงเวลาที่เด็กคนหนึ่งใช้ในการดูโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงต่อสัปดาห์จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่เด็กคนดังกล่าวที่เติบโตขึ้นในวัยผู้ใหญ่ช่วงแรกจะก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผลการวิจัยดังกล่าวยังพบความสัมพันธ์กันระหว่างระยะเวลาการดูทีวีในวัยเด็กที่มากเกินไปกับการมีบุคลิกภาพก้าวร้าว รวมถึงภาวะอารมณ์ในแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่ และแม้ว่าจะนำตัวแปรอื่นๆ เช่นสถานะทางสังคมการเลี้ยงดูหรือความฉลาดมาพิจารณา ก็ยังคงมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งแฮงคอกซ์ระบุว่า แม้ว่าจะไม่สามารถสรุปได้ว่าการดูโทรทัศน์มากเกินไปส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคมทั้งหมด แต่งานวิจัยชี้ว่าการลดปริมาณการดูโทรทัศน์ลงสามารถลดพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้ในอนาคต ผลการวัจัยดังกล่าวยังเป็นไปในทางเดียวกันกับ สำนักกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาที่แนะนำว่าเด็กไม่ควรดูรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพมากกว่า 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การที่เด็กอยู่หน้าโทรทัศน์มากเกินไปจะทำให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมต่อต้านสังคม ไม่เฉพาะจากเนื้อหาของรายการโทรทัศน์เท่านั้น แต่การที่เด็กถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะตกงานได้มากขึ้น
นายแฮนคอกซ์ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวศึกษาเด็กในช่วงที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้การวิจัยต่อเนื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อ ก็คือการศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคต |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น