วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

"เสรี ศุภราทิตย์" เจาะลึกสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 ลุ้น 2 จุดเสี่ยงใกล้กทม. เมื่อไหร่จะเตรียมตัวอพยพ! เมื่อ 20 ก.ย.55



แม้เวลานี้ปริมาณน้ำเหนือยังอยู่ไกลกรุงเทพฯ แต่ด้วยสภาพฟ้า ฝน ปัจจุบันคงเดาได้ยากว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ เพราะแค่ลำพังฝนตก ก็แทบแย่

ขณะที่พายุนับสิบลูกจะเข้าประเทศไทยหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครตอบได้เช่นกัน ฉะนั้น การเล่นกับน้ำ คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแลภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาณ์ว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ถือว่าไม่น่ากังวล แม้จะมีฝนตกในเขตกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นไปตามร่องมรสุมปกติ ขณะเดียวกันฝนเหล่านี้เป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน จึงทำให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายจังหวัด เมื่อระดับน้ำในลำน้ำลดลง ปริมาณน้ำในทุ่งก็จะไหลไปตามแม่น้ำปกติ

ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่สามารถรับน้ำได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น จึงไม่สร้างความเสียหายให้กับเขตเศรษฐกิจ หรือจะไม่ไหลเข้าท่วมเมืองเหมือนปีที่ผ่านมา

ส่วนกรณีที่น้ำท่วมพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น ดร.เสรี บอกว่า บางแห่งคันกั้นน้ำรับได้ไม่ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร หรือรับน้ำได้ในปริมาณที่จำกัด

ทั้งนี้ ยังมีจุดเสี่ยงอยู่ที่เขตปริมณฑล แม้ปริมาณน้ำเหนือจะน้อย แต่มีการคาดการณ์กันว่า ในวันที่ 24 ก.ย. นี้ ฝนจะตกหนัก ซึ่งฝนที่ตกหนักสามารถทำให้น้ำท่วมได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการระบายน้ำ

ส่วนการระบายน้ำในพื้นที่รอบกทม. ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปริมาณน้ำยังน้อย แต่แผนระยะยาวรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการสร้างฟลัดเวย์ หรือตามกรอบแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำตอนบนมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล โดยเฉพาะการระบายน้ำจากภาคกลางฝั่งละ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร

จุดเสี่ยงต่อมาอีก 2 จุดคือ ที่อ.บางเลน จ.พระนครศรีอยธยา หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เพราะน้ำจะถูกผันไปยังบริเวณนี้ และที่บริเวณคลอง 13 (หนองจอก-ลาดกระบัง)

ขณะเดียวกัน ดร.เสรี ย้ำว่า จากปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าปีนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะไม่มีปัจจัยเหมือนปีที่แล้ว การที่ปริมาณน้ำจะมากเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลเองก็ไม่ยอมให้น้ำท่วมเช่นกัน เพราะมีการป้องกันน้ำอย่างเต็มที่ ทั้งการสร้างคันกั้นน้ำจากงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมกับมีการขุดลอกคูคลองไว้แล้ว

"ต้องเข้าใจว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้ อยู่ในระดับ 50% เท่านั้น และสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำไหลเข้าวันละประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่เพิ่มเติม" ดร.เสรี กล่าว

มากกว่านั้น ดร.เสรี อยากให้เฝ้าระวังน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดไม่ใหญ่มาก หรือสามารถรับน้ำได้ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อขณะนี้มีน้ำอยู่ราว 500 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องอีก 10 วัน หรือหากตกในปริมาณ 100 มิลลิเมตร ต่อเนื่องกัน 5 วัน ก็ถือว่าความเสี่ยง กล่าวคือปริมาณน้ำจะล้นความจุ ทางเขื่อนจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการปล่อยน้ำจาก 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ส่วนผลกระทบต่อกทม.น้ำจะท่วมหรือไม่นั้น ดร.เสรีกล่าว ว่าให้จับตาดูที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา หากน้ำผ่านอ.บางไทรที่อัตรา 3,000 ลุกบาศก์ต่อวินาที ก็จะเสี่ยงต่อพื้นที่กทม. หรือทำให้พื้นที่เมืองเอก จ.ปทุมธานีเตรียมอพยพ แต่ขณะนี้อยู่ในระดับ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น จึงถือว่าปลอดภัย

อย่างไรยังต้องจับตาพายุอีก 1-2 ลูกที่จะพาดผ่านประเทศไทย ว่าหลังจากนี้จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ เพราะแต่ละสำนักพยากรณ์ต่างคาดการณ์ไม่เหมือนกัน

นั่นหมายความว่า เมื่อพายุเข้าประเทศไทย แล้วทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น น้ำก็สามารถท่วมได้

หากหลังจากนี้ พายุไม่เข้า ก็ถือว่าโชคดีไป

สิ่งหนึ่งที่ ดร.เสรี ย้ำก็คือ ฟ้าฝนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น