วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปทุกภาคส่วนต้องเป็นภาคประชาชน นักการเมือง-ขรก.อย่ายุ่ง!! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 สิงหาคม 2557 06:47 น.

ปฏิรูปทุกภาคส่วนต้องเป็นภาคประชาชน นักการเมือง-ขรก.อย่ายุ่ง!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์5 สิงหาคม 2557 06:47 น.

ผ่าประเด็นร้อน
       
       แน่นอนว่านอกเหนือจากการมี รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดอนาคตของบ้านเมืองก็คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กำลังจะเริ่มคิกออฟกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า 
       
       ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน ซึ่งที่ผ่านมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดแนวทางเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ต้องคัดสรรมาจากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 11 กลุ่ม มาจากการรับสมัครและคัดเลือกทั้งจากระดับจังหวัดที่คัดเลือกกันให้เหลือตัวแทนจังหวัดละ 1 คนรวมทั่วประเทศ 76 คน ที่เหลือก็เป็นตัวแทนที่คัดเลือกจากสาขาอาชีพให้ครบ 250 คนดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนันยังเป็นตัวแทนจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
       
       แน่นอนว่านับจากนี้ไปหลังจากมีประธานและรองประธาน สนช.มีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ทุกสายตาจะต้องมองไปที่หน้าตาของสภาปฏิรูปฯ ว่าจะออกมาอย่างไร
       
        เพราะนี่จะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กระโดดลงมาเป็นหัวหน้าทีมจะนำทางปฏิรูปไปตามเป้าหมายตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการหรือไม่ คราวนี้แหละจะได้เห็นกันแบบทะลุปรุโปร่ง
       
       ที่ผ่านมาเมื่อเห็นรายชื่อของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีหลายคนส่ายหัว บางคนในตอนแรกคิดว่าหลุดวงโคจรอำนาจไปแล้วหลังการยึดอำนาจ แต่จู่ๆ ก็มีชื่อโผล่เข้ามาแบบหน้าตาเฉย แน่นอนว่าการคัดเลือกตัวบุคคลมีเรื่องของโควตาเข้ามา เพียงแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่อยากให้เรียกแบบนั้นก็ไม่เป็นไร พร้อมทั้งเบรกไม่ให้วิจารณ์อ้างเรื่องความเหมาะสม ขณะที่บางฝ่ายที่เป็นกองเชียร์ก็สนับสนุนในสถานการณ์พิเศษก็ต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้มาทำงาน สนับสนุนให้มีเอกภาพ เพื่อสะดวกในการขับเคลื่อน เมื่ออยู่ในยุคทหารมันก็ต้องมีทหารเป็นสัดส่วนมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรทำนองนี้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากตัวบุคคลที่เป็นองค์ประกอบเป็นรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯและรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญก็ต้องมาจากทหารเข้าใจได้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ตัวคนที่จะมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารควบหัวหน้า คสช.จะเป็นคนเดียวกันชาวบ้านก็สนับสนุนไฟเขียวเชียร์กันเต็มเหนี่ยว มิหนำซ้ำใครที่แหลมออกมาขัดคอยังตำหนิว่าว่าเป็นพวกไม่หวังดี ขัดขวางอนาคตของบ้านเมืองเสียอีก
       
       อย่างไรก็ดี สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องยกเว้นลักษณะดังกล่าว เพราะนี่คือความหวังและความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจริงๆ และเชื่อว่าทุกกลุ่มทุกสีเสื้อคงอยากให้บ้านเมืองมีการปฏิรูปก้าวไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง เป็นการออกแบบประเทศให้ออกมาตรงใจของชาวบ้านนั่นคือ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน มีการควบคุมและป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้น ทั้งนักการเมืองและข้าราชการทุกประเภท ไม่ว่าพลเรือน ตำรวจ และทหาร การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองต้องโปร่งใส และยุติธรรมอย่างแท้จริง ระบบราชการต้องมีการยกเครื่องใหม่ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้องเสมอภาค และทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีอภิสิทธิชน ซึ่งหลักการดังกล่าวมันพูดง่าย พูดไปเรื่อย แต่ทำจริงนั้นแสนยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องออกมาให้ใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด
       
       และแน่นอนว่าการจะทำให้เกิดความจริงขึ้นมาได้ ก็ต้องกันพวกที่มีส่วนได้เสียออกมา นั่นคือข้าราชการ และนักการเมือง ต้องถอยออกมาอยู่วงนอก เพราะการออกแบบและการปฏิรูปไม่มีทางเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชนตราบใดที่ให้คนพวกนี้ไปร่างกฎเกณฑ์รูปแบบเพื่อจำกัดอำนาจหรือทำให้ตัวเองได้รับผลกระทบทั้งอำนาจและผลประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด คือ ต้องฟังจากภายนอกนั่นคือภาคประชาชน ทั้งที่เป็นเจ้าของอธิปไตยแท้จริงแล้วยังได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดอีกด้วย 
       
       แม้ว่าหากมองในแง่ดี ไม่ต้องคิดอะไรมากกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเชิญชวนให้พรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าร่วมในสภาปฏิรูปฯ พร้อมกับเตือนไว้ล่วงหน้าว่าหากไม่ร่วมแล้วจะมาโวยวายทีหลังไม่ได้นั้น เขาอาจจะเข้าใจผิดบางอย่างก็ได้ เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองมีส่วนได้เสีย ที่สำคัญเวลานี้ไม่เป็นที่ไว้ใจของชาวบ้าน ทางที่ดีต้องอยู่วงนอก หรืออย่างมากแค่ท้วงติงเสนอแนะตามสมควร ซึ่งบรรดาฝ่ายการเมืองเหล่านี้ก็เหมือนนกรู้จึงส่งสัญญาณกลับมาทันควันว่าไม่เข้าไป
       
        สิ่งที่น่าจับตาที่สุดก็คือ หน้าตาของสมาชิกสภาปฏิรูปฯ จำนวน 250 คนจะเป็นแบบไหน เพราะนี่คือความหวังต่ออนาคตประเทศในระยะยาวแบบถาวร เพราะในจำนวนนั้นต้องแยกออกไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาใหม่ หากเริ่มต้นไม่น่าไว้ใจ หรือล็อกสเปกกันแบบสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติที่เพิ่งผ่านไปแล้วละก็ รับรองว่ายุ่งเหมือนกัน!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น