|
|
คสช.ไฟเขียว โละขายยาง 2.1 แสนตัน ยอม ขาดทุนยับเยินกว่า 50% ขายให้ผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ไม่ต้องประมูล วงเงิน 6,040 ล้านบาท แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯขายยางในสต็อก 2.1 แสนตัน กับผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งในต้นสัปดาห์นี้ กระทรวงเกษตรฯจะลงนามกับผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อส่งมอบยางล็อตแรกจำนวน 1 แสนตัน วงเงิน 6,040 ล้านบาท แยกเป็นยางแท่ง 4 หมื่นตัน ราคากก.ละ 58 บาท รวม วงเงิน 2,320 ล้านบาท และ ยางแผ่นรมควัน 6 หมื่นตัน ราคากก.ละ 62 บาท รวมวงเงิน 3,720 ล้านบาท “การขายยางในสต็อกดังกล่าวถือว่ากระทรวงเกษตรฯอดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากยางของเกษตรกรที่ออกสู่ตลาดในขณะนี้มีน้อย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถหาซื้อยางจำนวนมาก โดยการเก็บสต็อกยางไว้จะส่งผลให้กระทรวงเกษตรฯต้องรับภาระค่าบริหารจัดการที่สูงมาก อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อราคายางที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี ดังนั้นการระบายยางในช่วงนี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางได้ระดับหนึ่ง และคาดว่าระดับราคายางจะปรับตัวเข้าสู่ปกติในระยะต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ตามนโยบาย คสช.ที่เร่งแก้ไขปัญหายางพารา
โดยเฉพาะในส่วนที่ค้างอยู่ในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน ซึ่งเป็นยางที่องค์การสวนยาง (อสย.) ได้รับซื้อ กก.ละ 100 บาท ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางที่ได้ต่อระยะโครงการถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 นี้ โดยยางจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นภาระของอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ มุ่งจะใช้ยางดังกล่าวในการก่อสร้างถนน และปูพื้นสนามกีฬา แต่การดำเนินการลักษณะดังกล่าวทำได้ช้า และใช้ยางในสต็อกไม่มากนัก การระบายเพื่อตัดภาระและไม่ให้เป็นตัวถ่วงราคายางที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะระบายออกสู่ตลาดเพื่อเป็นการรีเซ็ตทั้งระบบ” แหล่งข่าวกล่าว ทั้งนี้ การรีเซ็ตในช่วง 5 เดือนหลังของปี 2557 นี้ ต้องยอมรับภาวะการขาดทุน เนื่องจากราคายางในตลาดยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
ในกรณีที่ อสย. ต้องดำเนินการขายยางทั้งหมด ในระยะเวลาที่กำหนด ทางรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบผลการขาดทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งในเบื้องต้น อสย. ได้เจราจากับผู้ค้ายางในประเทศทั้งหมดแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่าผู้ค้าสนใจที่จะรับยางซื้อจำนวนมาก เนื่องจากยางที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้มีน้อยจากปริมาณฝนตกในภาคใต้ อย่างไรก็ตามผู้ค้าส่วนใหญ่เสนอราคารับซื้อที่ราคาตลาด ประมาณกก.ละ 50-51 บาท มีเพียงผู้ค้ารายเดียวที่เสนอราคาสูงสุด เฉลี่ย 60 บาท และยินดีจะซื้อล็อตใหญ่ 1 แสนตัน ซึ่ง อสย. อยู่ระหว่างต่อรองราคารวมทั้งปริมาณการขายหากได้ราคาที่ดีก็มีเป้าหมายจะเทขายทั้งหมด เพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่จำกัด เหลือเพียง 5 เดือนนี้เท่านั้นก่อนสิ้นอายุโครงการ และไม่สมควรจะต่ออายุได้อีกต่อไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพยางในสต็อก แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนราคายางที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ
ทำให้การสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาทำได้ยาก แต่จากโครงสร้างของการค้ายางของไทย จะแบ่งออกเป็น 3ส่วนที่สำคัญคือ กลุ่มพ่อค้าคนกลางยี่ปั๊วซาปั๊ว เทรดเดอร์ และสถาบันเกษตรกร ใน 3 กลุ่มนี้ คนที่รับซื้อยางที่ให้ราคาดีที่สุดคือเทรดเดอร์ แต่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการขนส่ง และการจ่ายเงินที่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของเครดิตหรือเช็ค ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรที่ส่วนใหญ่ชอบให้จ่ายเงินสด “กลุ่มที่เข้าถึงเกษตรกรได้ง่ายที่สุดคือยี่ปั๊วซาปั๊ว ผู้ค้ากลุ่มนี้จะเข้าไปรับซื้อตามสวน และตลาดกลางแต่จะกดราคารับซื้อหลากหลายวิธีการ เช่น ปริมาณน้ำยางเกินความต้องการ คุณภาพยางไม่ดี หักค่าขนส่ง ทำให้เกษตรกรได้รับราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่เทรดเดอร์ยังต้องพึ่งพาผู้ค้ากลุ่มนี้เพื่อรวบรวมปริมาณยาง เพื่อตัดวงจรดังกล่าว สถาบันเกษตรกรมีบทบาทสำคัญมาก เพราะสามารถรับซื้อในราคาตลาดและใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่ การที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เห็นชอบให้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันเกษตรกร เพื่อให้รับซื้อยางจากเกษตรเพิ่มขึ้น จึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องหลังจากที่อสย. สามารถรีเซ็ตสต็อกยางได้ และสถาบันเกษตรกรดำเนินการรับซื้อยางจากเกษตรกรเพื่อแปรรูปขั้นต้นก่อนจำหน่ายให้เทรดเดอร์โดยตรง และจะส่งผลให้ระดับราคายางของไทยประตัวสูงขึ้น”แหล่งข่าวกล่าว
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น