เกม "ลึก" แผน "ลับ" ลบแผล "เสียของ" ตอน หลังพิงฝา |
|
|
|
มติชนรายวัน 19 สิงหาคม 2557
ดูเหมือนทางเลือกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีจะน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมที่ทางเลือกคือ เลือกตั้งใหม่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยวันเลือกตั้งไป รัฐบาลรักษาการก็เริ่มรู้ว่า ทางเลือกเริ่มน้อยลง กปปส.ยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่นายกรัฐมนตรีรักษาการ ขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการ โดยกดดันด้วยการปิดเมืองมาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557
ข้อเสนอของ กปปส.คือ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ
นายสุเทพเห็นว่า เมื่อไม่มีนายกรัฐมนตรีก็จะให้ใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประเด็นปัญหาต่อไปคือ แล้วใครจะทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนั้นมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว เท่ากับไม่มีตำแหน่งประธานรัฐสภา
แม้จะมีวุฒิสภาทำหน้าที่อยู่ แต่ประธานวุฒิสภาไม่ใช่ประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
ปัญหาช่วงดังกล่าวกลายเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ทั้งข้อกฎหมายที่ว่านายกรัฐมนตรีรักษาการยังจะลาออกได้อีกหรือไม่
ทั้งข้อกฎหมายที่ว่าหากนายกรัฐมนตรีรักษาการจะใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญมาทูลเกล้าฯเสนอชื่อนายกฯได้จริงหรือ? แม้จะมีผู้ยกเหตุการณ์ในอดีตว่าเคยทำ แต่ตัวบทกฎหมายที่กำหนดในช่วงนั้น กับตัวบทกฎหมายที่กำหนดในช่วงปี 2557 ต่างกัน
หากใครดึงดันทำในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย แล้วใครจะรับผิดชอบ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงจุดยืนถึงข้อเสนอต่างๆ ที่ประดังเข้ามา น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ประกาศยอมตายคาสนามประชาธิปไตย
ยืนยันว่า ไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
การออกมายืนยันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ย่อมผ่านการกลั่นกรองจากทีมกฎหมายและทีมยุทธศาสตร์มาแล้ว
ทั้งนี้มีการประเมินว่า สถานการณ์ช่วงนั้นเป็นการรุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปทีละคืบ
สืบเนื่องจากการกดดันเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม บังคับให้คว่ำและถอนร่าง
ต่อมายกระดับรุกคืบให้ยุบสภา ทำให้อำนาจบังคับบัญชาข้าราชการหายไป
อำนาจการโยกย้าย อำนาจการบริหารประเทศ และอื่นๆ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เสียก่อน ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการวางกับดัก
เพราะในสถานการณ์เช่นนั้น หากมีผู้ไปร้องว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือ ครม.กระทำผิด แล้วโยงโทษที่กระทำผิดไปถึงพรรคเพื่อไทย อาจส่งผลถึงขั้นยุบพรรค
ดังนั้น หนทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือ ต้องอยู่บนตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ มีสภาผู้แทนราษฎรใหม่ และมีรัฐบาลใหม่ เท่ากับว่ารัฐบาลรักษาการกำลังตกอยู่ในมุมอับ หลังพิงฝา
การต่อสู้ในสภาวการณ์ที่ไร้ทางออกและหลังพิงฝาจึงแลดูอึดอัด
เพียงแต่ไม่ใช่มีแค่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการเท่านั้นที่อึดอัด ฝ่าย กปปส.เองก็รู้สึกอึดอัดไม่แพ้กัน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกกดดันเพราะสถานการณ์การรุกไปข้างหน้าไม่คืบ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 หลังชัตดาวน์กรุงไประยะหนึ่ง นายสุเทพต้องประกาศเลิกปิดเมือง แล้วย้ายพลพรรคไปชุมนุมในสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557
เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงยังมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2557 นายสุเทพประกาศบนเวทีว่า พร้อมจะยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายสุเทพประกาศพร้อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯเอง
ผลจากการประกาศทำให้เกิดกระแสต่อต้าน จนนายสุเทพเองก็เริ่มแผ่ว แต่ไม่ยอมเลิก
นายสุเทพประกาศย้ำบนเวทีหลายครั้งว่า เลิกไม่ได้ แพ้ไม่ได้
กปปส. กับรัฐบาลรักษาการในช่วงนั้นอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ หลังพิงฝา แพ้ไม่ได้
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น