|
|
แนะการป้องกันตึกถล่ม
คําแนะนำและชี้ปัญหาจากสถาปนิกและวิศวกรในเหตุการณ์คอนโดมิเนียมยูเพลสถล่มลงมาระหว่างก่อสร้าง ในพื้นที่คลองหก จ.ปทุมธานี มีผู้เสียชีวิต 14 ราย จากผู้อยู่ในเหตุการณ์เกือบ 40 รายนั้นเป็นเรื่องที่น่านำไปขบคิดเพื่อหาทางแก้ปัญหา
โดยเฉพาะในเรื่องผู้คุมงานหรือผู้รับเหมาก่อสร้างที่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น
ประเด็นนี้อยู่นอกเหนือการพิจารณาสอบสวนหาสาเหตุของตึกถล่มทั่วไปที่มักดูว่า การออกแบบโครงสร้างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ คุณภาพของวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างไร หรือขั้นตอนของการก่อสร้างถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรมหรือไม่
เพราะปัญหาผู้คุมงานนั้นอาจมีผลต่อโครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
ผู้ที่อยู่ในวงการก่อสร้างมักรู้ว่า อำนาจในการคุมงานนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่เจ้าของโครงการ ไม่ใช่ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
ส่วนเจ้าของโครงการเองถูกบีบจากปัจจัยทางธุรกิจให้ควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง
ยิ่งเมื่อถูกขั้นตอนทางราชการที่กินเวลานาน บวกกับกฎเกณฑ์หน่วยงานที่ซ้ำซ้อน ยิ่งบีบให้ช่วงเวลาการก่อสร้างหดสั้นลง เพื่อจำกัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย ค่าแรงงาน ฯลฯ ยิ่งส่งผล กระทบต่อคุณภาพงาน
เมื่อรวมกับปัจจัยเรื่องค่าควบคุมงานที่คิดเป็นร้อยละ 1.75 ของค่าก่อสร้าง เมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ แล้ว เป็นสัดส่วนค่าตอบแทนต่ำสุดอันดับที่ 2 ของโลก การหาผู้คุมงานที่มีคุณภาพและรับผิดชอบอย่างเต็มที่จึงเป็นไปได้ยาก
จากการเรียนรู้แก้ไขจากความผิดพลาดของเหตุการณ์คอนโดฯ ยูเพลส จึงไม่ควรจบ ลงสั้นๆ เฉพาะคดีนี้
หากควรระดมความคิดของผู้ประกอบอาชีพในวงการก่อสร้างมาพูดคุยอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องกฎหมาย ค่าจ้าง การคุ้มครองแรงงาน ทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าว เพราะเชื่อได้ว่า ธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของประเทศจะยังเติบโตไปได้ ไม่เฉพาะอาคารชุดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งอื่นๆ
จึงควรเร่งหาทางแก้ไขไว้ให้ทัน ป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น