(ที่มา : มติชนรายวัน 1 ตุลาคม 2555)
หมายเหตุ - คณะนิติราษฎร์จัดการจัดงานนิติราษฎร์เสวนาเรื่อง "2 ปี นิติราษฎร์ 6 ปี รัฐประหาร" มีเสวนาหัวข้อ "นักกฎหมายไทยกับรัฐประหาร" โดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เสวนาหัวข้อ "รัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ" โดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การทำการรัฐประหารจะใช้กำลังของทหารแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทหารมีแต่กำลังอาวุธ จึงต้องอาศัยพลเรือนสนับสนุนในเรื่องความรู้และเทคนิคทางวิชาการ จากบรรดาเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ และเทคโนแครตในสาขาต่างๆ
ในประวัติศาสตร์ การใช้อำนาจเถื่อนเฟื่องฟูหลังจากการรัฐประหาร 8 มิถุนายน พ.ศ.2490 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้าสู่อำนาจเป็นครั้งที่ 2 โดยเฉพาะตำรวจอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ การฆาตกรรมทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น จนกระทั่งนำไปสู่จุดสุดยอดในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลักนิติรัฐจบลงโดยสิ้นเชิง ช่วงนี้เรารู้จักมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 มีผลทำให้เกิดการรวบอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่ายไว้ในมือของนายกฯแต่เพียงผู้เดียว นายกฯมีอำนาจในการสั่งประหารชีวิต จับกุมคุมขังใครก็ได้ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าทำให้คนคนเดียวปกครองแผ่นดินโดยชอบด้วยกฎหมาย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากนักกฎหมายที่มีบทบาทในการทำลายหลักนิติรัฐ ทำหลายหลัก "rule of law" และสถาปนา "rule of กู"
หากวิเคราะห์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เราจะสังเกตเห็นว่าภาระหน้าที่หลักของนักกฎหมายมหาชนหลัง 14 ตุลาฯ มี 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.งานช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ 2.งานเชื่อมต่อระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างอธิบายว่าสถาบันเป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยระหว่างที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจ
และ 3.ประสานหลักนิติธรรมเข้ากับพระราชอำนาจ หรือที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ ทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้การรัฐประหารกลายเป็นธรรมชาติธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยไทยหลัง 14 ตุลาคม
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนการรัฐประหาร 2490 แม้สังคมไทยจะถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมบ้าง แต่ก็ยังมีหลักนิติรัฐหรือระบบกฎหมายคอยเหนี่ยวรั้งอยู่ ไม่ให้การใช้อำนาจเป็นไปอย่างเกินเลยมากนัก แต่หลังจากการรัฐประหารส่งผลให้หลักนิติรัฐเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี พ.ศ.2492 ที่ร่างขึ้นหลังรัฐประหารในครั้งนั้นเป็นต้นแบบให้กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบัน
และขณะนี้เรากำลังจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ข้อโต้แย้งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ห้ามแตะต้องหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คำถามสำคัญคือ การห้ามแบบนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี รัฐธรรมนูญระบุว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อ 1.เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 2.เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หมายความว่าแก้ได้หากยังมีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยว ปกครองด้วยระบอบประชา ธิปไตย และต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ความคิดที่ว่าห้ามแตะต้องนั้นถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงสุดของการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ถือเป็นมรดกที่สืบทอดมาจนทำให้ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของสถาบันว่าสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร
แต่ในปัจจุบัน หากเราต้องการให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยง อย่างน้อยต้องมีการปฏิรูป ทั้งสถาบันตุลาการ และกองทัพ ทั้งหมดนี้ต้องทำพร้อมกัน ทั้งนี้ ต้องเกิดการอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ว่าจะปรับเปลี่ยนไปแบบไหน อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของเรา โดยใช้ระบบปกติซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี
ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอแบ่งนักกฎหมายมหาชนไทยออกเป็น 2 กลุ่ม ตามช่วงเวลา ได้แก่ 1.นักกฎหมายฝ่ายคณะราษฎร หลังการปฏิวัติ 2475-2500 ได้ช่วยกันผลิตตำราและเผยแพร่แนวคิด "รัฐธรรมนูญนิยม" ให้ทุกสถาบันทางการเมืองต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถานะและบทบาทสถาบันกษัตริย์เป็นไปตามหลัก "the king can do no wrong"
และ 2.นักกฎหมายมหาชนในระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่านักกฎหมายมหาชนหลัง 14 ตุลาฯ คนกลุ่มนี้ไม่เคยให้ความสำคัญการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เนื่องจากมองว่าไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นเพียงการยึดอำนาจ เป็นเพราะนักกฎหมายเหล่านี้เกิดและเติบโตภายใต้ยุคสมัยที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ได้รับการฟื้นฟูหลังจากรัฐประหารโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมายไทยไม่มีการพูดถึงการปฏิวัติ 2475 ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นเป็นการทำให้อำนาจเป็นของราษฎร อีกทั้งยังทำให้หลักนิติรัฐเป็นใหญ่ นักกฎหมายจึงเป็นใหญ่ตามไปด้วย เป็นผู้ผูกขาดการกำหนดว่าอะไรคือความยุติธรรม
ในเมื่อนักกฎหมายไทยยังมีความคิดอยู่ในระบบเก่า จึงมีความปรารถนาที่จะทำให้สังคมกลับไปเหมือนเดิมให้มากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน หรือเสนออะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งได้ จึงอาศัยการบิดเบือน ตัดต่อพันธุกรรมให้ผิดเพี้ยน โดยอาศัยการอ้างธรรมเนียมประเพณีมาบิดเบือนระบอบใหม่ให้เข้ากับระบอบเก่า จนกลายเป็นระบอบการปกครองที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แม้จะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้าย โดยเฉพาะในมาตรา 65 หมวด 3 ที่ระบุสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหารไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" แต่แล้วก็ถูกฉีกไปด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549
เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหารไว้ใน มาตรา 69 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความเหมือนกับที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ทุกประการ แต่หากพิจารณาต่อไปให้ดีจะเห็นว่าภายในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 กลับสอดแทรกมาตรา 309 มีใจความระบุให้ผู้ที่กระทำรัฐประหารพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง
หากเราเทียบเคียง 2 มาตรานี้จะได้เห็นว่าภายในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่กลับมีความลักลั่น กล่าวคือ บอกว่าประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญหากมีผู้ใดมาล้มล้าง แต่ในขณะเดียวกันก็บอกว่าถ้าเกิดการรัฐประหารก็ชอบด้วยกฎหมาย
ทำให้เห็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยาฯ สังคมไทยถูกหลอก แต่วันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเรายืนยันว่าจะต้านรัฐประหาร เราไม่ต้องไปหวังพึ่งใครหรือสถาบันทางการเมืองใดอีกแล้ว เพราะอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน ผมคิดว่าถ้ามีใครคิดจะทำรัฐประหารอีก ตอนนี้เหลือแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของเราตลอดมา
คลิปเสวนาหัวข้อ "รัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ"
VIDEO
Published on
Sep 30, 2012 by
cofspeed
นิติราษฎร์ จัดเสวนา "๒ ปี นิติราษฎร์ ๖ ปี รัฐประหาร" หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีกำหนดการดังนี้ ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ "นักกฎหมายไทยกับรัฐประหาร" ปาฐกถานำ โดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ๑๓.๓๐ - ๑๔.๐๐ กิจกรรมรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ "๖ ปี แท็กซี่ชนรถถัง"๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ "รัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ"วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ปิยบุตร แสงกนกกุล ดำเนินรายการโดย ธีระ สุธีวรางกูร๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ บทบาทของ คอป. กับการ "ปรองดอง"? ถ่ายทอดสดโดยทีมงานม้าเร็ว
http://speedhorsetv.blogspot.com