วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เชื่อรัฐ‘อุ้มฆ่า’ ตำรวจคุกคาม ‘นกเขา-ยะใส’ เมื่อ 23 มิ.ย.56

เชื่อรัฐ‘อุ้มฆ่า’ ตำรวจคุกคาม ‘นกเขา-ยะใส’


เปิดเวทีชำแหละคดี "อุ้มฆ่าเอกยุทธ" เกี่ยวพันอำนาจรัฐ ที่ยึดกระบวนการยุติธรรมไว้หมดแล้ว  ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ราชทัณฑ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ "สุวัตร" แฉพิรุธค่าล้างรถ 4,900 บาท ทำลายหลักฐานเหี้ยน เตือนรัฐอย่าลุแก่อำนาจ ผงะ! ตำรวจนอกเครื่องแบบแอบถ่ายรูปรถ "ทนายนกเขา-ยะใส" ส่งทางอีเมล์ 
    เมื่อวันเสาร์ กลุ่มกรีนร่วมกับสถาบันพัฒนาการเมือง ชมรม ส.ส.ร.50 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาเรื่อง รัฐตำรวจในระบอบเผด็จการทุนนิยมสามานย์ ที่อาคาร อ.ป.ร. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ  เดชกุญชร ผู้ร่วมก่อตั้งไทยสปริง, นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ร่วมเสวนา
    พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวตอนหนึ่งว่า การปกครองในประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการรัฐสภาในระบอบทุนนิยมสามานย์ และยังมีการแทรกแซงข้าราชการพลเรือนและตำรวจ โดยมีการแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่ง ซึ่งเห็นได้จากกรณีตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ หรือย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จึงเป็นความเสียหายที่รัฐบาลเผด็จการทุนนิยมสามานย์ก่อเอาไว้
    หลังจากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ อุ้มฆ่ากับการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ โดยนายสุวัตรกล่าวว่า เวลาผู้ใดมีอำนาจรัฐ ก็จะใช้วิธีการอุ้มฆ่า รัฐบาลใดพอมีอำนาจขึ้นมา หากรัฐบาลมีธรรมาภิบาล การอุ้มฆ่าก็จะไม่เกิดขึ้น  จนบัดนี้คดีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด ก็ยังไม่เคยมีคำอธิบายออกมา รวมถึงกรณีการยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีบุคคลเห็นเหตุการณ์มากมาย แต่มีการตัดไฟกล้องวงจรปิดเพื่อให้ใช้ไม่ได้ ซึ่งชัดเจนว่าการยิงนายสนธิคือกลุ่มทหารและตำรวจ 
    เขาบอกว่า สืบลึกลงไปพบว่าคำสั่งฆ่ามาจากต่างประเทศ ทันทีที่รัฐบาลนี้ขึ้นมา ก็ยึดอำนาจรัฐไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ โดยมีการเพิ่มอำนาจให้อัยการด้วยใน พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง  ถ้าเป็นกลุ่ม พธม.จะโดนฟ้องเลย แต่ถ้าเป็นคนเสื้อแดงจะชะลอเอาไว้ ซึ่งเมื่อตนเห็น พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ ก็คัดค้านเต็มที่ ถ้าเพิ่มให้อำนาจอัยการอีกบ้านเมืองก็จะอยู่ไม่ได้ และขณะนี้รัฐบาลยังได้ยึดศาลอาญา กรมราชทัณฑ์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไว้หมดแล้ว
    "ทุกวันนี้ถ้าใครอยู่ตรงข้ามอำนาจรัฐจะทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป บ้านเมืองจะมีแต่พัง รัฐบาลใช้อำนาจแบบลุแก่อำนาจ และไม่สนใจใคร เมื่อรัฐบาลยึดอำนาจไว้หมดแล้ว การอุ้มฆ่านั้นมีอยู่จริง ถ้าปล่อยให้มีแบบนี้ไปเรื่อยๆ ชีวิตประชาชนก็จะไม่ปลอดภัย อย่างนี้เป็นอันตรายต่อประเทศ" 
    นายสุวัตรเผยว่า เชื่อว่ากรณีการเสียชีวิตของนายเอกยุทธมีเจตนาต้องการชีวิตจริง เพราะวันที่นายเอกยุทธมาหาตน ได้ถามนายเอกยุทธว่าทำไมต้องมาให้เป็นทนายให้ นายเอกยุทธบอกว่ามาหาเพราะว่าเป็นทนายที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ นายเอกยุทธก็เริ่มเล่าให้ตนฟังว่าเขามีความขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเริ่มต่อต้านมาตั้งแต่ปี 47     
    "คุณเอกยุทธยังได้กล่าวกับผมเหมือนกับเป็นการกล่าวสั่งเสีย ว่าถ้าผมตายคงไม่มีเรื่องไหนหรอก นอกจากเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องนี้ผมไม่มีหลักฐานหรอกว่าตำรวจอุ้ม แต่สิ่งที่ลูกความฝากไว้ก่อนตายผมจึงตั้งข้อสงสัย อย่างเช่นกรณีการล้างรถ คนที่ทำได้ต้องเป็นคนที่รู้กระบวนการสอบสวน เพราะมีการทำลายหลักฐานในรถทั้งหมด แต่ตำรวจไม่ใส่ใจและมีความพยายามที่จะทำคดีให้ล่าช้า จึงเป็นเหตุให้ผมยื่นข้อสงสัยไป 13 ข้อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    นายสุวัตรเผยว่า ค่าล้างรถยนต์ของผู้ต้องหาที่มีราคาสูง 4,900 บาท ถือเป็นความผิดปกติ และเชื่อว่าตั้งใจทำลายหลักฐานภายในรถทั้งหมด ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้น่าจะเป็นมืออาชีพหรือบุคคลที่รู้แนวทางการสืบสวนเป็นอย่างดี เชื่อว่าการอุ้มฆ่าในปัจจุบันมีอยู่จริง จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลอย่าลุแก่อำนาจ
    ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวว่า เรื่องนายเอกยุทธตอนนี้ยังไม่มีอะไรสามารถยืนยันได้ว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลหรือไม่ แต่มันมีพิรุธหลายอย่าง ที่ตนยังติดใจคือการพิสูจน์หลักฐาน มีการทำอย่างคลุมเครือ ซึ่งตนไม่ได้โทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่โทษนักการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นก่อน การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการลังเล และรถของนายเอกยุทธ ไม่มีการพิสูจน์หลักฐานใดๆ ในรถ การตรวจหลักฐานทำไม่ละเอียดรอบคอบ
    ส่วนนางอังคณาชี้ว่า สาเหตุที่มีการอุ้มฆ่าอาชญากรรมโดยรัฐมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ ที่มาจากนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือการปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมาเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถจับใครมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้ ที่ผ่านมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การเยียวยาเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ทางญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตเห็นว่ามันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เกิดขิ้น
    เธอยังมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังทำงานอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ แล้วแบบนี้ประชาชนจะไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร กระทั่งคดีของนายสมชายเอง  แม้ว่าทางศาลจะเบิกตัวพยานมาให้ปากคำ ซึ่งจำเลยเป็นตำรวจที่อุ้มนายสมชายไป แต่พยานกลับไม่กล้ามองหน้าจำเลย เพราะว่ากลัวจะโดนทำร้าย สิทธิในชีวิตต้องไม่ถูกฆ่าที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างมีการเสวนา นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้แจ้งกับผู้ที่อยู่ในห้องเสวนาว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปทะเบียนรถของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และของตน แล้วส่งอีเมล์ แต่พอเดินเข้าไปสอบถาม บุคคลดังกล่าวได้ทำการลบรูปพร้อมกับขับรถออกไปทันที.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น